“คืนชีวิตให้ขยะ” จากของเหลือทิ้ง สู่เฟอร์นิเจอร์ไอเดียเด็ด

23 Apr 2009

กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--สวทช.

iTAP จับมือสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย สานต่อความร่วมมืออย่างเป็นทางการ ผ่านโปรเจค “เปลี่ยนขยะเป็นทอง รับกระแสโลกร้อน สร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือทิ้ง” เน้นการเริ่มคิดจากเศษวัสดุ นำมาผ่านกระบวนการออกแบบที่เป็นระบบทั้งศาสตร์และศิลป์ และการใช้สอยได้จริง คาดโปรเจคนี้จะเป็นต้นแบบการนำของเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด

อุตสาหกรรมไม้เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและสร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศในแต่ละปีกว่า 6 หมื่นล้านบาท (ที่มา : กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์) ด้วยความสำคัญนี้โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงเร่งผลักดันและสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรสำคัญได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย (TFA) จากแนวทางความร่วมมือกันในหลายครั้งที่ผ่าน ยังทำให้เกิดเป็นการจัดพิธีลงนามความร่วมมือใน “โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนเพื่อความยั่งยืน”ภายใต้โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)ระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย(TFA) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่จะสานต่อการทำงานของทั้งสององค์กรอย่างเป็นทางการผ่าน iTAP ในการสนับสนุนภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนให้สามารถสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการต่อยอดความร่วมมือดังกล่าวยังได้มีการนำเสนอโครงการต้นแบบผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ ณ งาน Thailand International Furniture Fair 2009 (TIFF) ภายใต้โครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง : รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้” เพื่อแนะนำโครงการและนำเสนอต้นแบบผลิตภัณฑ์ของ 3 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด บริษัท Grandness จำกัด และบริษัท สยามโกลบอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบของการนำของเหลือทิ้งมาสร้างมูลค่าและให้เกิดประโยชน์

ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นทองฯ กล่าวว่า “ปริมาณจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำนั้น ทำให้เกิดขยะขึ้นมหาศาล ดังนั้นต้องกลับมามองใหม่เพื่อกำจัดของเหลือทิ้งเหล่านั้น เช่น อาจส่งไปฝังกลบ ขายรีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ใหม่ อย่างวัสดุเหลือทิ้งพวกกะลามะพร้าว ฟางข้าว เศษเหล็ก เศษกระจก สิ่งเหล่านี้เราต้องมองว่าไม่ได้เป็นขยะ แต่เป็นโอกาสที่จะนำกลับมาคิด และออกแบบใหม่”

ผศ.ดร.สิงห์ กล่าวอีกว่า การ Reuse จึงไม่ใช่เพียงนำสิ่งของที่หลายคนเห็นว่าไร้ค่ากลับมาใช้และช่วยลดปริมาณขยะเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการปฏิบัติการอย่างเป็นระบบที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วัสดุศาสตร์ การออกแบบ และประโยชน์ใช้สอยมาผนวกกับศิลปะเพื่อสร้างสรรค์งานจากชิ้นขยะหรือเศษวัสดุที่ใช้งานได้จริงและสวยงามพอที่คนจะยินดีนำชิ้นงานนั้นกลับไปใช้อย่างภูมิใจ

นอกจากนี้การจัดการและคัดแยกของเหลือทิ้งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก จะทำให้ทราบถึงลักษณะ ขนาด และปริมาณ ทำให้การคิดที่จะนำของเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่เป็นไปได้ การออกแบบจากของเหลือทิ้งต้องการวิธีคิดใหม่หรือต้องคิดนอกกรอบเพราะเศษเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ปัญหามาก่อน ต้องมีขั้นตอนการทดลองหาวิธีดัดแปลงหรือผสมผสานเศษวัสดุด้วยกระบวนการต่างๆ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

ต้นแบบของผลิตภัณฑ์ในโครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง: รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้” นี้ จึงออกแบบมาจากการ reuse ขยะที่คัดแยกแล้ว อีกทั้งพื้นฐานการ Reuse เน้นไปที่การนำชิ้นขยะมาเป็นส่วนประกอบหลักของชิ้นงาน โดยไม่แปรรูปวัสดุตัวนั้น เช่น เศษไม้จะยังเห็นขนาดของเศษไม้อย่างชัดเจน ฝาน้ำดื่ม จะยังเห็นเป็นฝาน้ำดื่มอยู่ ลิปสติก ไส้ปากกา ก็ยังคงเป็นวัสดุนั้นอยู่ เราอาจจำไม่ได้หากไม่พินิจดีๆ เหมือนกับการใช้คุณสมบัติของตัววัสดุที่ดีและสวยงามอยู่แล้วมาทำเป็นชิ้นงานใหม่ที่ทำให้วัสดุนั้นกลับมามีค่าอีกครั้ง

“สิ่งสำคัญ คือ ต้องรู้จักจินตนาการและดึงคุณสมบัติของเศษเหล่านี้ออกมาใช้และต้องพยายามดึงคุณสมบัติเด่นๆหรือศักยภาพของวัสดุออกมา เช่น รูปทรง ความพลิ้วของวัสดุ ความเงางามของสี ความใส วัสดุนั้นมองจากมุมไหนถึงสวย และพิจารณาว่า เราทำอะไรได้มากแค่ไหน ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้ว่าการดีไซน์จะเป็นสิ่งที่เปิดกว้าง แต่ก็ไม่ใช่การเพ้อฝันหรือคิดเรื่อยเปื่อยเพราะจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติเฉพาะของวัสดุ กระบวนการผลิต และประโยชน์ใช้สอยอีกด้วย และคาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการนำวัสดุเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ต่อไป”

ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ iTAP

โทร. 0-2270-1350-4 ต่อ 114-115

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net