วว.เปิดตัว “บุหรงช้าง” และ “บุหรงดอกทู่” .....พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

กรุงเทพฯ--23 ธ.ค.--วว.

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ค้นพบ บุหรงช้างและบุหรงดอกทู่...พรรณไม้ในสกุลบุหรงชนิดใหม่ของโลก พร้อมต่อยอดงานวิจัยด้านขยายพันธุ์ และหาแนวทางการใช้ประโยชน์ทางเภสัชกรรม เพื่ออนุรักษ์พรรณไม้อย่างยั่งยืน นายอนันต์ รุ่งพรทวีวัฒน์ รองผู้ว่าการกลุ่มพัฒนาธุรกิจและการตลาด วว. ชี้แจงว่า ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. ประสบความสำเร็จในการค้นพบและตั้งชื่อบุหรงชนิดใหม่ของโลก 2 ชนิด ได้แก่ บุหรงช้างและบุหรงดอกทู่ โดยพรรณไม้ทั้ง 2 ชนิด ได้มีการตรวจสอบการตั้งชื่อและนำไปตีพิมพ์รายงานในวารสาร Systematic Botany ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 หน้า 252-265 ประจำปี 2552 ทั้งนี้วารสารดังกล่าวเป็นวารสารการจำแนกพรรณไม้นานาชาติที่ออกในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยต้นแบบของตัวอย่างแห้ง (Type specimen) ของทั้งบุหรงช้างและบุหรงดอกทู่ได้มีการเก็บไว้ที่หอพรรณไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (BKF) นับเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า บุหรงช้าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ Dasymaschalon grandiflorum Jing Wang, Chalermglin & R.M.K. Saunders สำรวจพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2544 ในป่าดิบชื้นของอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ที่ระดับความสูง 300-500 เมตร ลักษณะพิเศษของบุหรงช้าง คือ เป็นบุหรงเพียงชนิดเดียวที่เป็นเถาเลื้อย (บุหรงชนิดอื่นทั้งหมดเป็นไม้พุ่ม) และมีดอกและผลขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลบุหรง เถาเลื้อยไปได้ไกลถึง 15 เมตร เถามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร แผ่นใบรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง 6-8 เซนติเมตร ยาว 15-20 เซนติเมตร เนื้อใบหนา เรียบ ด้านบนใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีนวลแป้งสีขาวเคลือบ มีเส้นแขนงใบ 11-16 คู่ ก้านใบยาว 1-1.5 เซนติเมตร ดอกออกตามเถาแก่ ก้านดอกยาว 8.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบแยกจากกัน รูปกลมขนาด 6-7.5 มิลลิเมตร กลีบดอก 3 กลีบ กว้าง 3.5 เซนติเมตร ยาว 17 เซนติเมตร ขอบกลีบบรรจบกันเป็นแท่งสามเหลี่ยมคล้ายเหล็กขูดชาร์ฟ ตอนปลายกลีบบิดเป็นเกลียว ผลกลุ่ม ก้านผลรวมยาว 8-10 เซนติเมตร มีผลย่อย 5-10 ผล แต่ละผลรูปทรงกระบอกยาว 3-6 เซนติเมตร เมื่อแก่มีสีแดงเข้ม มี 3-6 เมล็ด ผลมีรอยคอดตามเมล็ด แต่ละเมล็ดกลม สีเหลืองอ่อน ออกดอกบานในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ผลแก่ในเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน สำหรับ บุหรงดอกทู่ มีการสำรวจพบมานานหลายปี พบในป่าดิบเขาของอำเภอแม่ฟ้าหลวงและอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ที่ระดับความสูง 800-1,600 เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ Dasymaschalon obtusipetalum Jing Wang, Chalermglin and R.M.K. Saunders ลักษณะพิเศษของบุหรงดอกทู่ เป็นไม้พุ่ม สูง 4-6 เมตร ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 12-17 เซนติเมตร เนื้อใบหนา ด้านบนใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างมีนวลแป้งสีขาวเคลือบ มีเส้นแขนงใบ 8-14 คู่ ก้านใบยาว 5-7 มิลลิเมตร ดอกออกที่ปลายยอด ก้านดอกยาว 4.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบ แยกจากกัน รูปกลมขนาด 2-4 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 3 กลีบ กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-3 เซนติเมตร ขอบกลีบบรรจบกันเป็นแท่งสามเหลี่ยม ตอนปลายดอกทู่และไม่บิด ผลกลุ่ม ก้านผลรวมยาว 4.5-6 เซนติเมตร มีผลย่อย 9-14 ผล แต่ละผลรูปทรงกระบอก ยาว 2.5-6.5 เซนติเมตร เมื่อแก่มีสีแดงเข้ม มี 1-4 เมล็ด ผลมีรอยคอดตามเมล็ด แต่ละเมล็ดกลมรี สีเหลืองอ่อน ออกดอกบานในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ผลแก่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. กล่าวถึงการต่อยอดงานวิจัยหลังจากการสำรวจพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ว่า ที่ผ่านมา วว. มีผลงานในการสำรวจพรรณไม้การตั้งชื่อและรายงานในวารสารระดับนานาชาติออกมาเป็นระยะๆ ทั้งพรรณไม้ในวงศ์กระดังงาและวงศ์จำปา นอกเหนือจากการค้นพบพรรณไม้แล้ว วว.ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัย รวบรวม เพื่อขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิด โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมทำการศึกษาประเมินสถานภาพของพรรณไม้ในถิ่นเดียวที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม นับเป็นการช่วยต่อยอดงานวิจัยและอนุรักษ์พรรณไม้อย่างยั่งยืน “....ขณะนี้ วว. กำลังทำการศึกษาเรื่องการขยายพันธุ์บุหรงดอกทู่ โดยวิธีการทาบกิ่ง เสียบกิ่ง และศึกษาวิจัยตรวจสอบหาสารสำคัญในการออกฤทธิ์และโครงสร้างทางเคมีของสารดังกล่าว สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในทางเภสัชกรรม และเพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไป แต่สำหรับบุหรงช้างนั้นเนื่องจากเป็นพืชที่เติบโตอยู่ในพื้นที่ที่ยากลำบากในการเข้าไปสำรวจ ขณะนี้จึงยังไม่ได้ทำการศึกษาวิจัย....” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. กล่าวสรุปในตอนท้าย สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โทร. 0 2577 9000 www.tistr.or.th E-mail : [email protected]

