แสตมป์แรกแห่งสยาม

10 Jun 2008

กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--ไปรษณีย์ไทย

“แสตมป์ชุดโสฬศ” เป็นแสตมป์ชุดแรกแห่งสยาม โดย “โสฬศ” แปลว่า “สิบหก” มีความหมายสอดคล้องกับค่าเงินในสมัยโบราณที่ 16 โสฬศ เท่ากับ 1 เฟื้อง โดยแสตมป์มี 6 ราคา คือ 1 โสฬศ 1 อัฐ 1 เสี้ยว ซีกหนึ่ง สลึงหนึ่ง และเฟื้องหนึ่ง แสตมป์ชุดนี้อัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผิน พระพักตร์เบื้องซ้ายภายใน วงกรอบรูปไข่เป็นภาพต้นแบบ ตัวหนังสือและตัวเลขใช้อักษรและเลขไทยล้วน ด้านหลังไม่มีกาวและไม่มีลายน้ำ ออกแบบโดย นายวิลเลียม ริดจ์เวย์ ชาวอังกฤษ กรมไปรษณีย์โทรเลขสยาม นำออกใช้วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2426 และประกาศยกเลิกการใช้เมื่อปี พ.ศ.2443

“แสตมป์ชุดโสฬศ” เป็นหนึ่งในเรื่องราวอดีตกิจการไปรษณีย์ไทยที่จะนำมาจัดแสดงนิทรรศการในงาน “สยามสมัย ๑๒๕ ปี ไปรษณีย์ไทย” บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จึงขอเชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมเติมเต็มหน้าประวัติศาสตร์ ในกิจกรรม “ตามหาภาพเก่า...เล่าเรื่องไปรษณีย์” โดยส่งภาพที่เกี่ยวกับไปรษณีย์ไทยในอดีตมาที่ตู้ ปณ.125 สำนักงาน ปณท โดยไม่ต้องติดแสตมป์ ภาพที่ได้รับคัดเลือกจะได้จัดแสดงในงาน “สยามสมัย ๑๒๕ ปี ไปรษณีย์ไทย” วันที่ 1-10 สิงหาคม 2551 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์ไทยในโอกาสต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

ส่วนสื่อสารการตลาด ฝ่ายสื่อสารการตลาด โทรศัพท์ 0 2 831 3515 – 16

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net