ชมรมโภชนวิทยามหิดล แนะ!!! มหันตภัยเงียบ “Metabolic Syndrome… รอบเอวอันตราย”

16 Nov 2009

กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์

ชมรมโภชนวิทยามหิดล แนะ!!! มหันตภัยเงียบ! “เมตาบอลิกซินโดรม”....สืบเนื่องจากความเจริญและเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำทำคนไทยอ้วนลงพุง เสี่ยงโรคร้ายในกลุ่มเมตาบอลิกซินโดรม อาทิ โรคหลอดเลือดและหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ภัยร้ายที่เป็นสาเหตุการตายมากที่สุดในโลก ดังนั้นทางชมรมโภชนวิทยามหิดล จึงร่วมกับ วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก และบริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดประชุมวิชาการเรื่อง “Metabolic Syndrome…รอบเอวอันตราย” ให้กับนักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อทำความเข้าใจและเฝ้าระวังภัยเงียบให้กับผู้มีความเสี่ยง พร้อมแนะหลักโภชนาการลดเสี่ยงโรคร้าย ณ ห้องประชุม โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้

พลเอก นพ.ประวิชช์ ตันประเสริฐ ผู้อำนวยการสถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดเผยว่า จากสถิติคนไทยตายด้วยโรคกลุ่มเมตาบอลิกซินโดรม หรืออ้วนลงพุง ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงหลอดเลือดสมอง และเบาหวาน รวมวันละ 236 คน หรือชั่วโมงละ 10 คน นั่นคือ!! 6 นาที ต่อ 1 คน ซึ่งมีผลสำรวจว่ากลุ่มคนอ้วนลงพุง หรือชายที่มีรอบเอวมากกว่า 90 ซม. และหญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 80 ซม. มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูง เอชดีแอลต่ำ และความเครียดสูง เนื่องจากคนอ้วนลงพุงจะมีไขมันจำนวนมากอยู่บริเวณรอบเอวและจะเป็นแหล่งสะสมพลังงานส่วนเกิน ซึ่งอันตรายที่แฝงมานั้นมีมากกว่าการสะสมพลังงาน เพราะไขมันเหล่านั้นจะผลิตฮอร์โมนออกมาเช่นเดียวกับต่อมผลิตฮอร์โมน โดยจะมีผลต่อการเกิดเมตาบอลิกซินโดรมมากขึ้น

สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคกลุ่มนี้จะมาพร้อมกับความเจริญและเทคโนโลยีที่นำไปสู่การบริโภคอาหารไม่ดี เนื่องจากคนในปัจจุบันมักจะนั่งทำงานอยู่กับที่วันละหลายชั่วโมงอาศัยแต่สิ่งอำนวยความสะดวกโดยไม่ขยับร่างกายและไม่ออกกำลังกาย ทั้งยังกินอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งไขมันเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดเมตาบอลิกซินโดรม หรืออ้วนลงพุง หากมีไขมันสะสมมากจะเข้าไปในหลอดเลือดทั่วร่างกายจนเกิดการตีบตัน หากเกิดกับหัวใจจะทำให้หัวใจโตและเกิดหัวใจวาย (Heart Attack) จากสถิติพบว่าผู้ที่อ้วนลงพุงจะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนทั่วไป ดังนั้นในฐานะบุคลากรทางการแพทย์จึงต้องป้องกันและชักจูงให้ผู้มีความเสี่ยงปรับเปลี่ยน

ความคิด และการดำเนินชีวิต ทั้งการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ ไม่เครียด และออกกำลังกาย เพราะการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์สำคัญกว่าการให้ยาเสียอีก

ด้านอ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ให้การปรึกษาด้านโภชนบำบัด กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าการลดน้ำหนักมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงโรคอ้วนลงพุง ดังนั้นควรดูแลพุงให้ดีอย่าให้เกินมาตรฐาน เพราะการมีรอบเอวเกินก็เหมือนกับมีระเบิดเวลาที่รอการระเบิดในอนาคต หลักการกินโดยทั่วไปทุกคนจะทราบกันดีว่า

กินให้พอดีกับพลังงานที่ใช้ออกมาแต่โดยส่วนใหญ่คนเรามักจะกินเกินกว่าที่ใช้ เพราะรอบตัวมีแต่สิ่งยั่วใจ แรงกระตุ้นจากโฆษณา วัฒนธรรมตะวันตกและการบริการที่สะดวกสบาย นอกจากนี้คนไทยจำนวนมากยังมีพฤติกรรมการกินที่ผิดๆ เช่น งดอาหารเช้า ชอบของมันของทอด กินผักผลไม้น้อย นิยมอาหารที่สะดวกกินสะดวกซื้อ เป็นต้น

หลักโภชนาการในการลดเสี่ยงอ้วนลงพุง คือ ลดคาร์โบไฮเดรตและไขมันที่ไม่ดี ซึ่งการลดที่ถูกต้องและทำได้ง่าย เช่น ลดเครื่องดื่มหวาน น้ำอัดลม ขนมอบ ไอศครีม โดนัท เป็นต้น เน้นคาร์โบไฮเดรตที่ดีมาจากข้าวและแป้งไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ และนมไขมันต่ำ โดยกินข้าวในปริมาณ

วันละ 6 ทัพพี พร้อมกันนี้ต้องลดการกินเค็ม และลดไขมันไม่ดีเน้นกินไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันคาโนลา เป็นต้น และต้องเลือกให้เหมาะกับวิธีการปรุงอาหาร อ่านฉลากก่อนซื้อ โดยดูปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานซ์ต่ำ กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูง (โอเมก้า3,6,9) หากต้องการทอดเลือกชนิดที่จุดเดือดเป็นควันสูง เช่น น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันถั่วเหลืองน้ำมันปาล์ม เป็นต้น

“อย่างไรก็ตามต้องควบคุมปริมาณไขมันโดยกินน้อยกว่า 6-8 ช้อนชาต่อวัน เพราะน้ำมันทุกชนิดให้พลังงานเท่ากัน นอกจากนี้ต้องดูความสมดุลของกรดไขมันด้วย เนื่องจากน้ำมันพืชที่ใช้กันทั่วไปอย่าง ถั่วเหลือง ทานตะวัน หรือข้าวโพด จะมีโอเมก้า 6 มากเกินไป ทำให้เร่งการเกิดการอักเสบในร่างกายและเกิดปัญหากับสุขภาพ จึงต้องรับประทานโอเมก้า 3 เพิ่มขึ้นเพื่อปรับสมดุล ซึ่งโอเมก้า 3 จะได้จากปลาทะเลน้ำลึก วอลนัท น้ำมันคาโนล่า เมล็ดแฟล็กซิด เป็นต้น หรือใช้น้ำมันผสมเพื่อให้ได้สัดส่วนกรดไขมันดีขึ้น เช่น น้ำมันคาโนล่าผสมทานตะวันเพื่อความสะดวกในการใช้” อ.ศัลยา กล่าวในที่สุด

สอบถามรายละเอียดประชาสัมพันธ์ได้ที่ โทร. 0-2718-3800 ต่อ 132,136

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net