เมื่อ ‘อจีรัง’ แปรเปลี่ยนเป็น ‘โอกาส’

09 Dec 2008

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่ามนุษย์เรามักยึดติดกับตัวตน “ปกติ” ของสรรพสิ่งต่างๆบนโลก และมนุษย์เองก็ต้องทนทุกข์ทรมานจากความรู้สึกยึดติดเหล่านั้นเมื่อเกิดสิ่งใดที่ “ผิดปกติ” เหตุเพราะสรรพสิ่งทุกอย่างบนโลกหรือแม้กระทั่งในจักรวาลนี้ก็ตาม ไม่สามารถที่จะหลีกหนีจากความเสื่อมสลายหรือต่อต้านการดับสูญของตัวตนโดยการฝ่าฝืนกระแสแห่งกาลเวลาได้

เมื่อคำสอนทางศาสนาสอนให้มนุษย์ “อย่ายึดติดในตัวตน” เพราะทุกสิ่งล้วนเป็น “อจีรัง” อันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ แต่ในขณะเดียวกัน นักคิด นักธุรกิจ รวมทั้งกูรูทางวิทยาศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ กลับกล้าที่จะท้าทายสัจธรรมของโลก โดยการเปลี่ยนมุมมองของความ “อจีรัง” จากมุมมองแห่งความเสื่อมสลายให้กลายเป็นมุมมองแห่ง “โอกาสทางธุรกิจ” ซึ่งจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญกับวิกฤติต่างๆให้ดีขึ้น

ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ศูนย์กลางแห่งความคิดสร้างสรรค์ของสังคมไทย จึงเสนอวิธีแก้ปัญหานี้ โดยจัดนิทรรศการ “อจีรัง คือ โอกาส” หรือ “Perishable Beauty” นิทรรศการที่จะช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ให้ออกมาโลดแล่น โดยนำความ “อจีรัง” มาตั้งเป็น “โจทย์” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ค้นหาคำตอบจากแนวทางการคิดของตนเอง ส่วน “คำตอบสุดท้าย” ของแต่ละคนนั้น คงสุดแล้วแต่ว่าใครจะสามารถนำ “โจทย์” ที่ได้รับไป “ตีให้แตก” และต่อยอดเป็น “โอกาสทางธุรกิจ” ได้มากน้อยกว่ากัน

...แล้วคุณพร้อมจะค้นหา “โอกาส” จากความ “อจีรัง” หรือยัง?

เอกภพอันยิ่งใหญ่ยังพ่ายแพ้ความ ‘อจีรัง’ นับประสาอะไรกับมนุษย์ที่มีอายุขัยเพียงพริบตาจักรวาล? 17 พันล้านปีที่แล้ว เมื่อ “หลุมดำ” (Black Hole) เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง อันถือเป็นจุดสิ้นสุดของเอกภพในอดีต แต่การแตกดับนั้นก็ก่อให้เกิดเป็น “ระบบสุริยะจักรวาล” ที่มนุษย์เราอาศัยอยู่ในกาลปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจหากจะกล่าวว่ามนุษย์คือ “ทายาทแห่งการดับสูญ” นั่นเอง

อาหารมื้อพิเศษ...สัญลักษณ์แห่งการแสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยวจากความเสื่อมสลาย

ใครจะไปคาดคิดว่าอาหารแต่ละมื้อที่มนุษย์รับประทานเพื่อสุนทรียรสในแต่ละวัน จะเป็นหนึ่งในสัญญะสำคัญที่แฝงนัยแห่งสัจธรรมว่า มนุษย์เองก็ต้องการหนีความจริงที่ว่าทุกชีวิตล้วนมีจุดจบไม่ต่างจากอาหารที่ตนเองกำลังนำใส่ปากรับประทานเพื่อลิ้มรสชาติของความอร่อยเพียงไม่กี่คำเคี้ยวเท่านั้น

จาก ‘ความกลัว’ สู่วิทยาการแห่ง ‘การหนีความตาย’

เมื่อความกลัวตายคอยไล่ต้อนมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย บังคับให้มนุษย์ตัดสินใจลุกขึ้นสู้เพื่อหาวิธีหลีกหนีให้พ้น...จนถึงปัจจุบัน วิทยาการหนีความตายจึงสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แต่ละประเทศได้เป็นจำนวนสูงลิบ เห็นได้ชัดตั้งแต่พิธีกรรมหมักดองมัมมี่ การโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงตัวโปรดให้ฟื้นคืนชีพ หรือกลิ่นหอมจากดอกไม้ที่ร่วงโรย เพื่อใช้ดับกลิ่นกายของร่างอันไร้วิญญาณ ไปจนถึงการแปรเปลี่ยนอัฐิของคนรักให้กลายเป็น “แหวนเพชร” แห่งความทรงจำ ที่ได้ทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางจิตใจที่ประเมินค่ามิได้

ศาสตร์แห่งความงามกับความสุขของมนุษย์ที่หากินได้ตลอดปีตลอดชาติ

ความเชื่อที่ว่า “มนุษย์อยากให้ตัวเองดูดีอยู่เสมอ” ได้กลายเป็นช่องทางทางการตลาดของที่เปิดให้โอกาสทางธุรกิจเกี่ยวกับความสวยความงามเกิดขึ้นมา คนทั่วโลกจำนวนไม่น้อยยอมทุ่มทุนสุดตัว เพื่อเปลี่ยนแปลงหน้าตาและรูปร่างของตัวเองให้เป็นไปตามบรรทัดฐานความสวยที่สังคมกำหนดไว้ จนแทบจะหาความงามของตัวตนอันแท้จริงไม่เจอ ผลกำไรมหาศาลจากธุรกิจเหล่านี้จึงตกอยู่กับผู้ที่มองเห็น “โอกาส” และนำไปต่อยอดเป็น “ธุรกิจ” ก่อนใคร

ใครคือฆาตรกรแห่งความงามกันแน่?

กาลิเลโอ เป็นยอกนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ที่สร้างกล้องโทรทรรศน์ขึ้นมาเพื่อเปิดตามนุษย์โลกให้มองเห็นความสวยงามของดวงจันทร์ แต่เมื่อนีล อาร์มสตรอง ปักธงแห่งชัยชนะบนพื้นผิวขรุขระของดวงจันทร์ มนุษย์จึงพบกับความจริงที่ทำให้ตาสว่างขึ้นมาว่า “แท้จริง ดวงจันทร์ไม่ได้นวลผ่อง แต่คือพื้นผิวที่ถูกอุกกาบาตบดขยี้จนไม่เหลือสภาพ” ซึ่งไม่ต่างจากผิวหน้าของมนุษย์แม้แต่น้อย!

เมื่อ ‘ฤดูกาล’ สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ

จะมีรัฐบาลของประเทศไหนที่มองการณ์ไกลล้ำหน้าไปกว่ารัฐบาลญี่ปุ่น ที่กำหนดช่วงฤดูกาล 1 สัปดาห์ที่ดอกซากุระทั้งประเทศเบ่งบานก่อนจะร่วงโรยให้เป็นวาระแห่งชาติ จนกลายเป็นฤดูกาลที่สามารถเรียกเงินจำนวนมหาศาลจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศทั่วโลก...แต่สุดท้ายเจ้าดอกซากุระก็หนี “ความโรยรา” อันเป็น “อจีรัง” ไม่พ้นอยู่ดี

ริอ่านจะฟื้นเมืองตาย ก็ต้องพร้อมจะทุ่มทุนสู้

โปสการ์ดสวยๆแต่ละใบจากอัมพวา ลี่เจียง หรือ เวนิส ที่จุไปด้วยความทรงจำและความประทับใจของสถานที่แห่งนั้น ล้วนต้องใช้เงินลงทุนเพื่อรักษาความสวยงาม และจัดระเบียบสิ่งแวดล้อมเพื่อต้อนรับผู้มาเยือนอยู่เสมอ ผลตอบแทนที่ได้รับจึงมิใช่เพียงความประทับใจของนักท่องเที่ยว หรือความยินดีของเจ้าบ้านเท่านั้น

หากแต่หมายถึงรายได้จำนวนมากที่ไหลเข้าประเทศอย่างไม่ขาดสาย ตราบนานเท่าที่ความงดงามของธรรมชาตินั้นยังคงอยู่ มิเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

ส.ค.ส = ส่งความสด...กระบวนการจัดการความเสื่อมและศูนย์กลางการค้าส่งความ ‘อจีรัง’

ด้วยระบบการผลิตและการขนส่งที่ทันสมัย ทั้งยังตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่าง ชาญฉลาดและทันท่วงที จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมเนเธอร์แลนด์จึงได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางและผู้นำด้านการส่งออกดอกไม้ระดับโลก...ในทางกลับกัน เมื่อประเทศไทยสามารถส่งออกดอกกล้วยไม้เป็นอันดับหนึ่งของโลก แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากเรานำเทคนิควิธีการจัดการกับความเสื่อมสลายของดอกไม้จากประเทศต้นแบบเช่นเนเธอร์แลนด์มาปรับใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และรู้จักการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับประเทศ นอกเสียจากประเทศไทยจะขึ้นชื่อว่าเป็น “ศูนย์กลางการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับเมืองร้อน” อย่างเต็มศักยภาพ

มะนาวหยดสุดท้าย...จะทิ้งหรือจะรีบคว้ามาสร้างเป็น “โอกาสทางธุรกิจ”

หากเปรียบ “มะนาวหยดสุดท้าย” เป็นดั่งตัวแทนของโอกาสทางธุรกิจ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่คนไทยต้องนำ “โอกาส” เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุดและโดยเร็วที่สุด...ก่อนที่โอกาสเหล่านั้นจะกลายเป็นมะนาวไร้ค่าที่ไม่เหลือแม้แต่น้ำหยดสุดท้าย

นิทรรศการ “อจีรัง คือ โอกาส” (Perishable Beauty) นิทรรศการแรกที่จะตาย...ต่อหน้าคุณ เปิดให้ชมฟรี ตั้งแต่วันนี้ - 22 กุมภาพันธ์ 2552 ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียม ช็อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ เวลา 10.30 – 21.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.02-664-8448 หรือคลิกดูรายละเอียดได้ที่ www.tcdc.or.th

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

Wanwisa Limsumangkalakul (Cat)

PR Executive - JWT Public Relations

T: 02-240-8213

M: 089-781-8797

F : 02-259-9246

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit