คณะสื่อมวลชนจีนศึกษากลไกการควบคุมกันเองของสื่อในประเทศไทย

17 Nov 2009

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

เมื่อวานนี้ (16 พ.ย. 52) ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 3 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพข่าวโทรทัศน์และวิทยุไทย ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดยหยู ชิงฉู่ หัวหน้าคณะฯ ที่เข้ามาศึกษาดูงานและร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องกลไกการควบคุมกันเองของสื่อในประเทศไทย

นายสัก กอแสงเรือง รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ กล่าวว่า สภา-การหนังสือพิมพ์แห่งชาติเกิดจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบกิจการสื่อหนังสือพิมพ์ ตั้งเป็นองค์กรอิสระเพื่อควบคุมกันเอง โดยปราศจากการควมคุมของรัฐ และได้มีการประกาศเจตนารมณ์ว่าจะอยู่ภายใต้ธรรมนูญแห่งวิชาชีพของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ พร้อมทั้งจัดทำข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ฯ ไว้เป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนด้วย

รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ยังได้เปิดรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการเสนอข่าวของสื่อมวลชนด้วย โดยมีขั้นตอนการพิจารณาดังนี้คือ เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์จะส่งหนังสือให้หนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องชี้แจงกลับมา หลังจากนั้นจึงพิจารณาไต่ส่วนข้อเท็จจริงโดยยึดหลักข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้าน ก่อนส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการพิจารณาต่อไป เมื่อผลการพิจารณาของคณะกรรมการออกมาว่าหนังสือพิมพ์ละเมิดจริยธรรมจึงดำเนินการส่งหนังสือไปยังหนังสือพิมพ์นั้นๆ เพื่อพิจารณาลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียน พร้อมทั้งส่งคำวินิจฉัยให้ผู้ร้องเรียนทราบ หากผู้ร้องเรียนไม่พอใจผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถอุทธรณ์ได้ ซึ่งถือเป็นการพิจารณา 2 ขั้น

นอกจากนี้บางกรณีอาจมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ผู้เสียหายอาจดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมายเพื่อเอาผิดได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญา และตามข้อกฎหมายนั้นสื่อมวลชนสามารถฟ้องร้องได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามในกรณีมีการฟ้องร้องตามกฎหมายแล้ว สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ เพราะอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล

ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพโทรทัศน์และวิทยุไทย กล่าวว่า สภาวิชาชีพโทรทัศน์และวิทยุไทยถือกำเนิดเมื่อไม่นานมานี้โดยมีผู้แทนจากผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ 4 แห่ง บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ 4 คน ผู้ปฏิบัติงานข่าว 4 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างข้อบังคับจริยธรรมแห่งวิชาชีพ และระเบียบการรับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อตรวจสอบการทำงานของสถานีโทรทัศน์และวิทยุ โดยการยกร่างข้อบังคับจริยธรรมพยายามให้มีการรวมตัวกันของฝ่ายต่างๆ เพราะเมื่อถึงเวลาบังคับใช้จริง จะได้ปฏิบัติตามได้มากขึ้น ทั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน และจะนำไปสู้การขับเคลื่อนในเรื่อง จริยธรรมของผู้สื่อข่าว สิทธิเสรีภาพของผู้สื่อข่าว และการพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพสื่อสารมวลชน

“ผมคิดว่าการตั้งสภาวิชาชีพฯ และการร่างข้อบังคับต่างๆ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การดูแลกันเอง และดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นเพียงเสือกระดาษ และปลอดจากการควบคุมของรัฐเป็นเรื่องยากมากกว่า” นายวสันต์กล่าว

ประธานสภาวิชาชีพโทรทัศน์และวิทยุไทย กล่าววต่อว่า ในอดีตสื่อในประเทศไทยจะเป็นของรัฐ ผู้ที่จะประกอบกิจการสื่อสารมวลชนต้องขออนุญาตหรือสัมปทานจากรัฐ แต่ปัจจุบันสื่อในประเทศไทยมีรูปแบบเป็นทุนนิยม ที่เอกชนสามารถดำเนินกิจการด้านการสื่อสารได้ ทำให้เห็นว่าอุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์หลัก 6 สถานี สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม 500-600 ร้อยช่อง เคเบิลทีวีมีผู้ประกอบการกว่า 500-600 ร้อยราย และสถานีวิทยุหลักกว่า 500 สถานี รวมทั้ง สถานีวิทยุชุมชนอีกกว่า 5-6 พันสถานี ซึ่งยากต่อการดูแล ถึงแม้จะมี คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-5697 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net