ยอดฝีมือบาร์เทนเดอร์ประเทศไทยเตรียมสานฝันในเวทีโลก ทุกฝ่ายหนุน “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” เพื่อยกระดับอาชีพ

29 Sep 2008

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์

การแข่งขันสู่ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของคนหลังบาร์จากทั่วประเทศ “การแข่งขันบาร์เทนเดอร์ประจำประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2551” ประกาศผลแล้วท่ามกลางบรรยากาศสนุกสนานที่เต็มไปด้วยสีสันของกองเชียร์ โดยปีนี้ สมาคมโรงแรมไทย และผู้สนับสนุนหลักคือ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์ “สเมอร์นอฟ” วอดก้าที่มียอดขายอันดับ 1 ของโลก ได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา และได้รับการสนับสนุนจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้วย พร้อมทั้งเพิ่มประเภทการแข่งขันด้วยการเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมนอกเหนือจากกลุ่มโรงแรม โดยยอดฝีมือจากทุกภาคได้มาแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 กันยายนนี้ และได้รับเกียรติจากนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในการแข่งขันและมอบรางวัล

การแข่งขันบาร์เทนเดอร์ชิงแชมป์ประเทศไทยได้จัดอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ในปีนี้มีผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศรวม 48 คน ที่เป็นผู้ชนะจากการแข่งขันในระดับภูมิภาครวม 7 ภาค ใน 3 ประเภท คือ คลาสสิค (เน้นสูตรเครื่องดื่ม), แฟลร์ (ลีลาท่าทาง) กลุ่มโรงแรม และแฟลร์กลุ่มบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการแข่งขัน ซิกเนเจอร์ดริ๊งค์ “สยาม ซันเรย์ส” ที่ใช้วอดก้า “สเมอร์นอฟ” เป็นส่วนผสมหลัก โดยเตรียมเผยแพร่ให้เป็นค็อกเทลเอกลักษณ์ของไทยต่อไป เช่นเดียวกับ “สิงคโปร์สลิง” ของสิงคโปร์ หรือ “แมนฮัตตัน” และ “คอสโมโพลิแทน” ของอเมริกา

แชมป์ประเภทคลาสสิค ได้แก่ นายปัญชกฤช ขอผลกลาง, แชมป์ประเภทแฟลร์ กลุ่มโรงแรม ได้แก่ นายศักดิ์สิริ ทองดอนสนธิ์ ส่วน แชมป์ประเภทแฟลร์ กลุ่มบุคคลทั่วไป ได้แก่ นายทรงวุฒิ ชิตติวุฒิพงษ์ และนายสุรศักดิ์ พันธ์ไธสง ได้เป็นแชมป์ ซิกเนเจอร์ ดริงค์ “สยามซันเรย์ส” โดยผู้ชนะเลิศกลุ่มโรงแรม จะได้ไปร่วมแข่งขันในระดับนานาชาติ ที่ประเทศออสเตรเลีย ส่วนผู้ชนะเลิศประเภทบุคคลจะได้ไปแข่งขันที่อังกฤษ

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “การแข่งขันในครั้งนี้สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมชมงานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติซึ่งมีจำนวนมากกว่าทุกครั้ง จะเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว อาชีพบาร์เทนเดอร์มีความสำคัญในการสร้างสีสันดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองไทย ต้องใช้ศิลปะในการสร้างสรรค์ทั้งสูตร รสชาติ สีสัน และลีลา ให้เครื่องดื่มมีความน่าสนใจ เป็นศิลปะร่วมสมัยบาร์เทนเดอร์กับการท่องเที่ยวจึงส่งเสริมซึ่งกันและกัน สำหรับซิกเนเจอร์ดริ๊งค์ ‘สยามซันเรย์ส’ (Siam Sunrays) ก็เป็นอีกสื่อหนึ่งแบบไม่เป็นทางการที่จะทำให้ ชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวได้รู้จักเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ที่มีทั้งความสนุกสนาน เผ็ดร้อน แต่ก็ กลมกล่อมนุ่มนวล และขอชื่นชมสำหรับการเน้นย้ำให้บาร์เทนเดอร์ดูแลผู้บริโภคให้ดื่มอย่างรับผิดชอบ หวังว่า ทุกกิจกรรมจะส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบ ให้มีสติอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้อาชีพนี้มีกระบวนการสร้างสรรค์ที่ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป”

