ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน “บ. น้ำตาลขอนแก่น” ที่ “A-/Stable”

19 Aug 2009

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานของบริษัทในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล และสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม การให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงแผนการขยายงานของบริษัท ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชา รวมทั้งความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลก

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลขอนแก่นจะยังคงดำรงสถานะการเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยเอาไว้ได้ ผลผลิตน้ำตาลทรายของบริษัทในช่วงปี 2552-2553 ที่ลดลงจากผลของการย้ายโรงงานคาดว่าจะได้รับการชดเชยจากราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับสูง โครงการปลูกอ้อยและโรงงานน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชาคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2552 ตามแผน ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาความเข้มแข็งของฐานะทางการเงินเอาไว้ได้เพื่อรองรับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศ

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทน้ำตาลขอนแก่นเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลชินธรรมมิตร์และคณะ ปัจจุบันตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทรวม 68.3% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 4 แห่งในจังหวัดขอนแก่น กาญจนบุรี และชลบุรี โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม 66,000 ตันอ้อยต่อวัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถจัดหาอ้อยได้ปีละประมาณ 4-5 ล้านตันอ้อย และมีผลผลิตน้ำตาลทรายเฉลี่ย 500,000 ตันต่อปี ในปีการผลิต 2551/2552 กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถจัดหาอ้อยคิดเป็นสัดส่วน 6.74% ของปริมาณอ้อยทั้งประเทศ ถือเป็นอันดับ 4 รองจากกลุ่มมิตรผลซึ่งมีสัดส่วน 17.95% กลุ่มไทยรุ่งเรือง 17.65% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ 14.45%

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2549 บริษัทน้ำตาลขอนแก่นยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยอันประกอบด้วยธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอล โดยในปี 2551 รายได้จากเอทานอลคิดเป็นสัดส่วน 8% ของยอดขายรวมของบริษัท เพิ่มขึ้นจาก 4% ในปี 2550 จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของน้ำมันแก๊สโซฮอลเนื่องจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายค่อนข้างคงที่ที่ระดับ 13%-17% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย

โรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ของกลุ่มน้ำตาลขอนแก่นที่ประเทศลาวและกัมพูชาได้ผ่านการทดสอบเครื่องจักรเรียบร้อยแล้วเมื่อต้นปี 2552 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปีการผลิต 2552/2553 โดยทั้ง 2 โครงการมีเงินลงทุนรวม 4,700 ล้านบาท ทั้งนี้ เครื่องจักรบางส่วนที่ใช้ในโรงงานทั้ง 2 แห่งย้ายมาจากโรงงานของบริษัทที่ชลบุรี จึงส่งผลให้กำลังการหีบอ้อยรวมภายในประเทศของกลุ่มในปีการผลิต 2551/2552 ลดต่ำลง โดยปริมาณน้ำตาลทรายที่บริษัทผลิตได้ในปีการผลิต 2551/2552 มีจำนวน 495,603 ตัน ลดลง 18% จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำตาลทรายของทั้งประเทศลดลงเพียง 8% บริษัทคาดว่าจะสามารถส่งออกน้ำตาลทรายดิบที่ผลิตจากโรงงานในลาวและกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศยุโรปในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลกภายใต้โครงการการให้สิทธิปลอดภาษีและโควต้าแก่สินค้านำเข้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Everything But Arms -- EBA) อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางด้านการเมือง กฎระเบียบ และการดำเนินงานโรงงานน้ำตาลในประเทศทั้งสองดังกล่าวยังเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง นอกจากการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศแล้ว บริษัทยังวางแผนจะขยายธุรกิจน้ำตาลในจังหวัดกาญจนบุรีด้วยโดยใช้งบลงทุน 7,250 ล้านบาทในการย้ายโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิมไปยังที่ตั้งแห่งใหม่ในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งขยายกำลังการหีบอ้อยเพิ่ม และสร้างโรงงานผลิตเอทานอลและโรงไฟฟ้าขนาด 90 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ คาดว่าโครงการส่วนแรกจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2553 และส่วนที่ 2 จะเสร็จภายในปี 2554

บริษัทน้ำตาลขอนแก่นมีฐานะทางการเงินที่ดีมาโดยตลอด โดย ณ เดือนเมษายน 2552 บริษัทมียอดเงินกู้รวม 7,966 ล้านบาท และมีส่วนของทุน 10,880 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 32.85% ในปี 2551 เป็น 42.27% ณ เดือนเมษายน 2552 จากผลของการใช้เงินลงทุนในประเทศลาวและกัมพูชา รวมถึงการมีหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูการผลิต ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยระหว่างปี 2553-2554 ในช่วงที่มีการพัฒนาโครงการน้ำตาลแห่งใหม่ในจังหวัดกาญจนบุรี

ทริสเรทติ้งกล่าวถึงปริมาณผลผลิตอ้อยในประเทศว่าค่อนข้างผันผวนเป็นอย่างมากมาโดยตลอดซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน พื้นที่เพาะปลูก และราคาอ้อยเมื่อเทียบกับพืชผลทางการเกษตรประเภทอื่นๆ ผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2551/2552 อยู่ในระดับ 66.5 ล้านตัน ลดลง 9.3% จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2552/2553 จะมีปริมาณอย่างต่ำไม่น้อยกว่าในปีก่อน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 13 เซนต์/ปอนด์ในช่วงปลายปี 2551 เป็นประมาณ 17 เซนต์/ปอนด์ในเดือนมิถุนายน 2552 จากผลของการขาดแคลนผลผลิตน้ำตาลในประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆ เป็นสำคัญ ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำตาลจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ต่อไปในปีการผลิตหน้า