ชุมชน“ป่าแดด” เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงถึง 82 % สสส. ถอดบทเรียนขยายผล “สายใยรักแห่งครอบครัว”

26 Oct 2009

กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--สสส.

“ป่าแดด” เป็นตำบลที่มีลักษณะเป็นชุมชนเมืองกึ่งชนบทในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวจนครบ 6 เดือน โดยมีตัวเลขที่สูงกว่าตัวชี้วัดของประเทศ

ความสำเร็จของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของชาวตำบลป่าแดด เริ่มจากสมาชิกชมรมนมแม่ เข้าไปริเริ่มชักชวนให้สมาชิกในชุมชน ให้เห็นความสำคัญของการสร้างคนให้เป็นคนเต็มร้อยด้วย “นมแม่และสายใยรัก” ก่อให้เกิด “อาสาสมัครนมแม่” ที่ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้นำชุมชน องค์การบริการส่วนท้องถิ่นทั้งในระดับตำบลและอำเภอ ส่งผลให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปี 2548 ที่มีเพียงร้อยละ 19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีตัวเลขที่สูงถึงร้อยละ 82

ด้วยเหตุนี้ทาง ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย, ศูนย์อนามัยที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ และ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ครอบครัวและอาชีวศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก จึงได้ร่วมกันศึกษาเพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จของ “โครงการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ กรณีศึกษา : โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่” โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยการจัดเวทีนำเสนอบทเรียนที่มีคุณค่าเหล่านี้แก่ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การจัดแผนชุมชนและแผนของหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนทางสังคมให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ครบ 6 เดือน และขยายผลแนวคิดโครงการพระราชดำริ สายใยรักแห่งครอบครัวลงสู่ชุมชนและพหุภาคี

นพ.ทวีศักดิ์ นพเกษร หัวหน้าคณะผู้วิจัยฯ จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า จัดทำขึ้นเพื่อศึกษากระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมด้วยตนเองของชุมชน โดยพบว่ามีพื้นฐานที่สำคัญมาจากคณะเจ้าหน้าที่และระบบการบริการด้านสาธารณสุขที่มีความทุ่มเทและมีความรู้ความสามารถ จนผู้รับบริการเกิดจิตอาสาต้องการถ่ายทอดความสำเร็จที่เขาฝ่าฟันมาได้ภายใต้การประคับประคองของคลินิกนมแม่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่ไปสู่ชุมชนอื่นๆ

“การตั้งชมรมนมแม่เชียงใหม่ทำไห้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันช่วยกันแก้ปัญหา ทำให้กระบวนการจิตอาสาพัฒนาขึ้นโดยตัวของมันเอง และเมื่อสมาชิกในชมรมนมแม่ลงไปในพื้นที่ เขาก็ใช้หลักของการเข้าถึงองค์กร และภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อพบปะพูดคุยสร้างความเข้าใจกัน นอกจากนี้ยังมีการแบ่งระบบงานที่ดีกระจายงานให้อาสาสมัครเท่าๆ กัน มีการแบ่งเป็นโซนในการทำงาน ดูแลกันด้วยใจ สามารถที่จะให้การแก้ปัญหาได้ทุกเมื่อตามปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และมีระบบของการเรียนรู้ร่วมกัน เช่นไปดูแม่ที่ตั้งครรภ์และหลังคลอดกันเป็นทีม ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหา คนที่มีความรู้มากกว่าก็ไปเพื่อให้คำชี้แนะ ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ก็มีระบบที่สูงขึ้นไปถึงสถานีอนามัยหรือคลินิกนมแม่คอยให้ความช่วยเหลือ ซึ่งทุกคนที่เกี่ยวข้องก็เต็มอกเต็มใจที่จะทำให้ โดยไม่เกี่ยงว่าเป็นเวลาใด เพราะเข้าใจสภาพปัญหาเป็นอย่างดีว่าปัญหาแบบนี้ถ้ามันเกิดขึ้นแล้วมันทรมานเช่นเต้านมคัด น้ำนมไม่ไหล ปวดนม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบของความสำเร็จในส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของชุมชน” นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวถึงผลของการถอดบทเรียน

พญ.กรรณิการ์ บางสายน้อย รองผู้อำนวยการ ศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่ กล่าวถึงการถอดบทเรียนของชุมชนป่าแดด พบว่าเป็นชุมชนที่มีผู้นำที่เข้มแข็งและชุมชนเข้มแข็ง มีการประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อระดมความคิดช่วยกันแก้ไขปัญหา กลุ่มทำงานมีจิตอาสาทำงานด้วยความสุขและความสมัครใจ มีการออกแบบสื่อรณรงค์ของตัวเองด้วยรถหาเสียงเหมือนกับนักการเมือง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนได้รับทราบ นอกจากนี้ชุมชนเองก็มีทักษะในการบริการจัดการที่ดี ซึ่งเป็นงานที่เกิดจากตัวของชุมชนเอง จนได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านเงินทุน และด้านอื่นๆ จากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

“การที่จะให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จอย่างที่เราต้องการก็คือ การกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน หลังจากนั้นจึงให้กินนมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยจนถึง 2 ปี หรือมากกว่า ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็สามารถทำได้ถ้าหากทุกคนช่วยกัน เริ่มแรกก็คือแม่จะต้องอยากให้ลูกได้กินนมแม่ แล้วคุณพ่อ รวมถึงทุกคนในครอบครัวและเพื่อนบ้านก็ต้องมีส่วนร่วมช่วยสนับสนุน อาสาสมัครสาธารณสุขก็จะต้องไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ ก็จะทำให้แม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้” พญ.กรรณิการ์ระบุ

นายอดิสรณ์ กำเนิดศิริ นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ ระบุถึงความสำเร็จของตำบลป่าแดด ว่าเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญคือการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนที่เห็นความสำคัญของนมแม่ และพร้อมใจกันส่งเสริมให้คลินิกนมแม่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งในขณะนี้ผู้บริหารท้องถิ่นต่างๆ ในอำเภอเมืองก็เริ่มให้ความสนใจกับโครงการนี้ โดยเราจะให้ชุมชนพื้นที่อื่นได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการขยายผลเข้าไปสู่พื้นที่อื่นๆ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือกระตุ้นให้เกิดขึ้นจากชุมชนเองไม่ใช่เกิดจากหน่วยงานของรัฐไปจัดการให้

“ชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่มีความเป็นชุมชนเมืองมากขึ้นเพราะความเจริญที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความผูกพันของแม่และลูกลดน้อยลงไป มีความเหินห่างระหว่างแม่กับลูกมากยิ่งกว่าในชนบท ที่ทำตรงนี้สิ่งที่เราอยากได้มากกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็คือ ความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูก รวมไปถึงพ่อ และสมาชิกในครอบครัวที่จะมีส่วนร่วม และสำคัญที่สุดก็คืออยากให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับกันทั่วโลกนั้นกลับคืนมาในสังคมของเราให้ได้ และมีความยั่งยืนเกิดขึ้นในทุกๆ ชุมชน” นายอำเภอเมืองระบุ

พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่า ทางศูนย์นมแม่ฯ จะสื่อสารทางสังคมโดยให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ด้วยการนำเสนอข้อมูลความเคลื่อนไหวของกิจกรรมและกลุ่มต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังได้ผลิตชุดความรู้ต่างๆ ที่จะเผยแพร่ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข ประชาชน และสตรีที่ตั้งครรภ์

“ศูนย์นมแม่ฯ จะสนับสนุนให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ เช่นกลุ่มแม่ทำงาน และกลุ่มแม่ที่อยู่บ้าน โดยสนับสนุนตั้งแต่ระดับโรงพยาบาล ชุมชน และสถานที่ทำงาน โดยต้องทำให้ครบทั้งหมด สร้างกลุ่มคนให้มีความรู้เรื่องนมแม่นอกจากพยาบาล โดยให้มีอยู่ในชุมชนและสถานประกอบการ ซึ่งการถอดบทเรียนจากชุมชนป่าแดด พบว่าสิ่งที่สำคัญก็คือการมีหัวหน้าชุมชนที่เข้มแข็ง ชุมชนเองก็มีความสามัคคีเข้มแข็ง มีทัศนคติที่ดี รู้คุณค่าของนมแม่ มีการฝึกอบรม มีระบบการติดตามและประเมินผลที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือคือปัจจัยแห่งความสำเร็จของชุมชน” เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยกล่าวสรุป.

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net