เกษตรกรกังขา รมต.พาณิชย์ยื้อออกนโยบายนำเข้ากากถั่ว....หวั่นกระทบเศรษฐกิจชาติ

01 Dec 2009

กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--สมาคมฯและเกษตรกร

นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯและเกษตรกรต่างก็รู้สึกแปลกใจ ในกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ยังดำเนินการประกาศนโยบายนำเข้ากากถั่วเหลือง ปี 2553 ไม่เรียบร้อย ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนอย่างหนักต่อผู้เลี้ยงสัตว์ และความล่าช้าดังกล่าวจะส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็เห็นชอบกับเกษตรกรและได้ช่วยเร่งรัดกระทรวงฯไปแล้ว

“แทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายอาหาร จะนำเรื่องกากถั่วเหลืองเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ไปพร้อมๆ กับข้าวโพดและปลาป่น ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลวัตถุดิบอาหารสัตว์มาพร้อมกัน แต่กลับส่งเรื่องกากถั่วเหลืองคืนไปให้คณะอนุฯ พิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยอ้างว่า ต้องการให้ศึกษาว่าการลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 4% เหลือ 2%แล้ว มีผลต่อราคาอาหารสัตว์สำเร็จรูป และต้นทุนการเลี้ยงสัตว์อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความคลางแคลงใจให้แก่เกษตรกรอย่างมาก” นายมาโนช กล่าวและว่า

ใน 1 ปีที่ผ่านมาราคาอาหารสัตว์ได้ลดลงโดยเฉลี่ย 5-8% ซึ่งเป็นไปตามเป้าประสงค์ของการลดภาษี จาก 4% เหลือ 2% แล้ว ดังนั้น ข้ออ้างเรื่องการศึกษาผลกระทบต่อราคาอาหารสัตว์ควรจะตกไป และกระทรวงพาณิชย์น่าจะหันมารีบพิจารณาผลักดันให้เรื่องดังกล่าวผ่าน มติ ครม. โดยเร็ว จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากกว่า เพราะกากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นไก่ไข่ ไก่เนื้อ หรือสุกร ซึ่งนอกจากจะใช้บริโภคในประเทศแล้ว เนื้อสัตว์บางประเภทยังมีโอกาสส่งออกไปต่างประเทศ และทำรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศไทย เช่น กรณีไก่เนื้อที่สามารถทำรายได้เข้าประเทศถึงกว่า 5 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากการผลิตเนื้อสัตว์ต้องสะดุด เพราะขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ หรือต้นทุนอาหารสัตว์สูงเกินไป เพราะการจัดการที่ไม่ดี จะมีผลกระทบทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติมีปัญหาต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ กล่าวคือ ถ้าไม่สามารถประกาศนโยบายนำเข้ากากถั่วเหลืองปี 2553 ให้มีผลบังคับใช้ได้ทันในวันที่ 1 มกราคม 2553 จะทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการสูงขึ้น เพราะผู้นำเข้ากากถั่วต้องวางเงินสดเป็นค่าภาษีนำเข้าสูงถึง 10% และใช้เวลานานกว่า 6-10 เดือนจึงจะได้คืน อีกทั้งยังมีค่าเช่าเรือสินค้าเกิดขึ้นวันละ 3 ล้านบาท/1 ลำ เพราะติดปัญหาการทำใบอนุญาต ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้เป็นต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น และเมื่อต้นทุนการผลิตสูง จะทำให้การส่งออกลดลงเพราะแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศไม่ได้ รวมถึง ราคาต้นทุนเนื้อสัตว์ ภายในประเทศจะสูงขึ้นด้วย และจะส่งผลถึงผู้บริโภคปลายทางด้วย

“ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีหน้าที่ต้องสนับสนุนการส่งออกและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งระบบ เมื่อได้ทราบข้อเท็จจริงดังนี้แล้ว จึงหวังว่าท่านจะรีบนำเรื่องกากถั่วเหลืองที่ยังค้างอยู่เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร่งด่วนต่อไป ซึ่งต้องขอขอบคุณล่วงหน้าแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั้งประเทศมา ณ ที่นี้” นายมาโนช กล่าวทิ้งท้าย