นักวิชาการชี้พายุลูกเห็บขนาดใหญ่ เกิดจากความแปรปรวนของอากาศที่รุนแรง

03 Apr 2009

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--สวทช.

จากกรณีการเกิดพายุลูกเห็บพัดถล่มในหลายพื้นที่ของประเทศไทย สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและที่ทำกินของประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งในบางพื้นที่ยังพบลูกเห็บขนาดใหญ่เท่าผลส้มเขียวหวานถล่มใส่บ้านเรือน ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่พบได้ไม่บ่อยนัก ดร. อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์และฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. ให้สัมภาษณ์ว่า พายุลูกเห็บที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นผลจากความแปรปรวนของอากาศที่รุนแรงในบริเวณแนวรอยต่อของมวลอากาศในภาคเหนือตอนล่างและภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งเกิดจากการที่มวลอากาศร้อนชื้นที่เคลื่อนที่จากทางใต้มาปะทะกับอากาศที่แห้งเย็นจากทางเหนือ โดยปกติเมื่อมีการปะทะกันมวลอากาศเย็นจะพยายามมุดตัวเข้าไปใต้มวลอากาศร้อน แต่ในครั้งนี้กลับกัน เป็นมวลอากาศร้อนมุดตัวเข้าไปใต้อากาศเย็น ทำให้เกิดความไม่เสถียร มวลอากาศร้อนจะพยายามยกตัวขึ้นด้านบน แต่ถูกมวลอากาศเย็นกดไว้ คล้ายกับการเอามือกวนในน้ำ ทำให้เกิดความแปรปรวนของอากาศหย่อมเล็กๆในหลายบริเวณ เป็นผลให้มีพายุลูกเห็บตกในหลายพื้นที่ “พายุลูกเห็บ เกิดภายในก้อนเมฆฝนฟ้าคะนองหรือเมฆคิวมูโลนิมบัสขนาดใหญ่เท่านั้น โดยภายในก้อนเมฆจะมีกระแสลมพัดขึ้นแนวตั้งอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเมื่อไอน้ำเริ่มกลั่นตัวเป็นหยดน้ำก็จะถูกพัดให้ลอยสูงขึ้นจนถึงจุดที่มีระดับอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง หยดน้ำจะแข็งตัวกลายเป็นก้อนน้ำแข็งตกลงมาด้านล่าง ทำให้มีน้ำมาเกาะใหม่ แต่ด้วยกระแสลมที่แรงมาก จึงพัดเม็ดน้ำแข็งให้ลอยกลับขึ้นไปอีก น้ำที่เกาะน้ำแข็งก็กลายเป็นน้ำแข็งชั้นใหม่ โดยเม็ดน้ำแข็งนี้จะถูกพัดขึ้นๆลง ๆ สะสมเพิ่มเป็นชั้นๆ จนกระทั่งเม็ดน้ำแข็งมีขนาดใหญ่และหนักเกินกว่ากระแสลมจะพยุงไว้ได้ ก็จะตกลงมาเป็นลูกเห็บ ส่วนขนาดของลูกเห็บจะมีขนาดใหญ่ขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของเม็ดฝนตั้งต้นและระยะเวลาที่ลมพัดหมุนวนอยู่ภายในก้อนเมฆ”

ดร.อานนท์ กล่าวว่า พายุลูกเห็บที่เกิดขึ้นแม้ไม่ได้เกิดจากภาวะโลกร้อนโดยตรง แต่หากบอกว่าไม่เกี่ยวข้องเลยก็คงไม่ได้ เพราะภาวะโลกร้อนโดยรวมมีผลให้สภาพอากาศเกิดความแปรปรวน หรือ มีความผิดของสภาพอากาศที่มีจำนวนถี่มากขึ้น ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนเมื่อปีที่แล้ว ก็เกิดพายุลูกเห็บที่รุนแรงเช่นนี้เหมือนกัน แต่ก็ยังตอบไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นเรื่องความบังเอิญของสภาพอากาศ หรือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะยังอยู่ในกระบวนการเก็บข้อมูล แต่กระนั้นการเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในประเทศไทยก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องอาศัยข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเก็บข้อมูลที่ต่างกัน เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา มีการเก็บข้อมูลเพื่อการพยากรณ์อากาศ ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำหรือกรมชลประทาน เก็บข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำเป็นหลัก ส่งผลให้ความถูกต้อง วิธีการ และการควบคุมคุณภาพข้อมูลบางครั้งไม่ได้ตามมาตรฐาน ที่จะนำมาใช้วิจัยในการหาข้อสรุปที่แน่ชัดว่า ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้นหรือมีความถี่ในการเกิดบ่อยครั้งนั้นเป็นผลพลวงมากจากภาวะโลกร้อนหรือไม่