แพทย์แนะให้วัคซีนไอพีดีในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ลดเชื้อรุนแรงและช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยได้

18 Jul 2008

กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาโลหิตวิทยา ชี้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติ รวมทั้งการลดจำนวนทารกเกิดใหม่ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียให้มากที่สุด เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก โดยเฉพาะในบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก ควรให้วัคซีนไอพีเพื่อลดเชื้อรุนแรงและอาจ ช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยได้เป็น 50 – 60 ปี

กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงรายใหม่ลงร้อยละ 50 โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคเป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาไปตลอดชีวิต และต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดอย่างสม่ำเสมอแล้ว ซ้ำร้ายไปกว่านั้นผู้ป่วยยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนปกติ จากการประชุมวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติครั้งที่ 14 เมื่อเร็วๆนี้ระบุว่าจากการศึกษาล่าสุดในปี 2547 ระบุว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคในระดับต่างๆ สูงถึง 630,000 ราย และมีประชากรไทยถึง 20 ล้านคนทีมีกรรมพันธุ์ของโรคธาลัสซีเมีย (หรือคิดเป็นร้อยละ 30-40 ของประชากรไทย) โดยผู้ป่วยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง1 ราย จะมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตลอดอายุขัยถึง 1,260,000 – 6,600,000 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 10,550 บาทต่อราย ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญต่อการป้องกัน โดยกำหนดเป็นแผนระดับชาติให้โรงพยาบาลทุกแห่งเปิดให้บริการการปรึกษา และตรวจเลือดเพื่อหาความผิดปกติของเม็ดเลือดให้กับคู่สมรสก่อนตั้งครรภ์ โดยตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงรายใหม่ลงร้อยละ 50 หรือไม่น้อยกว่า 6,371 ราย หรือคิดเป็นอัตราค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ลดลงไม่น้อยกว่า 32,000 ล้านบาท

รศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาโลหิตวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียส่วนใหญ่จะมีอาการซีดเหลือง รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนแปลง สำหรับในเด็กพบว่าโรคธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรงจะส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้า กระดูกแขนขาหักง่าย ตับม้ามโต ถ้ามีอาการซีดมากอาจมีโอกาสหัวใจล้มเหลวได้ และเนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการให้เลือดเป็นประจำจึงอาจพบภาวะธาตุเหล็กเกินในร่างกาย และต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติได้ ในบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก เช่นมีอาการม้ามโตมาก และซีดลงเร็ว ม้ามจะทำงานได้ไม่เต็มที่ แพทย์จะพิจารณาให้ตัดม้าม ซึ่งจะส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงขึ้น ดังนั้นการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติ รวมทั้งการลดจำนวนทารกเกิดใหม่ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียให้มากที่สุด จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็นมาก

“การเกิดภาวะโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรคต่างๆ อันเนื่องมาจากการทำงานของม้ามผิดปกติ นับเป็นปัญหาสำคัญของผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เพราะโดยปกติม้ามจะทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคที่ติดมากับเม็ดเลือดขาว แต่เมื่อผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียเกิดความผิดปกติจากภาวะโลหิตจาง มีการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นในม้ามจึงทำให้หน้าที่ในการกำจัดเชื้อโรคด้อยลง มีภูมิต้านทานของร่างกายต่ำ ผู้ป่วยธาลัสซีเมียจึงเกิดโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ “ รศ.ดร.นพ.วิปร กล่าวและเสริมว่า

จากสถิติพบว่าเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นหนึ่งในเชื้อโรคแทรกซ้อนที่คร่าชีวิตผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียมากที่สุด โดยเชื้อนี้จะอาศัยอยู่โดยทั่วไปในโพรงจมูกของคนเราและเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคปอดบวมชนิดรุนแรง รวมทั้งการติดเชื้อในสมองหรือกระแสเลือด (โรคไอพีดี) ที่ทำให้เด็กเล็กเสียชีวิตในลำดับต้นๆ ดังนั้นในปัจจุบันแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส โดยล่าสุดมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในรายที่มีความรุนแรงของโรคสูงจนต้องตัดม้าม แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ในการพิจารณาและการตัดสินใจของผู้ป่วยและญาติ นอกจากนี้ยังต้องใช้วิธีการรักษาผู้ป่วยอื่นๆ เช่นการให้เลือดอย่างสม่ำเสมอ การให้ยาขับเหล็ก การดูแลสุขภาพและอาหารที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่เหมือนคนปกติมากที่สุด

“ในอดีตผู้ป่วยจะมีอายุขัยประมาณ 35 ปี แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ประกอบกับการดูแลและรักษาผู้ป่วยที่ดีขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยมีตัวเลขเฉลี่ยอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น 50 – 60 ปีได้ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือในการมาพบแพทย์ตามแผนการรักษา การงดกินอาหารสุกๆ ดิบๆ งดเว้นอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง เลือดหมู เลือดไก่ เป็นต้น รวมทั้งการหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน แออัด เพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น แต่วิธีการป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่ดีที่สุด คือ คู่แต่งงานจะต้องตรวจหาความเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียก่อนที่จะวางแผนมีบุตร เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วย ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด” รศ.ดร.นพ.วิปร กล่าวทิ้งท้าย

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

บุษบา, พิธิมา

โทร. 0-2718-3800 ต่อ 133 / 138

Pitima R.

PR Senior Supervisor

Cell: 081-777-4452

Communication and More Ltd.

2 Soi Ramkamhaeng 24/3 Ramkamhaeng Rd.,

Huamark, Bangkapi Bangkok 10240

Tel. 662-718-3800 ext. 138 Fax. 662-720-3323