ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. เนชั่นแนลเพาเวอร์ซัพพลาย” ที่ “BBB+/Stable”

30 Jun 2008

กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--ทริสเรทติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงการมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) รวมทั้งอัตราส่วนกำไรที่อยู่ในระดับสูงจากผลของการผสมผสานการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล และคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์จากกลุ่ม Double A Alliance (กลุ่ม AA) ในการให้อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงความเสี่ยงจากการดำเนินงานโรงไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และฐานะทางการเงินที่อ่อนแอลงจากการเพิ่มหนี้จำนวนมากเพื่อซื้อหุ้นของบริษัทลูกแห่งใหม่ในราคาที่สูงและการจ่ายเงินปันผลในอัตรากว่า 100% ของผลกำไร โดยแผนขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าใหม่หลายแห่งจะทำให้บริษัทมีความต้องการทรัพยากรและเงินทุนเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงมีรายได้ที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยปราศจากปัญหาในด้านการจัดหาเชื้อเพลิง แผนการลงทุนที่มีมูลค่าสูงมากจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันฐานะทางการเงินของบริษัทในระยะใกล้และปานกลาง โดยบริษัทอาจต้องพิจารณาการเพิ่มทุนเพื่อรักษาระดับภาระหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

ทริสเรทติ้งรายงานว่าบริษัทเนชั่นแนลเพาเวอร์ซัพพลาย ก่อตั้งภายใต้โครงการ SPP ที่ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเชื้อเพลิงผสมจำนวน 2 เครื่องซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 327 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าของบริษัทตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 304 ของกลุ่ม AA เชื้อเพลิงที่บริษัทใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ได้แก่ ถ่านหิน และชีวมวลชนิดต่างๆ เช่น แกลบ และเปลือกไม้ บริษัทจัดอยู่ในเครือของกลุ่ม AA เนื่องจากการมีสัมพันธภาพทางธุรกิจที่เหนียวแน่น โดยที่ผู้บริหารสำคัญของบริษัทซึ่งมีประสบการณ์ในการบริหารโรงไฟฟ้าชีวมวลมาตั้งแต่ปี 2530 ได้รับการแต่งตั้งจากกลุ่ม AA นอกจากนี้ บริษัทอื่นๆ ในกลุ่ม AA ยังมีส่วนร่วมในธุรกิจของบริษัทโดยเป็นผู้ให้บริการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า เป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงชีวมวล และเป็นลูกค้ารายสำคัญด้วย

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า รายได้จากการขายไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทเนชั่นแนลเพาเวอร์ซัพพลาย รับประกันโดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement -- PPA) จำนวน 180 เมกะวัตต์ อายุ 25 ปีที่ทำไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) และสัญญาขายไฟฟ้าจำนวน 50-120 เมกะวัตต์ อายุ 15 ปี ที่ทำไว้กับ บริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (304IP) บริษัทจัดส่งไอน้ำที่ผลิตได้ทั้งหมดให้แก่ บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) หรือ AA ภายใต้สัญญาจัดหาไอน้ำอายุ 25 ปี ทั้งนี้ ในปี 2550 บริษัทมีรายได้จาก กฟผ. คิดเป็น 37% จาก 304IP คิดเป็น 50% และจากบริษัทแอ๊ดวานซ์ อะโกร คิดเป็น 13% สำหรับถ่านหินซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตไฟฟ้านั้นมีราคาต้นทุนคิดเป็น 50%-60% ของต้นทุนเชื้อเพลิงทั้งหมด บริษัทได้ทำสัญญาอายุ 15 ปีกับ Marubeni Corporation ให้เป็นผู้จัดหาถ่านหิน ในขณะที่บริษัทในกลุ่ม AA เป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงชีวมวลให้ภายใต้สัญญาระยะยาว การใช้เชื้อเพลิงผสมส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานได้ในระดับสูงเมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าทั่วไปเนื่องจากเชื้อเพลิงชีวมวลมีต้นทุนค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม แม้ความสามารถในการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วมกับเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเอื้อประโยชน์ด้านความยืดหยุ่นในการเลือกใช้เชื้อเพลิง แต่โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทดังกล่าวก็มีความเสี่ยงจากการดำเนินงานมากกว่า ส่งผลให้บริษัทมีอัตราการหยุดการผลิตที่ค่อนข้างสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทยังประสบกับปัจจัยเสี่ยงด้านราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเนื่องจากถ่านหินมีราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2550 จนเกินระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วงต้นปี 2551 อีกทั้งราคาของเชื้อเพลิงชีวมวลก็ค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับสูงเนื่องจากมีอุปทานที่ค่อนข้างจำกัด ประกอบกับมีความต้องการใช้จากอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย

ในปี 2550 บริษัทมีรายได้จากการขายลดลง 6.8% จากปีก่อนซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดเดินเครื่องเป็นเวลานานจากการหยุดฉุกเฉินและหยุดเพื่อซ่อมบำรุง ผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานมีมูลค่า 936 ล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 1,694 ล้านบาทในปีก่อนเนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายลดลงจากระดับกว่า 40% ในอดีตเหลือ 38.1% ในปี 2550 บริษัทได้กู้เงินจาก บริษัท ไฟฟ้าชีวมวล จำกัด จำนวน 4,977 ล้านบาทเพื่อใช้ในการซื้อหุ้นของ บริษัท ไทยเพาเวอร์เจนเนอเรติ้ง จำกัด จำนวน 2,100 ล้านบาท และใช้ในการจ่ายเงินปันผลมูลค่า 2,500 ล้านบาทให้แก่บริษัทแม่ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 46.6% ในปี 2549 เป็น 66.1% ในปี 2550 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงจาก 45.2% เป็น 17.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน ภาระหนี้สินของบริษัทคาดว่าน่าจะอยู่ในระดับสูงในระยะ 5 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีแผนการลงทุนในโรงไฟฟ้าใหม่หลายแห่งคิดเป็นมูลค่า 53,100 ล้านบาท และมีภาระผูกพันในการซื้อคืนหุ้นบุริมสิทธิ์ของบริษัทไฟฟ้าชีวมวลในมูลค่า 7,316 ล้านบาท แผนการลงทุนในโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer -- IPP) จำนวน 1 โรง โรงไฟฟ้า SPP ซึ่งใช้เชื้อเพลิงชีวมวล 4 โรง โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเอกชนเชิงพาณิชย์ซึ่งใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน 1 โรง และการซื้อโรงไฟฟ้าของกลุ่ม AA จำนวน 3 โรง เมื่อแผนการลงทุนทั้งหมดแล้วเสร็จ บริษัทจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1,185 เมกะวัตต์ ซึ่งเพิ่มมากกว่า 3 เท่าตัวของกำลังการผลิตในปัจจุบัน กำหนดการเปิดดำเนินการของโรงไฟฟ้า SPP ทั้งหมดจะเริ่มตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป ส่วนโรงไฟฟ้า IPP จะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2556 ทั้งนี้ ธุรกิจของบริษัทมีศักยภาพที่จะเติบโตหลังการเปิดดำเนินการของโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บริษัทจะสามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าทุกโครงการพร้อมกันตามกำหนดการได้หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป ทริสเรทติ้งกล่าว

บริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด จำกัด (NPS)

อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ระดับ BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable