ผู้บริโภคเสี่ยง หากดาวน์โหลดซอฟต์แวร์จากเว็บที่ไม่น่าเชื่อถือ

26 Nov 2008

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์

รายงานล่าสุดจากบีเอสเอ เผยแนวโน้มการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทางอินเตอร์เน็ตและเว็บไซต์ประมูล พร้อมแนะเกร็ดความรู้เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ ออกโรงเตือนผู้บริโภค ต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมากที่สุดในการซื้อซอฟต์แวร์ลดราคา หรือการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ฟรีจากเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ

การรายงาน จัดทำขึ้นภายใต้หัวข้อ “กลโกงจากซอฟต์แวร์ออนไลน์: การคุกคามความปลอดภัยส่วนบุคคล” ได้กล่าวถึง ขอบเขตการเพิ่มขึ้นของปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์, ความเกี่ยวเนื่องของการลักลอบขโมยข้อมูล และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ในรูปแบบอื่น รวมถึง ขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อลดการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเตอร์เน็ต

“ผู้บริโภคอาจคิดว่า การสั่งซื้อซอฟต์แวร์ออนไลน์ เป็นวิธีที่ทำให้ตนได้ราคาพิเศษในการสั่งซื้อ แต่ในทางกลับกันแล้ว มีความเป็นไปได้สูงมาก ที่พวกเขาอาจต้องจ่ายเงิน เพื่อแลกกับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และยังมีผลต่อความปลอดภัยเป็นอย่างมาก” คุณศิริภัทร ภัทรางกูร โฆษกคณะกรรมการกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ ประจำประเทศไทย กล่าว “การสั่งซื้อโดยตรงกับผู้แทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้ง ถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด แต่หากคุณต้องการสั่งซื้อด้วยระบบออนไลน์ เราขอแนะนำให้คุณทำรายการโดยตรงที่เว็บไซต์หลัก”

ตัวอย่างกรณีศึกษา จากผลการวิจัย ที่จัดทำโดยสถาบันวิจัย ฟอเรสเตอร์ (Forrester Research) ในนามของ บีเอสเอ พบว่า 1 ใน 5 ของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ที่ใช้วิธีสั่งซื้อออนไลน์ ในปี 2549 พบปัญหาหลักๆ คือ ได้รับสินค้าผิด หรือไม่ได้รับสินค้าที่ตนเองสั่งซื้อเลย นอกจากนี้ความเสี่ยงอีกประการของการสั่งซื้อออนไลน์ คือ เป็นการเปิดโอกาสให้กับอาชญากรในการเจาะถึงข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลด้านการเงิน รวมไปถึง อาจเจาะเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ จนส่งผลให้เกิดการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ในอนาคต

การรายงาน ยังมุ่งความสนใจไปที่ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ที่มีการซื้อขายทางเว็บไซต์ เช่น อีเบย์ ซึ่งจากสถิติประมาณ 50-90% ของสินค้าประเภทซอฟต์แวร์ ล้วนแล้วแต่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย หรือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการทำซ้ำ และลอกเลียนแบบ ซึ่งสินค้าลอกเลียนแบบเหล่านี้มักแฝงมาด้วยมัลแวร์ (malware) และไวรัสต่างๆ ซึ่งผู้ลอกเลียนแบบสร้างขึ้นมา เพื่อจะทำให้ระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหาในภายหลัง

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้จับกุมชายไทยอายุ 28 ปี ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ในข้อหาจำหน่ายซอฟต์แวร์เถื่อนบนอินเตอร์เน็ตมากว่า 1 ปี ผู้ต้องหาดำเนินธุรกิจโดยการลงโฆษณาตนเองในฟอรัมต่างๆ และเว็บไซต์ทางอินเตอร์เน็ต รับคำสั่งซื้อทางอีเมล์ และเขียนแผ่นซีดีเอง จากนั้นจะทำการส่งไปให้ลูกค้าทางไปรษณีย์ และรับเงินโดยการโอนผ่านทางเอทีเอ็ม ทั้งนี้ ผู้ซื้อหลายรายไม่รู้ตัวเลยว่า ซอฟต์แวร์เหล่านั้นทำซ้ำขึ้นอย่างผิดกฎหมาย และอาจมีไวรัสได้

