ธนาคารโลกสนับสนุนไทยขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555

15 Oct 2009

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ว่าการของไทยในธนาคารโลกได้พบปะหารือกับองค์การระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และภาคเอกชน ในระหว่างการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ณ นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2552 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ธนาคารโลกโดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน และการเพิ่มทุนของกลุ่มธนาคารโลก ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาหลายแนวทางในการดำเนินการ เพราะธนาคารโลกยังมีภารกิจให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกอีกมากมายเพื่อจัดการกับปัญหาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องมีเงินทุนที่เพียงพอ นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน รวมถึงการดำเนินโครงการที่ช่วยส่งเสริมการลดภาวะโลกร้อนด้วย ในส่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงโครงการลงทุนในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มีโครงการลงทุนหลายสาขา เช่น ขนส่ง การศึกษา สาธารณสุข รวมถึงความร่วมมือภายใต้กรอบ GMS ในการสร้างเส้นทางเชื่อมตะวันออกและตะวันตก (East West Corridor) โดยไทยได้ขอให้ธนาคารโลกสนับสนุนการประเมินและตรวจสอบการดำเนินโครงการให้มีความโปร่งใส ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ขอความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อเพิ่มประสิทธิการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของไทยด้วย

2. ธนาคารพัฒนาเอเชียได้ขอหารือเกี่ยวกับผลการศึกษาแนวทางในการจัดตั้ง ASEAN Infrastructure Fund เพื่อให้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่จะจัดขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้ต่อไป นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงความคืบหน้าของการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนระยะที่ 2 ของไทย ซึ่ง ADB ได้ให้ ความช่วยเหลือทางวิชาการในการพัฒนาตลาดทุนไทย และยินดีให้การสนับสนุนและจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งกระทรวงการคลังจะนำระหว่างนำเสนอร่างแผนแม่บทการพัฒนาตลาดทุนไทยเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

3. JBIC โดยจะให้การสนับสนุนการลงทุนในไทยโดยเฉพาะ SMEs ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้ จะสนับสนุนทางการเงินในด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ด้านพลังงาน และสนใจลงทุนในรูปแบบ PPP ด้านการขนส่งระบบรางของไทย

4. ผู้บริหารสถาบันการเงินต่างประเทศ อาทิเช่น Barclays Capital, Credit Suisse, UBS, Citi Group โดยหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น และแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นการบริโภคในประเทศ การลงทุนระบบโลจิสติกส์ ระบบราง และการที่รัฐมีนโยบายให้เอกชนเข้าร่วมการลงทุน นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของไทยด้วย