ด้าน นายประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย ให้รายละเอียดว่า การแข่งขันนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรผู้ให้บริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ให้เป็นผู้ที่มีฝีมือ ทักษะ และความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนมีจิตสำนึกที่ดีในการดูแลผู้บริโภค และเป็นการยกระดับสร้างมาตรฐานที่ดีของบาร์เทนเดอร์มืออาชีพ นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันระดับนานาชาติซึ่งสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเสมอ โดยล่าสุด ชาญสมร ทองคำ แชมป์ปีที่แล้วก็เพิ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศจาก ASEAN Bartender Competition 2009 ที่อินโดนีเซีย และเชื่อมั่นว่าแชมป์ปีนี้จะประสบความสำเร็จที่ออสเตรเลียและอังกฤษเช่นกัน

“ปีนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ได้รับการสนับสนุนจาก ททท. พร้อมทั้งขอชื่นชมและขอบคุณผู้สนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่เห็นความสำคัญของอาชีพบาร์เทนเดอร์ ซึ่งมีบทบาทในการสร้างสรรค์เครื่องดื่มค็อกเทลที่นักท่องเที่ยวให้ความนิยม และหากผสมผสานกับองค์ประกอบอื่นๆ ให้น่าสนใจก็จะสามารถใช้เป็นจุดขายของสถานที่ท่องเที่ยวได้ และมีส่วนในการพัฒนาการท่องเที่ยว พร้อมกันนี้ สมาคมโรงแรมไทยก็เตรียมโปรโมท ‘สยามซันเรย์ส’ ผ่านเครือข่ายของสมาคมฯ ทั่วประเทศ ให้เป็นซิกเนเจอร์ดริ๊งค์ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย” นายประกิจกล่าว

นางสาวศนิตา คาจิจิ รองประธานกรรมการบริหาร ด้านการตลาด บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ดิอาจิโอฯ ให้ความสำคัญกับบาร์เทนเดอร์มาก เพราะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ดื่มมากที่สุดเพราะเรามีนโยบายหลักที่มุ่งเน้นเรื่องการดื่มอย่างรับผิดชอบ ดื่มอย่างพอเหมาะเพื่อความสนุกสนานรื่นรมย์โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น ซึ่งบาร์เทนเดอร์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลผู้บริโภค ดังนั้น นอกจากการสนับสนุนการแข่งขันแล้ว ดิอาจิโอฯ ยังจัดอบรมให้ความรู้ทั้งในเรื่องความสำคัญของอาชีพ ความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ เรื่องดื่มมาตรฐาน หรือ Standard Drink ที่ใช้กันทั่วโลก เพื่อนำไปปรับใช้ในการดูแลผู้บริโภคอย่างดีที่สุด บาร์เทนเดอร์ในหลายประเทศต้องมีใบอนุญาตเช่นเดียวกับอาชีพที่ต้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน อย่างหมอ วิศวกร หรือสถาปนิก และจะถูกยึดหรือ เพิกถอนใบอนุญาตหากผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการดื่ม ซึ่งเราก็พยายามผลักดันให้ไทยมีมาตรฐานเดียวกับต่างประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้บาร์เทนเดอร์ไทยมีคุณภาพและศักยภาพทัดเทียมกัน”

ด้าน ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ – “ป้าแจ๋ว” กรรมการตัดสินประเภทแฟลร์ ให้ความเห็นว่า “บาร์เทนเดอร์ไทยมีความสามารถและทักษะไม่แพ้บาร์เทนเดอร์ต่างประเทศ ทั้งยังมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้ทัดเทียมกับต่างชาติได้เป็นอย่างดี หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมช่วยกันส่งเสริม ในการตัดสินก็จะให้ความสำคัญกับการทำให้ผู้ชมเพลิดเพลินสนุกสนาน มีอารมณ์ร่วมกับลีลาการแสดงมากกว่าเรื่องความยากง่ายของท่าทาง เพราะท่ายากๆ บางครั้งก็ทำให้ต้องตั้งอกตั้งใจจนเครียดทั้งผู้แสดงและผู้ชม ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมเรื่องรสชาติด้วย เพราะคุณสมบัติของบาร์เทนเดอร์ที่ดีต้องมีครบถ้วนทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องมีความรู้เรื่องส่วนผสมของเครื่องดื่ม สร้างสรรค์ได้หลากหลายและกลมกล่อม ที่สำคัญคือต้องเอ็นเทอร์เทนลูกค้าได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งให้ความสุขเพลิดเพลินและดูแลให้มีการดื่มอย่างรับผิดชอบ”

เสียงจากแชมป์ประเทศไทยปี 2008 กล่าวถึงการ “ดื่มอย่างรับผิดชอบ” ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นบาร์เทนเดอร์มืออาชีพ

