ฟิทช์ : ภาพรวมผลประกอบการปี 2551 ของธนาคารไทยยังคงแข็งแกร่ง แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2552

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์

ฟิทช์ เรทติ้งส์ แสดงความเห็นว่าผลการดำเนินงานของธนาคารไทยมีแนวโน้มที่อ่อนแอลงในปี 2552 หลังจากได้ประกาศผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปี 2551 ท่ามกลางวิกฤติการณ์ทางการเงินของโลกและความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ จากการประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจของฟิทช์ที่คาดว่าการเติบโตของ GDP ของประเทศไทยจะติดลบ 1.1% ในปี 2552 ทำให้ธนาคารไทยอาจเผชิญกับปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์และการขยายตัวของสินเชื่อที่ต่ำ อย่างไรก็ตามด้วยพื้นฐานของธนาคารไทยที่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งจะสามารถช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ วินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการของฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) และนักวิเคราะห์อาวุโสในส่วนสถาบันการเงิน กล่าวว่า ด้วยผลการดำเนินงานของธนาคารไทยที่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น และการเติบโตของสินเชื่อที่ไม่สูงนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะส่งผลให้ธนาคารไทยมีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะรุนแรงในปีนี้ เมื่อเทียบกับในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 – 2541 ธนาคารไทยประกาศผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปี 2551 โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) เฉลี่ยอยู่ที่ 1.1% เพิ่มขึ้นจาก 0.3% ในปี 2550 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง และการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบลดลงมาอยู่ที่ 7% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2551 จาก 9% ณ สิ้นปี 2550 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ธนาคารบางแห่งได้มีนโยบายในการเร่งรัดการปรับโครงสร้างสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แม้ว่าการเติบโตของสินเชื่อที่ค่อนข้างสูงในระดับ 11% และการปฏิบัติตามมาตรฐาน Basel II ในสิ้นเดือนธันวาคม 2551 จะส่งผลให้ระดับเงินกองทุนของธนาคารไทยลดลงบ้าง แต่ธนาคารไทยโดยรวมยังคงมีระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งอยู่ โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมของธนาคารไทยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 11% และ 14% ของสินทรัพย์เสี่ยง ตามลำดับ ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ได้ประกาศผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในปี 2551 โดย BBL มีกำไรสุทธิ 20.3 พันล้านบาท และมี ROA 1.2% SCB มีกำไรสุทธิ 21.3 พันล้านบาท และมี ROA 1.8% และ KBANK มีกำไรสุทธิ 15.3 พันล้านบาท และมี ROA 1.3% ถึงแม้ว่าธนาคารทั้ง 3 แห่งนี้ คาดว่าจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่ดีต่อไปได้ ฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารไทยโดยรวมจะอ่อนแอลงในปี 2552 จากการเติบโตของสินเชื่อที่ลดลง ในขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และระดับการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตามระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคารไทยจะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับผลกระทบดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง ธนาคารขนาดเล็กอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องที่ลดลงและการระดมเงินทุนที่ทำได้ยากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการค้ำประกันเงินฝากในปัจจุบันจะช่วยรักษาเสถียรภาพในการระดมเงินทุนในอีก 3 ปีข้างหน้าได้ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT เป็นธนาคารเดียวที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนในปี 2551 โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 1.9 พันล้านบาท ในขณะที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB มีผลการดำเนินงานขาดทุน 4 พันล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2551 เนื่องจากการใช้นโยบายการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เข้มงวดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม TMB ยังคงมีกำไรสุทธิสำหรับผลการดำเนินงานปี 2551 ที่ 0.5 พันล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY มีผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย BAY มีกำไรสุทธิ 4.9 พันล้านบาทในปี 2551 เมื่อเทียบกับผลขาดทุนสุทธิ 4 พันล้านบาทในปี 2550 ในขณะที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิ 12.1 พันล้านบาท ในปี 2551 แต่ KTB ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมในระดับที่สูง เนื่องจากอัตราเงินสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 40% ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารไทยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากการปรับโครงสร้างสินเชื่อ การขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และการตัดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกจากบัญชี ในปี 2551 BBL สามารถลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลงถึง 27.5 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารลดลงเหลือ 4.6% จาก 7.9% ณ สิ้นปี 2550 ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ KBANK เป็นธนาคารที่มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่ำที่สุดในระบบ โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.7% ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SCB ปรับตัวดีขึ้นเป็น 5.5% ณ สิ้นปี 2551 จาก 6.3% ณ สิ้นปี 2550 TMB และ BAY ยังคงมีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับที่สูงที่ 16.4% และ 10.1% ตามลำดับ โดยทั้งนี้คาดว่าธนาคารทั้งสองแห่งจะเร่งดำเนินการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้แนวโน้มของคุณภาพสินทรัพย์โดยรวมของธนาคารไทยที่ปรับตัวดีขึ้นในปีที่ผ่านมา อาจมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้ามในปี 2552 จากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่รุนแรง ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2551 แนวโน้มอันดับเครดิตสากลของธนาคารไทยส่วนใหญ่ได้ถูกปรับเป็น ‘ลบ’ จาก ‘มีเสถียรภาพ’ เมื่อเดือนธันวาคม 2551 หลังจากที่แนวโน้มอันดับเครดิตสากลของประเทศไทยได้ถูกปรับเป็น ‘ลบ’ การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม กสิกรไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้น 99.99% โดยธนาคารกสิกรไทย ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759 พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4761

