1-5 มิ.ย. ชวนคนกรุงคัดกรองป้องกันอัลไซเมอร์ ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.

25 May 2009

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กทม.

กทม. จับมือมูลนิธิอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ส่งทีมลงพื้นที่คัดกรองผู้สูงอายุที่ป่วยและเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ 1–30 มิ.ย. 52 มุ่งส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลจากครอบครัว คนใกล้ชิด และแพทย์อย่างถูกต้อง ทันท่วงที สามารถช่วยเหลือตนเอง และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข พร้อมชวนร่วมคัดกรองสมองในงานคัดกรองความจำ กรุงเทพมหานคร 1–5 มิ.ย. นี้ ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง

แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว โครงการคัดกรองโรคอัลไซเมอร์สำหรับผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร โดยมี คุณหญิงอุไรวรรณ ศิรินุพงศ์ รองประธานมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย และนายแพทย์ธงชัย ทวิชาชาติ กรรมการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม.

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย จัดทำโครงการคัดกรองโรคอัลไซเมอร์สำหรับผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1–30 มิ.ย. 52 เพื่อคัดกรองผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม พร้อมทั้งแนะนำวิธีการดูแล และการส่งต่อเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง โดยกรุงเทพมหานครจัดอบรมให้ความรู้และวิธีคัดกรองผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์แก่พยาบาลของศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ศูนย์ละ 2 คน และคัดกรองผู้สูงอายุที่มีอาการเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งพยาบาลที่ผ่านการอบรมจะแนะนำ และให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ในพื้นที่ร่วมคัดกรองผู้ป่วยด้วยแบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลนำเสนอแพทย์ประจำศูนย์บริการสาธารณสุขประเมินผลวินิจฉัย พร้อมทั้งส่งทีมเยี่ยมอาการที่บ้าน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ป่วย และครอบครัวสามารถดูแลตนเอง รวมถึงดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม สำหรับการรักษาจะทำการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร และสังกัดอื่นเพื่อส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อไป

แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ กล่าวว่า โดยปกติอาการของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์จะเริ่มพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แต่บางรายที่มีปัญหาถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดความผิดปกติอาจเกิดโรคได้ตั้งแต่อายุ 30 ปี สำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีอาการสูญเสียความทรงจำ มีความลำบากในการเรียนรู้และจดจำข้อมูลใหม่ ไม่สามารถจำบุคคลหรือสถานที่ต่างๆ ได้ หากไม่ได้รับการสังเกตและดูแลที่ดี ถูกต้อง อาการจะทรุดลงอย่างรวดเร็วพัฒนาสู่ภาวะสุขภาพจิตเสื่อมระยะรุนแรง ดังนั้นญาติหรือผู้ใกล้ชิดต้องสังเกตอาการหากผู้สูงอายุมีอาการหลงลืมให้สันนิษฐานว่าเป็นอาการในระยะแรกให้รีบพบแพทย์จิตเวชเพื่อรับการรักษาและดูแลอย่างถูกต้อง ปัจจุบันในประเทศไทยมีแนวโน้มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แนวโน้มของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งทั่วโลกพบผู้ที่เป็นโรคอัลไซเมอร์กว่า 20 ล้านคน

ทั้งนี้กรุงเทพมหานครกำหนดจัดงานวันคัดกรองความจำกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1–5 มิ.ย. 52 ณ ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครทั้ง 68 แห่ง ขอเชิญผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปหรือผู้ที่สนใจเข้ารับการตรวจคัดกรองสมองได้ หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ได้ที่มูลนิธิอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสนใน เขตพญาไท โทร. 0 2644 5499 ต่อ 138 หรือทาง www.alz.or.th