นายปัญชกฤช ขอผลกลาง – เบียร์ จาก โรงแรมลองบีช พัทยา ผู้ชนะเลิศประเภทคลาสสิค ด้วยผลงานค็อกเทลที่ชื่อทวินเบิร์ด “ผมเพิ่งทำงานได้ 4 เดือน ยังไม่มีประสบการณ์เรื่องการดื่มอย่างรับผิดชอบมากนัก แต่การอบรมที่ดิอาจิโอฯ ทำให้มีความรู้ที่จะนำไปดูแลหรือแนะนำลูกค้าได้ ทั้งการปฏิบัติตัวตั้งแต่ก่อนดื่ม ระหว่างดื่ม และหลังดื่ม โดยเฉพาะน้ำมีความสำคัญมาก” ขณะที่ นายศักดิ์สิริ ทองดอนสนธิ์ – เอ็ม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ ผู้ชนะเลิศประเภทแฟลร์ จากผลงานชื่อสยามพาราไดซ์ เล่าถึงการดูแลลูกค้าว่า “ผมจะคุยกับเขา เพื่อดูอาการว่าเขารู้ตัวมากแค่ไหน มีสติหรือเปล่า ถ้าเห็นว่าเขาไปไม่ไหว ขับรถไปก็อันตราย ก็จะเรียกแท็กซี่ให้หรือถ้าดึงดันจะไปก็จะขอให้นั่งพัก ดื่มน้ำจนมีสติ แล้วค่อยให้เขาไป ต้องค่อยๆ พูดครับ ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวมีเรื่อง”

นายทรงวุฒิ ชิตติวุฒิพงษ์ - หนุ่ม จากโรงเบียร์ภูเก็ต และโรงแรมบันยันทรี ภูเก็ต ผู้ชนะเลิศประเภทแฟลร์ (บุคคล) จากผลงานชื่อมิกซ์เทสต์ กล่าวว่า “8 ปีในวงการ เริ่มจากล้างแก้วแล้วค่อยก้าวสู่งานบาร์เทนเดอร์ ผมว่าการดูแลผู้ดื่มเป็นเรื่องของสามัญสำนึกครับ มันต้องอยู่ในหัวใจของบาร์เทนเดอร์ทุกคน สำหรับผมและสมาชิก Samui Flair Monster Bartender Club เราพูดกันถึงเรื่องนี้อยู่เสมอ ตอกย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญ รุ่นพี่สอนรุ่นน้องต่อๆ กันมา เราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าเสมอ เรามีวิธีการมากมายที่จะดูแลเขาให้มีความสุขจากการดื่ม ไม่ใช่ทุกข์จากการดื่มหรือดื่มแล้วเป็นทุกข์ ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกควบคุมเคร่งครัด ถูกสังคมกดดัน พวกเราบาร์เทนเดอร์ในฐานะเป็นผู้ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งต้องมีจิตสำนึกในการดูแลลูกค้าให้ดื่มอย่างรับผิดชอบ” นายสุรศักดิ์ พันธ์ไธสง – อ้น จาก โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ผู้ชนะเลิศประเภทซิกเนเจอร์ดริ๊งค์ “สยามซัน เรย์ส” และรองชนะเลิศประเภทแฟลร์ (บุคคล) จากผลงานชื่อบลูแองเจิล เล่าถึงประสบการณ์ว่า “บ่อยครับที่ลูกค้าช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็พาไปห้องน้ำ ให้นั่งพัก ดื่มน้ำเยอะๆ พอมีสติก็เรียกแท็กซี่ให้ แล้วก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากการอบรมกับดิอาจิโอฯ ครับ มีลูกค้าหลายหลายรูปแบบก็ต้องใช้ไหวพริบกันเองครับ แต่ที่สำคัญคือต้องให้ลูกค้ากลับบ้านอย่างปลอดภัยครับ และทำให้เราภูมิใจว่าเราก็มีความสำคัญในการดูแลเขาครับ”

มองมุมใหม่ “การดื่มอย่างรับผิดชอบ” ไม่ใช่เป็นแต่เพียงการรณรงค์กับคนดื่มเพียงอย่างเดียว แต่บาร์เทนเดอร์นำเสนอและหยิบยื่นแก้วของนักดื่ม ย่อมเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การรณรงค์เรื่อง “การดื่มอย่างรับผิดชอบ” สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว

รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด

โทร. 0 2158 9416 – 8 (รัชฎา บุลนิม, อุมา พลอยบุตร์)

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net