ข่าวธนาคารไทยยังคงแข็งแกร่ง+ฟิทช์ เรทติ้งส์วันนี้

BAFS เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ชุดใหม่ ชูดอกเบี้ย 4.75 - 5.10% ต่อปี คาดเปิดจองซื้อแก่ "สถาบัน-รายใหญ่" วันที่ 9 - 14 พ.ค. นี้ รองรับการขยายตัวธุรกิจในอนาคต

BAFS เตรียมออกหุ้นกู้ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ อายุ 3 ปี 9 เดือน อัตราดอกเบี้ยคงที่ [ 4.75 5.10 ] % ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุก 6 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ ด้วยอันดับความน่าเชื่อถือ "BBB (tha)" จาก ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) เตรียมเสนอขายผู้ลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่ คาดจองซื้อระหว่างวันที่ 9 และ 13 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย), บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส และ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี ม.ล. ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล

ฟิทช์คงอันดับเครดิตของ บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ 'AA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LHS ที่ 'AA(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ...

ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บจก.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค ในเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ (Rating Watch Negative; RWN) ของอันดับเครดิต บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ท...

ฟิทช์: ผลการดำเนินงานของธนาคารไทยยังคงแข็งแกร่ง แต่แนวโน้มของผลการดำเนินงานยังคงมีความเสี่ยง

ฟิทช์ เรทติ้งส์ แสดงความเห็นไว้ในรายงานฉบับพิเศษว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีผลการดำเนินงานโดยรวมที่แข็งแกร่ง หลังจากที่ได้ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมืองในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วินเซนต์ มิลตัน...

ฟิทช์: ธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงแข็งแกร่งแต่มีแนวโน้มที่อ่อนแอลง

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้แสดงความคิดเห็นไว้ในรายงานฉบับพิเศษของบริษัท เรื่อง “Impact of Global Financial Crisis and Political Turmoil on Thai Banks: Resilient But Outlook Worsens” ว่าจนถึงปัจจุบันภาคธนาคารไทยยังคงแข็งแกร่งและไม่...

ฟิทช์: ภาพรวมผลประกอบการครึ่งปีแรกของธนาคารไทยฟื้นตัว ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ แสดงความเห็นว่าผลประกอบการสำหรับครึ่งแรกของปี 2551 ของธนาคารไทยยังคงแข็งแกร่ง แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวและการเมืองขาดเสถียรภาพ ทั้งนี้ธนาคารไทยโดยรวมมีผลประกอบการและฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นจากปีก่อน อย่างไรก็ตาม...