สสส. หนุนชาวบ้านพัฒนาร้านค้า 5 ส. ปูแนวทางสร้างสุขภาพดีถ้วนหน้าสู่ชุมชน

10 Feb 2009

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--สสส.

จากสถานการณ์โรคติดต่อที่เกิดขึ้นกับประชากรในพื้นที่ ต.ขึ่ง อ.เวียงสา จ.น่าน ที่สถานีอนามัยตำบลขึ่งสำรวจไว้ในปี 2551 พบว่ามีสถิติการเป็น โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมากที่สุดเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ โรคอาหารเป็นพิษ โดยมีสาเหตุเกิดจากการบริโภคอาหารที่หมดอายุ เสื่อมคุณภาพ และมีขั้นตอนการปรุงที่ไม่ถูกสุขอนามัย อีกทั้งมีการใช้สารเคมีอย่างหนักในพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆ ต่อชาวบ้านในชุมชน

องค์การบริหารส่วนตำบลขึ่ง จึงได้ร่วมกับ สถานีอนามัยตำบลขึ่ง, สำนักงานสาธาณสุขอำเภอเวียงสา และ เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอำเภอเวียงสา จัดทำ “โครงการชุมชนขึ่งร่วมใจพัฒนาร้านค้า 5 ส. เพื่อสุขภาพดี” ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ประชากร ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ โดยมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้ให้การสนับสนุน

นายประทาน มาไชย หัวหน้าโครงการชุมชนขึ่งร่วมใจฯ และคณะกรรมการเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคตำบลขึ่ง เปิดเผยว่า ตำบลขึ่งแบ่งพื้นที่ออกเป็น 7 หมู่บ้าน มีประชากรรวมทั้งสิ้น 4,148 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีการปลูกพืชเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ส่งขายให้แก่องค์กรเอกชน ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงอย่างหนักในพื้นที่เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด โดยเกษตรกรไม่ได้คำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองและชุมชน

ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในระบบการซื้อขายเครื่องอุปโภคและบริโภค คือร้านค้าชุมชนที่ประชาชนส่วนใหญ่มาจับจ่ายใช้สอยอยู่เป็นประจำ ซึ่งมีอยู่จำนวน 26 ร้าน แบ่งเป็นร้านขายของชำ 14 ร้าน และร้านอาหารแผงลอยจำนวน 12 ร้านนั้น บางร้านค้ามีการจัดร้านไม่เป็นสัดส่วน มีการวางสินค้าปะปนกันระหว่างอาหารและของใช้ในครัวเรือนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ผงปรุงรสอาหารแขวนรวมอยู่กับผงซักฟอก

นอกจากนี้ยังมีการแอบจำหน่ายยาที่เป็นอันตราย เช่นยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวดข้อ รวมถึงยังมีสินค้าที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพวางขายอยู่ ปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลให้ประชาชนในชุมชนเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ รวมถึงปัญหาเด็กท้องเสียจากการดื่มนมบูด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ซื้อขาดความรู้ในการเลือกซื้ออาหารในการบริโภค รวมทั้งผู้ขายขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน

“ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบด้านสุขภาพโดยตรง จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะต้องมีการพัฒนาระบบการจัดการผลิตและบริโภคอาหารสุขภาพ ซึ่งโครงการชุมชนขึ่งร่วมใจพัฒนาร้านค้า 5 ส. เพื่อสุขภาพดี ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2550 นับเป็นหนึ่งกิจกรรมที่จะเป็นช่องทางในการช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี ซึ่งประชาชนในฐานะผู้ซื้อและผู้ขาย จะต้องได้เลือกซื้อเลือกใช้อาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยใช้หลัก 5 ส.” นายประทานกล่าว

การดำเนินโครงการพัฒนาร้านค้า 5 ส.ฯ เริ่มจากการให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน ได้อธิบายทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่ต้องมีการพัฒนาร้านค้า กระตุ้นให้เจ้าของร้านมีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน โดยชี้ให้เห็นว่าชุมชนก็คือครอบครัว ประกอบด้วยญาติมิตร พี่น้อง ลูกหลาน ที่ต้องเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน พร้อมเชิญชวนเจ้าของร้านค้าต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นในการพัฒนาร้านค้าผ่านเวทีเรียนรู้ ซึ่งจะมีนักวิชาการสาธารณสุขมาให้ความรู้เกี่ยวกับ 5 ส. แก่ผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการอย่างใกล้ชิด

นางสาวสมพร ประสงค์ นักวิชาการสาธารณสุข สถานีอนามัยตำบลขึ่ง เปิดเผยว่า หลักการ 5 ส. ได้แก่ ส.ที่ 1 สะสาง ผู้ประกอบการจะต้องตรวจสอบร้านค้าของตนเอง ขจัดสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สินค้าหมดอายุ ชำรุดเสียหาย ออกจากร้านให้หมด เนื่องจากสินค้าเหล่านี้เมื่อนำไปบริโภคหรืออุปโภคจะทำให้เสียสุขภาพ ส.ที่ 2 คือสะอาด ร้านค้าต้องทำความสะอาดปัดฝุ่นทำความสะอาดร้านอย่างสม่ำเสมอ ส.ที่ 3 คือสะดวก ร้านค้าต้องจัดวางสินค้าให้สะดวกต่อการหยิบจับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ส.ที่ 4 คือถูกสุขภาพลักษณะสุขาภิบาลอาหาร และ ส.ที่ 5 คือสร้างนิสัยให้ผู้ซื้อและผู้ขายให้มีการรักษา 4 ส.แรกอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

“ในช่วงแรกของการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการร้านค้ามาเข้าร่วมโครงการ ส่วนใหญ่ได้รับคำตอบจากผู้ค้าว่ายาก แต่ทางโครงการฯ นอกจากจะสนับสนุนให้ความรู้แล้ว ยังอาสาช่วยจัดแต่ง ตรวจสอบสินค้า และปรับปรุงวิสัยทัศน์ของร้านค้าให้เป็นไปตามหลัก 5 ส. รวมถึงมีการมอบป้ายร้านค้า 5 ส. และจัดทำแผ่นป้ายบอกรายละเอียดหมวดหมู่สินค้าให้แก่ร้านค้าอีกด้วย ส่วนร้านค้าที่ขายอาหารสด เช่น เขียงเนื้อ เขียงหมู ก็สนับสนุนด้วยการติดมุ้งให้ในบริเวณที่เป็นจุดแร่เนื้อ เพื่อป้องกันแมลงไปวางไข่ และเชื้อโรคที่แฝงอยู่ในอากาศ” นางสาวสมพรกล่าว

ทางด้าน นางสายใจ ปันทะนะ เจ้าของร้านขายของชำซึ่งได้ตอบรับเข้าโครงการโดยปฏิบัติตามหลัก 5 ส.เป็นรายแรก เปิดเผยว่า “แต่ก่อนนี้ทางร้านก็มีการจัดสินค้าไม่เป็นระเบียบ ลูกค้าเคยบ่นว่าหาสินค้าที่ต้องการไม่เจอ สินค้าก็ขายไม่ได้เพราะไม่รู้เก็บอยู่ตรงไหน พบอีกทีก็หมดอายุแล้ว ซึ่งเมื่อนำหลัก 5 ส.มาใช้ ปรากฏว่ายอดขายดีขึ้น เพราะสินค้าหาง่าย จากมีป้ายบอกหมวดหมู่สินค้า และทางร้านก็รู้สึกภูมิใจที่คนซื้อได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพ เกิดความไว้วางใจ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน”

การนำหลัก 5 ส. มาใช้ในร้านค้าและในชีวิตประจำวัน นอกจากจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวบ้านในการเลือกซื้อและการจำหน่ายสินค้าแล้ว ยังสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่คนในชุมชน นับเป็นแนวหนึ่งทางที่จะให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดีตามวิถีสุขภาพพอเพียงอย่างยั่งยืน.

PP

เบอร์โทรศัพท์ : 081

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net