ข่าวสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย+วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวันนี้

วว. จับมือพันธมิตรไทย-จีน เสริมสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาหัวข้อเรื่อง "The China-Thailand Forum on Innovation and Development in Environmental Science and Engineering" จัดโดย กลุ่มบริการอุตสาหกรรม วว. ร่วมกับ Kunming University of Science and Technology National Science Park.,Ltd. (ประเทศจีน) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ภายใต้การดำเนิน

ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัย... วว. ต้อนรับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในโอกาสเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐาน วทน. — ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโ...

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและน... วว. วิจัยพัฒนาการใช้ประโยชน์สารสกัด "ใบเตย" เสริมสุขภาพระบบกระดูก/ข้อ สำหรับสังคมก่อนและสูงวัย — กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โด...

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระท... วว.รับมอบประกาศนียบัตรร่วมจัดแสดงผลงานในงานสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติเจนีวา ครั้งที่ 50 — นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาส...

ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัย... วว.คว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทอง (Gold Medal) @ งานสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติเจนีวา ครั้งที่ 50 — ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโน...

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและน... สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช วว. ชวนร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ — กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกร...

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและน... วว. พัฒนาสารเสริมสุขภาพสัตว์ปีกจากจิ้งหรีดทองดำ ช่วยลดปริมาณเชื้อก่อโรค/กระตุ้นการเจริญเติบโต — กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย...

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระท... วว. ร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เนื่องในงาน "สงกรานต์ อว." — นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและน...

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและน... วว. จัดอบรมฟรี ! เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC — กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจ...