แนวโน้มตลาดอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืชบูม ผลักดันไทยสู่เวทีโลก

02 Sep 2009

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--เบรนเอเซีย

สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย ชี้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรที่จะเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ในปัจจุบันตลาดเมล็ดพันธุ์เริ่มมีการแข่งขันสูงขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศอันอุดมสมบูรณ์และภูมิอากาศที่หลากหลายเหมาะแก่การผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ส่งผลให้ประเทศมีมูลค่าการค้าเมล็ดพันธุ์พืชไร่ทั้งภายในประเทศและส่งออกติดอันดับหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของภูมิภาคเอเซีย และในปี 2552 นี้ คาดว่ามูลค่าตลาดเมล็ดพันธุ์ในประเทศและส่งออกประมาณ 6,000 ล้านบาท เตรียมสนับสนุนสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (APSA) จัดงานประชุม Asian Seed Congress 2009 ที่กรุงเทพฯ วันที่ 8-12 พฤษจิกายน นี้ เผย 44 ประเทศตอบรับเข้าร่วมประชุมภายใต้หัวข้อ “เมล็ดพันธุ์เพื่ออาหารของโลก (Seed for Global Food)”

นายพาโชค พงษ์พานิช นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THAI SEED TRADE ASSOCIATION - THASTA) และรองประธานกรรมการ คณะกรรมการจัดการประชุม Asian Seed Congress 2009 เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดและการแข่งขันในอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืชของประเทศไทยในปี 2552 นี้ สำหรับพืชไร่ซึ่งมีข้าวโพดไร่เป็นพืชหลัก ภาวะตลาดเมล็ดพันธุ์ค่อนข้างคงตัวทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 18,000 ตัน จากพื้นที่ปลูกทั้งสองรุ่น (รุ่นแรกช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน และรุ่นที่สองช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) และมีแนวโน้มลดลงในรุ่นที่สองรวมทั้งข้าวโพดหลังนา เนื่องจากราคาผลผลิตรุ่นแรกตกต่ำ ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่น เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และถั่วเขียวผิวมัน เป็นต้น การแข่งขันด้านเมล็ดพันธุ์ค่อนข้างสูงเนื่องจากมีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีให้เกษตรกรเลือกอย่างพอเพียงในขณะที่ตลาดเริ่มหดตัว ทำให้มูลค่าการค้าเมล็ดพันธุ์พืชไร่ในประเทศต่อปี อยู่ที่ประมาณ 2,300 ล้านบาท และมูลค่าส่งออกข้าวโพดไร่ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยมูลค่ารวมตลาดเมล็ดพันธุ์พืชผัก พืชไร่ และไม้ประดับในประเทศรวมอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท โดยมีพื้นฐานมาจากพืชไร่ที่สำคัญ เช่น ข้าวโพดไร่ ทานตะวัน และข้าวฟ่าง ส่วนเมล็ดพันธุ์ผักที่สำคัญ 5 อันดับ ได้แก่ พืชตระกูลแตง เช่น แตงโม แตงกวา พืชตระกูลกระหล่ำ เช่น กระหล่ำปลีและกระหล่ำดอก และข้าวโพดหวาน ด้านความคืบหน้าของไทยในการเพิ่มบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งพัฒนาพันธุ์ของตนเองเพื่อการส่งออกของเมล็ดพันธุ์พืชไร่และพืชผัก ตามนโยบายของรัฐที่สนับสนุนให้เอกชนเข้ามาทำงานวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงคุณภาพของงานปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อการค้าเมล็ดพันธุ์ได้เป็นอย่างดี โดยที่มีเอกชน และหน่วยงานของรัฐ มีพันธุ์ที่คุณภาพดีเป็นของตนเองที่พัฒนาขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง

ปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ของไทย อาทิ ปัญหาเรื่องการการละเมิดและการลักลอบผลิตเมล็ดพันธุ์ผู้อื่น, การลักลอบซื้อเมล็ดพันธุ์จากแปลงผลิตและนำมาขายในราคาที่ต่ำกว่าเนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายด้านงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาด้านการตลาด, การปลอมแปลงสินค้าออกมาจำหน่าย, ปัญหาในทางปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆที่กระทบต่อผู้ประกอบการ เช่น พรบ.พันธุ์พืช ที่มีระเบียบบางประการที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของธุรกิจเมล็ดพันธุ์, ปัญหาการนำเข้า-ส่งออกของเมล็ดพันธุ์ ที่เป็นอุปรรคต่อการค้าเมล็ดพันธุ์ระหว่างประเทศ อันเนื่องจากกฎระเบียบบางประการ เช่น การประเมินความเสี่ยงของศัตรูพืชที่ไม่เอื้อต่อธุรกิจเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีโรคพืชสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืชไร่ ได้แก่ โรคราน้ำค้าง หรือโรคใบลาย, โรคใบไหม้, โรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส, โรคราสนิม, โรคกาบใบเน่า, โรคต้นเน่า และฝักเน่าจากเชื้อรา และแบคทีเรีย เป็นต้น ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ รวมถึงความมั่นใจในการลงทุนด้านการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ หรือการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อส่งออกทั้งสิ้น

สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยได้รณรงค์ยกระดับคุณภาพร้านค้าเมล็ดพันธุ์โดยริเริ่มโครงการ ”ร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์คุณภาพ” ช่วยให้เกษตรกรไทยเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ใหม่คุณภาพดี เพราะเป็นการพัฒนาร้านค้าจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้ปรับปรุงและพัฒนาตนเองให้ได้มาตรฐานตามกฎหมาย และมีความรู้เกี่ยวกับคุณภาพเมล็ดพันธุ์เป็นอย่างดี เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรที่ซื้อเมล็ดพันธุ์ว่าได้รับเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และสมาคมฯมีนโยบายที่จะขยายจำนวนร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์คุณภาพเพิ่มเติมและครอบคลุมทั่วประเทศทั้งเมล็ดพันธุ์พืชไร่ และพืชผักเพิ่มถึง 500 ร้านในปี 2553

การที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียแปซิฟิค (Asian Seed Congress 2009) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2552 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิล์ด กรุงเทพฯ โดยสมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค (APSA) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.), กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทยและสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย เพื่อตอกย้ำศักยภาพของประเทศในฐานะผู้นำตลาดอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของภูมิภาค ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ตลาดการค้าเมล็ดพันธุ์ก็ยังสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ตลอดเวลาอย่างไม่หยุดนิ่ง เนื่องจากเมล็ดพันธุ์คือวัตถุดิบพื้นฐานสำคัญของชีวิตและเป็นความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำปัจจัยการผลิตที่สำคัญอันดับแรกที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และมีความสำคัญในการสร้างรายได้แก่เกษตรกรไทย นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของไทยด้วยพื้นฐานแนวคิด 4 ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนวิธีคิดมาเป็นผู้พัฒนาหรือเจ้าของสายพันธุ์, การสร้างความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยี, การพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน และการประสานเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 44 ประเทศ ที่ได้ตอบรับการเข้าร่วมประชุม

ฝ่ายประชาสัมพันธ์

โทร. 02-655-3131 โทรสาร 02-655-3124

อีเมล์ [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net