นีลเส็นเผยผู้บริโภคชาวไทยนิยมทานอาหารประจำชาติมากกว่าอาหารประเภทอื่นพบทานอาหารมื้อเย็นนอกบ้านบ่อยที่สุด

02 Jun 2009

กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--นีลเส็น

เมื่อพิจารณาเลือกร้านอาหาร “ประเภทของอาหาร” คือสิ่งที่ผู้บริโภคชาวไทยคำนึงก่อนเป็นอันดับแรก และกว่าครึ่งของผู้บริโภคชาวไทย (57%) เลือกอาหารประจำชาติของตนก่อนอาหารชาติอื่นๆ

จากการสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับการทานอาหารนอกบ้านจากผู้บริโภคจาก 52 ประเทศทั่วโลก นีลเส็น ผู้นำด้านการวิจัยทางการตลาดและข้อมูลชั้นนำของโลกได้ทำการสำรวจว่าเหตุผลที่สำคัญสองประการแรกที่ผู้บริโภคเลือกร้านอาหารคืออะไร ประมาณหนึ่งในสาม (32%) ของผู้บริโภคชาวไทยเปิดเผยว่า ตนพิจารณาเลือกจาก ประเภทของอาหารก่อนเป็นอับดับแรก ในขณะที่ ราคาอาหารที่เหมาะสมเป็น ข้อที่ตนพิจารณาเป็นลำดับรองลงมา (21%) ( ตารางที่ 1)

เมื่อถามผู้บริโภคถึงอาหารจานโปรดที่พวกเขาชื่นชอบมากที่สุดเมื่อออกไปทานอาหารนอกบ้าน ผู้บริโภคชาวไทยกว่าครึ่ง(57%) เลือกที่จะทานอาหารไทยมากที่สุด ในขณะที่ อาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมรองลงมาเป็นอับดับสอง (26%) (ตารางที่ 2 ) นางสาวอุษณา จันทร์กล่ำ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้า คอนซูเมอร์ รีเสริชร์ นีลเส็น ประเทศไทย กล่าวว่า “สาเหตุที่ผู้บริโภคชาวไทยนิยมทานอาหารญี่ปุ่นรองมาจากอาหารของชาติตนนั้น เนื่องมาจากจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นที่เพิ่มมากขึ้น และการเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพในประเทศไทย อาหารญี่ปุ่นจึงเป็นอาหารที่ชาวไทยนิยมมากในปัจจุบัน และเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต อาหารญี่ปุ่นมีราคาที่ถูกลงและหาทานได้ง่ายขึ้น”

ผลการวิจัยรายงานว่าไม่เพียงแต่ผู้บริโภคชาวไทยที่นิยมทานอาหารชาติของตนมากกว่าอาหารประเภทอื่นๆ ผู้บริโภคทั่วโลกก็เลือกอาหารประจำชาติของตนก่อนอาหารประเภทอื่นๆเช่นกัน(27%) อาหารต่างชาติที่ได้รับความนิยมมากคือ อาหารจีน และอาหารอิตาเลี่ยน (26% และ 17% ตามลำดับ). สำหรับผู้บริโภคที่นิยมอาหารชาติอื่นมากว่าอาหารของตนได้แก่ ชาวออสเตรเลีย และชาวสิงคโปร์ที่กล่าวว่าพวกเขาชอบอาหารจีนมากกว่าอาหารของชาติตน ส่วนชาวฮ่องกงนิยมอาหารญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่ง และชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรต ชื่นชอบอาหารอินเดียเป็นอันดับแรก

ผู้บริโภคที่ชาตินิยมมากที่สุดในการเลือกร้านอาหารคือ ชาวอิตาเลี่ยน โดยพบผู้บริโภคมากถึง 92 เปอร์เซ็นต์ ที่นิยมทานมาอาหารประจำชาติ ลำดับรองลงมาคือชาวตุรกี (82%) และชาวอินเดีย (81%)

เมื่อถามถึงความถี่ในการออกไปทานอาหารนอกบ้าน ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ (24%) ทานอาหารนอกบ้านครั้งถึงสองครั้งต่ออาทิตย์ อีก 19 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่าพวกเขาทานอาหารที่ร้านอาหารสองถึงสามครั้งต่อเดือน และอีกสิบห้าเปอร์เซ็นต์ชอบทานอาหารนอกบ้านมากถึง สามถึงหกครั้งต่ออาทิตย์ (ตารางที่ 3 )

กว่าครึ่งของผู้บริโภคชาวไทยชอบที่จะไปทานอาหารนอกบ้านกับครอบครัวและเพื่อน (54%) อีก สิบแปดเปอร์เซ็นต์ กล่าวว่าพวกเขาชอบออกไปทานอาหารกับเพื่อนร่วมงาน และอีกสิบสามเปอร์เซ็นต์ไปร้านอาหารกับคู่ของตน

ส่วนมื้อที่นิยมทานที่ร้านอาหารมากที่สุดทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยคืออาหารมื้อค่ำ ด้วยผู้บริโภคห้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยกล่าวว่าเป็นอาหารมื้อเย็นเป็นมื้อที่พวกเขานิยมทานอาหารนอกบ้านมากที่สุด รองลงมาคือ อาหารมื้อกลางวัน (39%) และอาหารเช้า (2%) ( ตารางที่ 4) อย่างไรก็ตามผลการสำรวจพบว่า ชาวละตินอเมริกันมากถึงเจ็ดสิบสามเปอร์เซ็นต์ กล่าวว่าอาหารมื้อกลางวันซึ่งถือว่าเป็นมื้อหลักของวันเป็นมื้อที่พวกเขานิยมทานที่ร้านอาหารมากที่สุด

นอกจากนี้นีลเส็นยังพบว่าผู้บริโภคชาวไทยเลือกที่จะทานอาหารนอกบ้านในวันเสาร์ และวันจันทร์ถึงวันพฤหัส ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน (31% และ 30% ตามลำดับ).

จากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคในแถบเอเชียแปซิฟิคทานอาหารนอกบ้านมากกว่าผู้บริโภคในทวีปอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวฮ่องกง ที่ผู้บริโภคสามสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์ทานอาหารที่ร้านอาหารทุกวัน ในทางกลับกันชาวยุโรปดูเสมือนว่าจะเป็นชาติที่ไม่นิยมทานอาหารนอกบ้านมากนัก โดยกว่าครึ่งของผู้บริโภค(56%) ทานอาหารที่ร้านประมาณหนึ่งครั้ง หรือน้อยกว่าหนึ่งครั้งต่อเดือน

นางสาวอุษณา กล่าวเสริมว่า “ความถี่ของการทานอาหารนอกบ้านในแต่ละประเทศสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ ในขณะที่หลายๆประเทศในเอเชียให้ความสำคัญกับการทานอาหารนอกบ้านเหมือนการสังสรรค์นั้น วัฒนธรรมของชาวยุโรปดูเหมือนว่าจะนิยมทานอาหารในบ้านกับครอบครัวมากกว่า อย่างไรก็ตามผลการวิจัยยังระบุถึงผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นที่มีต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ดูเสมือนว่าชาวยุโรปจะรัดเข็มขัดในเรื่องการใช้จ่ายนอกบ้าน มากกว่าผู้บริโภคในแถบเอเชียที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า”

“ถึงแม้ว่าจะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผู้บริโภคชาวไทยยังคงออกไปทานข้าวนอกบ้านกันหลายครั้งภายในหนึ่งเดือนเนื่องจากความสะดวกสบายกว่าการทำอาหารทานเอง ร้านอาหารก็ควรจะเป็นสถานที่ที่ผู้บริโภคสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกสบายและอยู่ในราคาที่สมเหตุสมผล ทางที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จก็คือ การเตรียมอาหารที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและราคาที่เหมาะสม”นางสาวอุษณาสรุป