ยกระดับร้านยาชุมชนสร้างเครือข่ายดูแลสุขภาพชาว กทม.

02 Jun 2008

กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--กทม.

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สมาคมเภสัชกรชุมชน (ประเทศไทย) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดการประชุมเตรียมความพร้อม “โครงการร้านยาเภสัชกรชุมชนในเครือข่ายสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร” พร้อมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาเครือข่ายการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพของคนกรุงเทพฯ แบบเชิงรุก มุ่งพัฒนาร้านยาในชุมชนให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีเภสัชกรให้บริการ และมีการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อและโรคเรื้อรังเข้าสู่ระบบการรักษาที่ถูกต้อง

ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเตรียมความพร้อม “โครงการร้านยาเภสัชกรชุมชนในเครือข่ายสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร” พร้อมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาเครือข่ายการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพของคนกรุงเทพฯ แบบเชิงรุก กับ ภก.ธีรวุฒิ พงศ์เศรษฐไพศาล นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) โดยมี ภก.วิศิษฏ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ประธานโครงการพัฒนาร้านยา อย. และอุปนายกสภาเภสัชกรรม และ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษ รองเลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมในพิธีลงนาม ณ ห้องจตุรทิศ ชั้น 3 โรงแรมเรดิสัน ถนนพระราม 9 กทม. กรุงเทพมหานคร มีนโยบายในการมุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพทั้งเชิงรุกและเชิงรับควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง ให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จึงจัดการประชุมเตรียมความพร้อม “โครงการร้านยาเภสัชกรชุมชนในเครือข่ายสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร” เพื่อยกระดับร้านยาในชุมชนให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพ มีเภสัชกรคอยให้บริการประชาชน ช่วยคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อและโรคเรื้อรัง เช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก โรคเบาหวาน และความดันโลหิต เป็นต้น เข้าสู่ระบบและได้รับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีร้านยาในชุมชนที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ จำนวน 200 แห่ง เข้าร่วมโครงการร้านยาเภสัชกรชุมชนฯ โดยร้านยาดังกล่าวมีแบบคัดกรองที่ได้มาตรฐาน สามารถส่งข้อมูลของผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ นอกจากร้านยาในชุมชนที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายร้านยาเภสัชกรชุมชนฯ แล้ว กรุงเทพมหานครมีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 76 สาขา โรงพยาบาล 9 แห่ง ในสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน 105 แห่ง และอาสาสมัครสาธารณสุขของชุมชน กระจายอยู่ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเครือข่ายในการดูแลสุขภาพของชาวกรุงเทพมหานคร อีกด้วย

ทั้งนี้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาเครือข่ายการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพของคนกรุงเทพฯ แบบเชิงรุก เพื่อให้การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของประชาชนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถลดปัญหาด้านสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างยั่งยืน ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี