บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) คงเดิมที่ระดับ “BBB+” ในขณะเดียวกันก็ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จาก ”Stable” หรือ “คงที่” เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าประมาณการจากผลของภาวะธุรกิจขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือ นอกจากนี้แนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และอุปทานส่วนเกินของเรือที่มีจำนวนมากยังเป็นปัจจัยกดดันต่อความสามารถในการสร้างผลกำไรและสภาพคล่องของบริษัทในระยะสั้นและระยะปานกลางด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงคณะผู้บริหารของบริษัทที่มีความสามารถและประสบการณ์ ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดผู้ประกอบการขนส่งทางเรือระดับภูมิภาคอันเนื่องมาจากความได้เปรียบในเรื่องขนาดของกองเรือ ความถี่ในการให้บริการ และอายุเฉลี่ยของกองเรือที่ยังต่ำ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ต่ำกว่าประมาณการเนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ชะลอตัว บริษัทเผชิญกับความท้าทายในการปรับปรุงผลกำไรจากการดำเนินงานในช่วงที่ อุปสงค์ลดต่ำลง การเพิ่มขึ้นของเรือใหม่ และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากบริษัทไม่สามารถฟื้นกำไรจากการดำเนินงานและสร้างความแข็งแกร่งด้านสภาพคล่องได้ อันดับเครดิตจะได้รับผลกระทบในทางลบหากบริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพื่อการจ่ายคืนตั๋วสัญญาใช้เงินที่จะครบกำหนดในเดือนมกราคม 2553 ได้ภายในเดือนตุลาคม 2552 นี้ ในขณะเดียวกันแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับกลับมาเป็น “Stable” หรือ “คงที่” หากบริษัทประสบความสำเร็จในการลดต้นทุนพร้อมกับมีอัตราส่วนกำไรอยู่ในระดับที่น่าพอใจและสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งเพื่อใช้ในการจ่ายคืนหนี้และการลงทุน
ทริสเรทติ้งรายงานว่าบริษัท อาร์ ซี แอลเป็นผู้ประกอบการกองเรือสินค้าขนาดเล็ก หรือเรือฟีดเดอร์ (Feeder Business) ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลทางสถิติของการท่าเรือสิงคโปร์และตัวแทนในท้องถิ่นของบริษัท บริษัทมีส่วนแบ่งสูงที่สุดในตลาดเรือขนส่งสินค้าขนาดเล็กระหว่างท่าเรือย่อยกับเรือเดินสมุทรในเส้นทางสิงคโปร์กับฟิลิปปินส์ กับมาเลเซีย และกับไทย ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความถี่ของการให้บริการต่อสัปดาห์และขนาดของกองเรือโดยเฉลี่ยที่มีขนาดใหญ่ซึ่งสามารถขนส่งสินค้าได้เป็นจำนวนมาก บริษัทยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการ 30 รายที่มีกองเรือขนาดใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปริมาณการค้าที่ลดลงส่งผลให้บริษัทต้องลดระวางบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ลงโดยการคืนเรือเช่าแก่ผู้ให้เช่าซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์ของกองเรือ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 บริษัทมีระวางบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสิ้น 52,128 ตู้ (TEU) โดยมีเรือของตนเองจำนวน 34 ลำ และมีเรือเช่าระวาง 7 ลำ โดยที่ความจุระวางในการบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทลดลงประมาณ 8% จาก ณ สิ้นปี 2551 การที่บริษัทมีกองเรือขนาดใหญ่จึงทำให้ง่ายต่อการจัดตารางเวลาและความถี่ในการให้บริการมากกว่าผู้ประกอบการรายอื่นซึ่งมีกองเรือที่มีขนาดเล็กกว่า นอกจากนี้ การที่เรือส่วนใหญ่ของบริษัทยังมีอายุน้อยโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 10 ปีจึงทำให้บริษัทได้ประโยชน์ในเรื่องของการประหยัดน้ำมันและมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่ต่ำ
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือมีลักษณะเป็นวงจรที่ขึ้นและลงเป็นอย่างมากซึ่งจะกินเวลารอบละประมาณ 5-6 ปี อุปสงค์ของธุรกิจการเดินเรือเกี่ยวเนื่องเป็นอย่างมากกับภาวะเศรษฐกิจและการค้า โดยที่ภาวะเศรษฐกิจโลกจะมีผลกระทบต่อธุรกิจกองเรือฟีดเดอร์ (SOC Business) ในขณะที่การค้าภายในภูมิภาคเอเซียเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อธุรกิจเรือบริการขนส่งตู้สินค้าประจำเส้นทาง (COC Business) ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเริ่มปรากฏชัดในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 โดยที่ปริมาณการขนส่งของบริษัทเริ่มลดลง 2% ปริมาณการขนส่งสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องจากปริมาณการขนส่งสินค้าของธุรกิจกองเรือฟีดเดอร์ลดลงอย่างมาก โดยลดลง 4% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 และ 31% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา การที่ภาวะเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศแถบเอเซียยังคงเข้มแข็งกว่าในสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรปจึงส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าของธุรกิจเรือบริการขนส่งตู้สินค้าประจำเส้นทางเพิ่มขึ้น 1% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 และลดลงเพียง 10% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
อัตราค่าระวางของการขนส่งสินค้าทางเรือโดยเฉลี่ยของบริษัทก็ปรับตัวลดลงเช่นกันจาก 208 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ในปี 2550 เป็น 201 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ในปี 2551 สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อัตราค่าระวางยังคงลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 180 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้จากผลของปริมาณการขนส่งสินค้าที่ชะลอตัวและอุปทานส่วนเกินของระวางการบรรทุกสินค้า โดยการขึ้นอัตราค่าระวางนั้นจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ระวางการบรรทุกสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10% จากจำนวนเรือที่จะส่งมอบในช่วงปี 2553-2555 จะยังคงเป็นปัจจัยในการกดดันการขึ้นค่าระวาง ในปี 2551 รายได้รวมของบริษัทลดลง 1% สู่ระดับ 19,532 ล้านบาทเนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและอัตราค่าระวางที่ลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม รายได้รวมของบริษัทลดลงอย่างมากถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สู่ระดับ 7,212 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เนื่องจากการปรับตัวลดลงอย่างมากของปริมาณการขนส่งสินค้าและอัตราค่าระวาง กำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ (หลังปรับค่าเช่าดำเนินงาน) ลดลงจาก 17.0% ในปี 2550 มาเป็น 4.1% ในปี 2551 เนื่องจากอัตราค่าระวางที่ปรับลดลง ตลอดจนต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น และผลขาดทุนจากการทำสัญญาประกันการซื้อน้ำมัน แม้ว่าราคาน้ำมันในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จะลดลงมากกว่า 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่การปรับตัวลดลงอย่างมากของปริมาณการขนส่งสินค้าและอัตราค่าระวางได้ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานต่อรายได้ที่ระดับ -13.9% ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้น โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 33.7% ในปี 2550 เป็น 44.7% ในปี 2551 และ 44.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เนื่องจากบริษัทมีการกู้ยืมระยะยาวเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการซื้อเรือใหม่ ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (หลังปรับค่าเช่าดำเนินงาน) ลดลงจาก 7.5 เท่าในปี 2551 เป็นเพียง 0.1 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 จากการที่วงเงินสินเชื่อของบริษัทมีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับผลประกอบการทางการเงินและหนี้สิน อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายและอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจึงเกินกว่าระดับที่กำหนดมาตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคม 2552 อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับการผ่อนปรนที่จะไม่ต้องดำรงอัตราส่วนดังกล่าวจากเจ้าหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2554
บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) (RCL)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Negative (ลบ) จาก Stable (คงที่)
เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งหุ้นโลจิสติกส์ ที่น่าจับตาและมีความโดดเด่นไม่แพ้หุ้นโลจิสติกส์ตัวอื่นๆ สำหรับ บมจ. เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ "MPJ" ผู้นำโลจิสติกส์แบบครบวงจรและผู้นำด้านบริหารลานตู้คอนเทนเนอร์ เพราะหลังจากที่แจ้งผลการดำเนินงานงวดปี 2567 ที่เข้าเป้าแบบปังๆ แล้ว ยังใจป้ำจ่าย ปันผลในอัตราหุ้นละ 0.30 บาทอีก ทำเอางานนี้ บอสใหญ่ "จีระศักดิ์ มานะตระกูล" ถึงกับได้ใจเหล่าบรรดาผู้ถือหุ้นไปอีกเพียบ ก็แหมเพิ่งเข้า mai ได้ไม่นาน เล่นแจกปันผลแบบฉ่ำๆ ขนาดนี้ แล้วจะไม่ให้รักหุ้น MPJ ได้ไง
หลังรายงานผลประกอบการปี 2567 เรียกว่าราศีจับทันที สำหรับ MPJ หรือ บริษัท เอ็ม พี เจ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ MPJ ผู้นำโลจิสติกส์แบบครบวงจรและผู้นำด้านบริหารลานตู้คอนเทนเนอร์ ที่ผลงานเข้าเป้า ยิลด์เกือบ 10% เติบโตปีละ 20% แถมยังปันผลสูง กลาย...
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีเกิดเหตุพัดลมระบายอากาศภายในอุโมงค์ทางลอดกรุงเทพกรีฑาร่วงหล่นว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น คาดว่าสาเหตุมาจากรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์สูงและล้ำเข้าไปในเส้นขอบทาง ทำให้เกี่ยว...