บีเอสเอ แกนนำการป้องปรามเพื่อปกป้องผู้บริโภค

ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานในการเป็นแกนนำ เพื่อต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ บีเอสเอ จึงได้นำเทคโนโลยีพิเศษในการตรวจสอบเว็บไซต์ประมูล และระบบการเชื่อมโยงแบบเพียร์ทูเพียร์ (peer-to-peer networks) มาใช้ในการตรวจสอบ ซึ่งหากตรวจพบว่ามีซอฟต์แวร์ต้องสงสัยปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ บีเอสเอ จะทำการออกจดหมายแจ้งเตือนเพื่อให้นำซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายเหล่านั้นออก โดยในปี 2551 นี้ บีเอสเอสามารถขยายขีดความสามารถในการตรวจสอบเว็บไซต์ประมูล และการออกจดหมายแจ้งเตือน เพื่อจัดส่งให้กับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) โดยคิดเป็นยอดรวมที่สูงขึ้นถึง 2 เท่าของปีที่ผ่านมา และคิดเป็นจำนวนสูงถึง 3 เท่าที่จัดส่งให้กับเว็บไซต์ประมูล

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 นี้ บีเอสเอได้ทำการแจ้งปิดเว็บไซต์ประมูลมากกว่า 18,000 เว็บ โดยมีสินค้าถึง 45,000 ชนิด คิดเป็นมูลค่ารวมถึง 22 ล้านเหรียญสหรัฐ (770 ล้านบาท) และในช่วงเวลาเดียวกัน บีเอสเอ ได้ส่งจดหมายเตือนเกี่ยวกับโปรแกรม “บิททอเร็นท์” (BitTorrent) เพียร์ทูเพียร์ ซึ่งมีผู้เข้าใช้งานดาวน์โหลดมากกว่า 633,000 คน คิดรวมมูลค่าประมาณ 525 ล้านเหรียญสหรัฐ (18,375 ล้านบาท) ให้กับผู้ให้ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยสถิติของการจัดส่งจดหมายเตือนในครั้งนี้มีจำนวนมากถึง 782,832 ฉบับ

มร. ดรุณ ซอว์นีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอกล่าวว่า “การเพิ่มมากขึ้นของเครือข่ายบอร์ดแบรนด์ในเอเชีย ส่งผลให้การดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ผิดกฏหมาย ผ่านทางเพียร์ทูเพียร์มีอัตราที่สูงขึ้น โดยภายในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บีเอสเอได้ทำการส่งจดหมายเตือนมากกว่า 72,000 ฉบับ ไปยังผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค โดยในจำนวนจดหมายมหาศาลนี้ ได้ถูกส่งถึงไอเอสพีของจีน และไต้หวัน มากกว่า 22,000 ฉบับในแต่ละประเทศ”

ปี 2550 ในภาคพื้นเอเชีย พบว่ากว่า 59% ของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ล้วนแล้วแต่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้มากกว่า 14 พันล้านเหรียญสหรัฐ (490 พันล้านบาท) ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถใช้ลงทุนเพื่อทำให้เกิดการจ้างงานใหม่ และเพื่อการแก้ไขปัญหาความต้องการทางสังคมได้ และผลการศึกษาประจำปี 2551 ได้ระบุไว้ว่า หากในภาคพื้นเอเชีย สามารถลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนพีซีลงได้ 10% ภายใน 4 ปี จะเกิดการจ้างงานเพิ่ม 435,000 ตำแหน่ง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 40 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1.4 ล้านล้านบาท) และภาษีรายได้เพิ่มขึ้น 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (175 พันล้านบาท)

“การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อเศรษฐกิจของชาติ แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือกันป้องกัน และต่อต้านการซื้อซอฟต์แวร์ราคาถูก หรือการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ฟรีจากเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือแล้วนั้น นอกจากจะเป็นการรักษาความปลอดภัยให้กับตนเองแล้ว ยังถือเป็นการช่วยเหลือ และต่อสู้กับปัญหาการละเมิดซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อีกทางหนึ่งด้วย” มร. ซอว์นีย์กล่าวเสริม

