กฟผ. ลงนามสัญญากับ บ.กันกุลฯ ซื้อ-จ้าง ควบคุมติดตั้งอุปกรณ์ รฟ.กังหันลม ขนาด 2.5 เมกะวัตต์

09 Oct 2008

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--กฟผ.

กฟผ. ลงนามสัญญากับบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เพื่อซื้อ-จ้าง ควบคุมการติดตั้งอุปกรณ์โรงไฟฟ้ากังหันลมขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ในพื้นที่บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคอง ซึ่งมีขนาดกำลังผลิตสูงสุดที่จะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ คาดว่าแล้วเสร็จกลางปี 2552

เมื่อวานนี้ (8 ตุลาคม 2551) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. และ นายกัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (Gunkul Engineering Co.,Ltd.) ลงนามในสัญญางานซื้อและจ้างควบคุมการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับโรงไฟฟ้ากังหันลมขนาดกำลังผลิตรวม 2.5 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 1.25 เมกะวัตต์ จำนวน 2 ชุด มีความสูงของกังหันลมประมาณ 68 เมตร มูลค่าเงินลงทุนทั้งโครงการรวม 145 ล้านบาท โดย กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งเอง ณ บริเวณอ่างพักน้ำตอนบนโรงไฟฟ้าลำตะคอง หมู่ที่ 6 ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ กฟผ. ได้ศึกษาแล้วพบว่ามีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ด้วยค่าความเร็วลมเฉลี่ย 6 เมตร/วินาที

นายสมบัติ กล่าวว่า โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้ากังหันลม คาดว่าจะดำเนินโครงการฯ แล้วเสร็จ สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ประมาณกลางปี 2552 ซึ่งนับว่าเป็นโรงไฟฟ้า กังหันลมที่มีขนาดกำลังผลิตสูงที่สุดที่จะเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ โดยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ 4.6 ล้านหน่วยต่อปี สามารถทดแทนการใช้น้ำมันได้ 1.42 ล้านลิตรต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,676 ตันต่อปี และสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาด้านเทคนิค ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านคุณภาพไฟฟ้า และการควบคุมการเชื่อมโยงเข้ากับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำหรับเป็นฐานข้อมูลการติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่ (wind farm) และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.นครราชสีมา ในอนาคตได้อีกแห่งหนึ่งด้วย

สำหรับโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้ากังหันลม เป็นหนึ่งในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Portfolio Standard : RPS) ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 รวม 81.7 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย พลังงานลม 2 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์ และพลังน้ำ 78.7 เมกะวัตต์