สศร. ผนึก TACGA และพันธมิตรกว่า ๓๐ แห่ง แถลง ๖ ยุทธศาสตร์ ผลักดันแอนิเมชั่นไทยเป็นหนึ่งสามของเอเชีย

01 Dec 2009

กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--ART CORE

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) และหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกว่า ๓๐ แห่ง ร่วมจัดทำ ๖ ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ด้านแอนิเมชั่น ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ (พศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๔) เพื่อขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางหนึ่งในสามในอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นของเอเชียภายในปี ๒๕๖๓ เผยช่วง ๕ ปี แอนิเมชั่นไทยเติบโตกว่า ๕๐% ได้รับความนิยมสูงในการนำไปเป็นสื่อต่างๆ ทั้งด้านนิวมีเดีย และสื่อในการเผยแพร่วัฒนธรรม โดยมีมูลค่าการตลาดในประเทศประมาณ ๗,๐๐๐ ล้านบาท

นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ : แอนิเมชั่น ว่า “สศร. มีพันธกิจในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่งเสริมให้ศิลปะมีคุณค่า และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยพร้อมที่จะเป็นองค์กรนำในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์: แอนิเมชั่น ให้เติบโตอย่างเป็นระบบ ภายใต้เป้าหมายที่ชัดเจน และมีภาคีร่วมดำเนินงานอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับสมาคมผู้ประกอบการ แอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกว่า ๓๐ แห่ง จัดทำโครงการยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ : แอนิเมชั่น อย่างเป็นระบบ โดยได้จัดการประชุมและระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำ ๖ ยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น ประกอบไปด้วย

๑. ยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากร

๒. ยุทธศาสตร์การตลาดและสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของ อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นในประเทศไทย

๓. ยุทธศาสตร์สร้างความ เชื่อมั่นในศักยภาพของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นไทยในต่างประเทศ

๔. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการเงินและแหล่งเงินทุน

๕. ยุทธศาสตร์พัฒนากฎหมายและนโยบายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น และ

๖. ยุทธศาสตร์การพัฒนาศูนย์บริการเพื่ออุตสาหกรรมแอนิเมชั่น ๓๖๐ องศา

โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อให้ประเทศไทยมุ่งสู่การศูนย์กลางการสร้างสรรค์และผลิตแอนิเมชั่น ให้เป็นหนึ่งในสามของเอเชียภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรมอีกด้วย และการดำเนินการในขั้นต่อไปคือการนำยุทธศาสตร์ในแต่ละหัวข้อไปดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการโดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ จากนั้นจะมีการประเมินผลโดย สศร. และ TACGA เพื่อจัดหากลยุทธ์ในการผลักดันให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้”

นายลักษมณ์ เตชะวันชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและภาครัฐในการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ ว่า “TACGA ในฐานะองค์กรกลางได้ประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ หน่วยงานทางด้านการเทคโนโลยีการสื่อสาร การส่งออก สื่อต่างๆ และสถาบันการเงิน เพื่อขอความร่วมมือในการจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ : แอนิเมชั่นขึ้น โดยเน้นด้านปัญหาและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นเป็นหลัก ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดีทัศน์แห่งชาติ (พศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๔) เพื่อช่วยเสริมให้ศักยภาพตลาดแอนิเมชันของไทยขยายตัวมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน ทั้งนี้ จากการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมซอฟแวร์แห่งชาติพบว่ามูลค่าการผลิตแอนิเมชั่นไทย ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๗ – ๒๕๕๐ มีการเติบโตถึงร้อยละ ๕๐ โดยประมาณการมูลค่าตลาดใน ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ จะสูงเกือบ ๗ พันล้านบาท ในขณะที่ตลาดต่างประเทศมีมูลค่าสูงถึง ๖ ล้านล้านบาท อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นในประเทศไทยยังมีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับประเทศผู้นำทางการบริโภคและการผลิต ได้แก่จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้การพัฒนาอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นมีความชัดเจนมากขึ้น และให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งนับเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนา”

“อนึ่ง จากการทำ SWOT analysis พบว่าอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์ของไทยมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก โดยเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดจากคิดสร้างสรรค์ จัดเป็น Green Industry เนื่องจากไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน อุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์มีขอบเขตครอบคลุมอุตสาหกรรมหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง (Entertainment and Media) แขนงต่างๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมโทรทัศน์ เพลง ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ การสื่อสาร การออกแบบและอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงแบบใหม่ (New Media) ในลักษณะดิจิตอลคอนเทนท์ ได้แก่ แอนิเมชั่น และเกมส์ โดยบุคลากรของไทยมีศักยภาพทางศิลปะ และมีบุความเชี่ยวชาญในการผลิตงานได้ครบวงจร รวมถึงอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์ยังคงเติบโตทั่วโลก อีกทั้งรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจความคิดสร้างสรรค์ (Creative Economy) ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยพบว่าในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ ๒ หรือแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๕ ของภาครัฐก็ได้มีการจัดสรรงบลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ โดยมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลคอนเทนต์ ๒โครงการ คือ โครงการดิจิทัล มีเดีย เอเชีย และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ การจัดทำแผนกลยุทธนี้จะทำให้เรามีทิศทางเดินที่ชัดเจนที่จะก้าวสู่ระดับโลกต่อไป”

Note to Editor: ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ : แอนิเมชั่น พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๕ ดำเนินการโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) และหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกว่า ๓๐ แห่ง โดยกำหนด ๖ ยุทธศาสตร์หลัก ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น ได้แก่ ๑. ยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากร ๒.ยุทธศาสตร์การตลาดและสร้างความ เชื่อมั่นในศักยภาพของอุตสาหกรรม แอนิเมชั่นในประเทศไทย ๓. ยุทธศาสตร์สร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นไทยในต่างประเทศ ๔. ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการเงินและแหล่งเงินทุน ๕. ยุทธศาสตร์พัฒนากฎหมายและนโยบายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม แอนิเมชั่น และ ๖. ยุทธศาสตร์การพัฒนาศูนย์บริการเพื่ออุตสาหกรรมแอนิเมชั่น ๓๖๐ องศา โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อให้ประเทศไทย มุ่งสู่การศูนย์กลางการสร้างสรรค์และผลิตแอนิเมชั่น ให้เป็นหนึ่งในสามของเอเชียภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

ART CORE (Art Management) 2

สุภาพร รุ่งเจริญเกียรติ (ต้อม) โทร.๐๘๔ ๐๙๐ ๑๒๑๒ E-mail: [email protected]

ทิพวรรณ วอทอง (โม) โทร. ๐๘๑ ๔๒๑ ๒๙๒๓ E-mail: [email protected]