เร่งสร้างความเชื่อมั่นอาหารฮาลาลไทย ดันยอดส่งออก ไทย-สวิสเซอร์แลนด์ จับมือยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย

26 Nov 2009

กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามฯ

สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เดินหน้าพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไทยอีกขั้น ได้สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยร่วมผลักดัน ลงนามบันทึกความร่วมมือกับองค์กรการรับรองมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ผลิตอาหารฮาลาลไทย ทั้งปกป้องและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคมุสลิมโลก สอดคล้องกับมาตรฐานฮาลาลในต่างประเทศ

นายอนิรุทธ์ สมุทรโคจร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย เผยว่า เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของประเทศไทย โดยมุ่งสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลที่ผลิตในประเทศ ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้เกิดการยอมรับในระดับสากล และเพื่อรองรับประชากรมุสลิมทั่วโลกที่มีประมาณ 1,900 ล้านคน หรือร้อยละ 25 ของประชากรโลก ซึ่งมีความต้องการบริโภคอาหารฮาลาลรวมกันคิดเป็นมูลค่า 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 0.25 ของมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลโลก ด้วยเหตุนี้เองตลาดอาหารฮาลาลจึงเป็นตลาดที่มีความสำคัญอย่างมาก และจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่กำกับดูแลในการผลิตอาหารฮาลาลให้เป็นไปอย่างถูกต้องตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภคตามศาสนบัญญัติอิสลาม เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการบริโภค “การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และองค์กรการรับรองมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในเรื่องของกฎ ระเบียบ และมาตรฐานฮาลาลระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งมุ่งหวังจะให้มีการจัดตั้งระบบเลขรหัสของสินค้าระหว่าง 2 องค์กรให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ผลิตไทยในตลาดโลกต่อไป” นายอนิรุทธ์ กล่าว

ด้านนายพิเชษฐ สถิรชวาล เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะประเทศสวิสเซอร์แลนด์ถือเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งมีความเข้มแข็งในเรื่องของมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหาร โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ การหามาตรการป้องกันคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคมุสลิม ตลอดจนเป็นการยกระดับด้านมาตรฐานฮาลาล และด้านความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้ฮาลาลไทยได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้นทั้งด้านบุคลากรและระบบมาตรฐานต่างๆ ตลอดจนเพื่อให้เกิดความร่วมมือในด้านการค้าระหว่างกัน”

สำหรับบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมุสลิมเข้าใจในข้อกำหนดและการรับรองสินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาลอย่างถูกต้องตามหลักการศาสนา ทั้งทางด้านผลิตภัณฑ์อาหาร และสถานประกอบการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นสินค้าฮาลาลที่ผลิตในประเทศไทยในระดับสากลมากยิ่งขึ้น

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net