พม.จัดโครงการสู่มาตุภูมิ ครั้งที่ ๖ ระหว่าง ๑๙ – ๒๕ ก.ค.นี้ รับขวัญลูกหลานไทยกลับสู่แผ่นดินแม่

10 Jul 2009

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--พม.

พม. แถลงข่าวจัดโครงการสู่มาตุภูมิ ครั้งที่ ๖ ระหว่าง ๑๙ – ๒๕ ก.ค.นี้ รับขวัญลูกหลานไทยกลับสู่แผ่นดินแม่ เรียนรู้ตัวตน ภาคภูมิใจในความเป็นไทย

ที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานโครงการสู่มาตุภูมิ ครั้งที่ ๖ (The Nativeland Visit Program VI) เพื่อให้เด็กไทยที่เป็นบุตรบุญธรรมในครอบครัวชาวต่างประเทศได้เดินทางกลับมาเยี่ยมประเทศบ้านเกิด รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมความเป็นไทย ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๕ ก.ค.นี้ มีเด็กพร้อมครอบครัว จาก ๑๔ ประเทศ และผู้แทนจากองค์การสวัสดิภาพเด็กต่างประเทศชาวต่างประเทศ กว่า ๓๐๐ คน ร่วมกิจกรรม

นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัญหาการทอดทิ้งเด็กในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะวิกฤตของสังคมและเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของสถาบันครอบครัว เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยก ล่มสลาย เด็กไม่ได้รับความอบอุ่น เกิดปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา เช่น การตั้งครรภ์นอกสมรสหรือไม่พึงประสงค์ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความไม่พร้อมในการเลี้ยงดูบุตร ทำให้เกิดการทอดทิ้งเด็ก ทั้งในโรงพยาบาล สถานที่สาธารณะ ผู้รับจ้างเลี้ยง/ญาติ เป็นต้น ที่ผ่านมา กระทรวงฯได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ป้องกันปัญหามารดาทอดทิ้งบุตรภายหลังคลอดในโรงพยาบาล รวมทั้งให้การช่วยเหลือดูแลอุปการะเด็กที่พ่อแม่ไม่มีความพร้อมเป็นการชั่วคราวและถาวร ส่วนเด็กที่ถูกทอดทิ้ง เมื่อรับเข้าไว้ในความอุปการะแล้วก็จะติดตามสืบหาครอบครัวเดิม เพื่อส่งเด็กคืนให้กับครอบครัว หรือญาติโดยเร็วที่สุด สถิติการรับเด็กเข้าอุปการะ พบว่ามีแนวโน้มลดลง คือ ปี ๒๕๔๙ จำนวน ๒๐๒ คน ปี ๒๕๕๐ จำนวน ๑๙๐ คน ปี ๒๕๕๑ จำนวน ๑๓๖ คน และ ปี ๒๕๕๒ (พ.ค.) จำนวน ๘๑ คน โดยปัจจุบันมีเด็กถูกทอดทิ้งและเด็กที่ครอบครัวประสบปัญหาต่างๆ ไม่สามารถเลี้ยงดูได้อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน ๘ แห่งทั่วประเทศ จำนวน ๑,๗๓๑ คน

“เด็กถูกทอดทิ้ง และเด็กที่ครอบครัวไม่สามารถเลี้ยงดูได้และมอบให้อยู่ในความอุปการะของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการโดยเด็ดขาด เช่น มารดาเด็กเป็นบุคคลเร่ร่อน มีอาการทางจิต ครอบครัวยากจน หรือตั้งครรภ์นอกสมรส เป็นต้น ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ก็จะจัดหาครอบครัวบุญธรรมให้แก่เด็กได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.๒๕๕๒ เพื่อเป็นการป้องกันการซื้อขายเด็ก คุ้มครองสวัสดิภาพ และสิทธิของเด็กที่เป็นบุตรบุญธรรม บิดามารดาบุญธรรม และบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมทั้งคนไทยและต่างประเทศจะต้องผ่านการตรวจสอบทั้งคุณสมบัติ ความเหมาะสมทั้งด้านกฎหมายและสังคม ปัจจุบันได้มอบเด็กให้แก่ครอบครัวชาวไทย ๘๒,๐๒๙ คน ครอบครัวชาวต่างชาติ ๑๐,๐๒๐ คน รวม ๙๒,๐๔๙ คน” นางพนิตา กล่าว

สำหรับโครงการสู่มาตุภูมิ (Nativeland Visit Program) กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดขึ้นทุก ๓ ปี เพื่อให้เด็กไทยที่เป็นบุตรบุญธรรมในครอบครัวชาวต่างประเทศได้เดินทางกลับมาเยี่ยมแผ่นดินเกิด ได้รู้จักเรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมความเป็นไทย เพื่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน และความภาคภูมิใจในประเทศบ้านเกิด อีกทั้งยังเป็นการติดตามผลการเลี้ยงดูเด็กอีกทางหนึ่งด้วย

“การติดตามผลเด็กไทยในครอบครัวชาวต่างชาติ ทำในหลายรูปแบบ เช่น ผู้บริหาร พม. เข้าร่วมประชุมงานบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ ก็จะมีโอกาสได้เยี่ยมครอบครัวบุญธรรม หรือครอบครัวบุญธรรม ได้พาบุตรบุญธรรมมารับน้องบุญธรรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งกลับมาเยี่ยมสถานสงเคราะห์เด็กที่เคยอยู่ พบกับพี่เลี้ยง และมีหลายครอบครัวได้แจ้งขอให้ติดตามหาครอบครัวที่แท้จริง หรือบุตรบุญธรรมที่โตแล้ว เดินทางมาท่องเที่ยว และได้พบกับนักสังคมสงเคราะห์ของศูนย์ฯ ส่วนใหญ่ได้แจ้งความจำนงขอให้ติดตามบิดา มารดาผู้ให้กำเนิด เป็นต้น” นางพนิตา กล่าว

นางพนิตา กล่าวด้วยว่า โครงการดังกล่าวได้จัดมาแล้ว ๕ ครั้ง และในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปี ของการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ.๒๕๕๒ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้กำหนดจัด “โครงการสู่มาตุภูมิ ครั้งที่ ๖” ขึ้น ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒ โดยมีครอบครัวชาวต่างประเทศเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น ๑๐๐ ครอบครัว จาก ๑๔ ประเทศ คือ ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ สวีเดน และเนเธอร์แลนด์ เข้าร่วมกิจกรรมสำคัญ ๆ อาทิ การเข้าพบบุคคลสำคัญของไทย การเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ และการเยี่ยมสถานสงเคราะห์เด็กซึ่งเป็นบ้านเดิมของเด็ก เป็นต้น