ในกรณีที่จำเป็น บีเอสเอ จะยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อให้หยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเตอร์เน็ต และ/หรือ ส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินคดี โดยในผลการรายงานยังมีกรณีศึกษาอีกเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับผู้ที่ทำการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งถูกจับกุม และถูกตัดสินว่ากระทำความผิดโดยการหลอกลวงผู้บริโภค

เว็บไซต์ประมูลต้องรัดกุมมากขึ้น ผู้บริโภคต้องป้องกันตนเอง

บีเอสเอ ได้กำหนดว่า ผู้ให้บริการทางเว็บไซต์ประมูลต้องมีหน้าที่เพิ่มขึ้นในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ให้บริการฯ ต้องทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยการโพสต์ข้อมูล และประกาศคำเตือนให้เข้าใจชัดเจน ต่อทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย, สำหรับการสั่งซื้อซอฟต์แวร์ ให้ทำการลบฟังก์ชั่น “สั่งซื้อเดี๋ยวนี้” (Buy It Now) ออก เนื่องจากฟังก์ชั่นนี้เป็นทางลัดในขั้นตอนการซื้อขาย ซึ่งทำให้การตรวจสอบความถูกต้องสามารถทำได้ยาก อันจะเป็นลู่ทางในการใช้กลโกงกับผู้บริโภคได้อย่างง่ายดาย

ในรายงานฉบับนี้ ยังได้มีข้อชี้แนะที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภค รวมถึงการซื้อสินค้าจากตัวแทนที่ถูกต้องตามกฏหมาย, อัพเดตซอฟต์แวร์ฟรีจากเจ้าของเจ้าของลิขสิทธิ์, ระวังสินค้าที่อาจไม่ใช่สินค้าลิขสิทธิ์ และการรายงานเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทาง www.bsacybersafety.com

ข้อมูลเพิ่มเติมรายงาน เรื่อง “กลโกงจากซอฟต์แวร์ออนไลน์: การคุกคามความปลอดภัยส่วนบุคคล” สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.bsa.org/internetreport

เกี่ยวกับบีเอสเอ

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) เป็นผู้นำแถวหน้าที่ทุ่มเทให้กับการส่งเสริมโลกดิจิตอลที่ปลอดภัยและ ถูกกฎหมาย บีเอสเอเป็นกระบอกเสียงของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์และคู่ค้าฮารด์แวร์ทั่วโลกต่อหน้ารัฐบาล ของประเทศต่างๆ และในตลาดการค้าระหว่างประเทศ สมาชิกบีเอสเอ ประกอบด้วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก บีเอสเอสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยี ผ่านโครงการเพื่อการศึกษาและนโยบายที่ส่งเสริมการปกป้องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ การรักษา ความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ การค้าและอีคอมเมิร์ส

สมาชิกบีเอสเอรวมถึง อโดบี, แอปเปิ้ล, ออโต้เดสค์, อาวิด, เบนลี่ ซิสเต็มส์, บอร์แลนด์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์/มาสเตอร์แคม, คอเรล, แมคอาฟี, ไมโครซอฟท์, โมโนไทพ์ อิเมจิ้ง, พีทีซี, เคิร์ค, เควสท์ ซอฟต์แวร์, ซีเมนส์, แดสเซิลท์ ซิสเต็มส์ โซลิดเวิร์คส์ คอร์ปอเรชั่น, ไซเบส, ไซแมนเทค และ เดอะ แมธเวิร์กส์ สมาชิกบีเอสเอในเอเชียรวมถึง อาจิเลนท์ เทคโนโลยี, อัลเทียม, ฟรอนท์ไลน์ พีซีบี โซลูชั่นส์ (ในเครือออร์โบเท็ค วาเลอร์ คัมปานี), ไมเจ็ท, มินิแทบ, เอสพีเอสเอส, เทคล่า และ เทรนด์ ไมโคร สมาชิกบีเอสเอในประเทศไทย คือ ไทยซอฟต์แวร์ เอ็นเตอร์ไพร์ส

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

อาทิมา ตันติกุล

สุจิตรา ยิ่งเพิ่มมงคล

วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์

วีโร่ พับลิครีเลชั่นส์

โทร 0 2684 1551

โทร 0 2684 1551

อีเมล์ [email protected]

อีเมล์ [email protected]