นักวิชาการฟันธงอุตฯโทรคมนาคมอาเซียนรุ่งแนะเปิดกว้างทางธุรกิจดึงเงินลงทุนเพิ่ม

09 Jan 2009

กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2552 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ได้ร่วมกับสถาบันการค้าโลกและกฎระเบียบการค้า การลงทุน มหาวิทยาลัย Fribourg ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จัดงานดินเนอร์ ทอล์ค ภายใต้หัวข้อ “การลงทุนธุรกิจโทรคมนาคมในอาเซียน” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมเวทีสัมมนา ประกอบด้วย ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ดร. อธิป อัศวานันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธและนวัตกรรม บริษัท ทรู มูฟ จำกัด และดร. อีริค โบห์ลิน มหาวิทยาลัย Chalmers University of Technology, Goteborg โดยมีพ.ต.ต. ดร. ดนุวศิน เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สถาบันนิด้า เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวในระหว่างเป็นประธานเปิดงานดังกล่าวว่า แม้ว่าภูมิภาคอาเซียนจะถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ แต่การเติบโตของภาคธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมยังมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ มาจากการลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศ ทั้งจากนักลงทุนชาวต่างชาติ เพื่อให้การบริการแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น 3G, 3.5G, 4G, WiMAX, NGN เซ็นเซอร์ เน็ทเวิร์ค และแอดฮอค เน็ทเวิร์ค

ขณะที่แนวโน้มของธุรกิจโทรคมนาคมเริ่มเปลี่ยนจากการใช้ระบบเน็ทเวิร์คมาสู่การเป็น IP เน็ทเวิร์ค รวมถึงการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการหลากหลายแบบ หรือ converged services ดังนั้น สื่อดิจิทอลจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และผลักดันพัฒนาการด้านเน็ทเวิร์คดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือ การที่ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ จะประสบความล้มเหลวในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยการปิดบังข้อมูลของผู้ประกอบการที่ครองตลาดอยู่ก่อน เป็นปัจจัยทำให้การตัดสินใจในการลงทุนเกิดความคลาดเคลื่อน ซึ่งจุดนี้นับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทย

กรรมการ กทช.ยังกล่าวด้วยว่า คาดว่าในปี 2552 นี้ ภาคธุรกิจโทรคมนาคมจะเดินหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนในภาคธุรกิจนี้ก็จะเติบโตขึ้นด้วย แต่ในอัตราส่วนที่น้อยกว่าในปีก่อน อันเป็นผลมาจากสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งจะมีการอนุญาตให้เอกชนเข้ามาพัฒนาระบบ 3G และ WiMAX เพื่อให้ทันเปิดบริการก่อนสิ้นปี 2552 นี้อย่างแน่นอน ซึ่งนับว่าเป็นพื้นฐานของการพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมให้ไปสู่อีกระดับหนึ่ง

ด้าน ดร. อีริค โบห์ลิน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Chalmers University of Technology, Goteborg เสนอแนวคิดเพื่อกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการที่ต่อเนื่องของธุรกิจโทรคมนาคม ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนว่า กลุ่มประเทศอาเซียนควรเปิดกว้างธุรกิจโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคเอกชนรายย่อย เพื่อทำให้อุตสาหกรรมสามารถเกื้อหนุนการลงทุนได้ดีกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นนั้น จะต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการบังคับควบคุมของส่วนราชการ

ขณะที่ ดร. สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ICT กับการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่นในประเทศหลักๆ ยกเว้นในบางประเทศที่การพัฒนาทางโทรคมนาคมมีความจำเป็น ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่ทัดเทียมกันก็ตาม

ปิดท้ายที่ ดร. อธิป อัศวานันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธและนวัตกรรม บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ซึ่งระบุว่า ปัญหาในประเทศไทยนั้นไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นความล่าช้าในการอนุญาตให้กับระบบ 3G และการขาดบุคคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะคนเก่งจะเลือกเรียนการตลาดหรือการเงินมากกว่าที่จะเรียนเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี นอกจากนี้การที่มีพื้นฐานทางความคิดไม่เหมือนกันก็เป็นปัญหา

“การที่คนไทยมีความแตกต่างทางความคิดมากนั้นก็เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนา digital community ในปัจจุบันประเทศไทยมีเม็ดเงินในธุรกิจโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตที่นับว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งความแตกต่างทางความคิดของผู้บริโภค และวัฒนธรรมผู้บริโภคเป็นปัจจัยสำคัญ นอกเหนือจากการไม่มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะมาสนับสนุนการพัฒนาแบบครบวงจร” ดร. อธิป กล่าวสรุป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ในนาม NIDA Business School)

พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 14 หรือ 08-1929-8864

e-mail address : [email protected]