อันดามัน วันฟ้าใหม่

07 May 2010

กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--มูลนิธิซิเมนต์ไทย

ปี 2547 ประเทศไทยต้องเผชิญกับมหาภัยสึนามิที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้ ในวันที่คลื่นยักษ์กวาดทุกสิ่งหายไปต่อหน้าต่อตา ทั้งทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย อาชีพ และชีวิต เสียงร้องของความสูญเสีย ปลุกคนทั้งชาติให้หันหน้าเข้ามาช่วยเหลือ ดูแล และหยิบยื่นโอกาสให้กัน แต่การช่วยเหลือในบางกรณีกระจายไม่ทั่วถึง และบรรเทาความบอบช้ำได้เพียงระยะสั้น ทิ้งให้ผู้ประสบภัยเผชิญมหาวิบัติแห่งชีวิตอีกครั้ง

มูลนิธิซิเมนต์ไทย (SCG Foundation) ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงร่วมกับพนักงานเอสซีจี ผู้แทนจำหน่าย และบริษัทร่วมทุน พร้อมด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนที่รวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านประสบภัย (Save Andaman Network : SAN) จัดตั้ง “กองทุนเครือซิเมนต์ไทยฟื้นฟูผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์” ขึ้น เพื่อช่วยชาวบ้านอย่างเร่งด่วน ทั้งในจังหวัดสตูล ตรัง กระบี่ พังงา และระนอง จนสามารถขจัดปัญหาพื้นฐานเรื่องปากท้องของชาวบ้านไปได้หมดสิ้น

เมื่อพื้นที่ท่องเที่ยวที่เป็นเหมือนกระบอกเสียงของพื้นที่ได้รับความช่วยเหลือจนเริ่มเข้าสู่สภาพดี คนส่วนใหญ่จึงเข้าใจว่าปัญหาสิ้นสุดลงแล้ว ทั้งที่ความจริงผู้ที่เดือนร้อนมากที่สุดแต่ไม่ได้รับการพูดถึงคือ “ชาวประมงชาวฝั่ง” ซึ่งสิ่งที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่บ้านหรือเงินช่วยเหลือใดๆ แต่เป็นเพียงโอกาสที่ให้พวกเขาได้ “อาชีพ” ของตนกลับคืนมา เพื่อสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้อย่างภาคภูมิอีกครั้ง นายหมาดดาด เหล็มหมัน ชาวประมงบ้านบ่อเจ็ดลูก อำเภอละงู จังหวัดสตูล กล่าวไว้ว่า “เรือเป็นหม้อข้าวของชาวประมง” ซึ่งตรงกับที่นายพุ่ม ยางดี ชาวประมงวัย 69 ปี เห็นว่า “ชาวประมงไม่มีที่ดิน ไม่มีสมบัติอย่างอื่น รู้แต่ว่ามีกุ้ง มีปู มีปลา อยู่ในทะเล แต่ถ้าไม่มีเรือก็จบ” มูลนิธิซิเมนต์ไทยจึงจัดตั้ง “อู่ซ่อมสร้างเรือชุมชน” ขึ้นในปี พ.ศ. 2548 เพื่อใช้สร้างและซ่อมเรือที่เสียหายให้พร้อมออกทะเลอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนให้เกิดอาชีพต่อเนื่องจากการประมง อาทิ แพปลาชุมชน อู่ซ่อมเครื่องเรือ การทำกลุ่มออมทรัพย์ของชุมชน และการสร้างเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำวัยอ่อน 4 หมู่บ้าน ที่เป็นเหมือนการสร้างเงื่อนไขไปในตัวให้ชาวบ้านเกิดการรวมกลุ่ม ดูแลกันเองจนเกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งในระยะยาว นายอะเหร็น พระคง ประธานชมรมประมงพื้นบ้าน จังหวัดตรัง เล่าให้ฟังว่า “การทำประมงเปลี่ยนไปเยอะหลังจากสึนามิ ทะเลมันเปลี่ยนไป ระบบนิเวศน์ต่างๆ มันเสียหาย ชายฝั่งก็พังไปเยอะ ถูกกัดเซาะ คนใน 4 หมู่บ้านจึงร่วมกันอนุรักษ์ จัดการสร้างกฎระเบียบ แต่กว่าจะได้เขตแดนเลเสบ้านมาก็เหนื่อยเหมือนกัน เพราะพี่น้องที่ทำประมงแถบนี้มีมาก มีทั้งผิดกฎหมาย ผิดประเภท บางชนิดเป็นเครื่องมือทำลายล้าง แต่กฎหมายไม่ควบคุม ต้องใช้เวลาคุยกันนาน ต้องอธิบายเหตุผล พื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญ เป็นถิ่นอาศัยของพะยูน เต่าทะเล สัตว์น้ำวัยอ่อน ต้องทำความเข้าใจกันมากมาย คุยกัน 9 เดือนกว่าจะเข้าระบบ จากนั้นก็ทำโปสเตอร์ เอกสาร ออกแจกตามเรือประมงในทะเล”

นายชลาลักษณ์ บุนนาค กรรมการบริหารมูลนิธิซิเมนต์ไทย กล่าวถึงที่มาในการเป็นตัวตั้งตัวตีของโครงการทั้งหมดว่า “ความเดือดร้อนกระจายไปมาก โดยเฉพาะที่เห็นชัดคือ เรือที่เสียหายไปมาก เลยคิดกันว่าจะต้องช่วยเขา ประกอบกับเอสซีจีมีหุ้นส่วนทางการค้าเยอะ และเขาพร้อมที่จะช่วย”

จากการดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 มาจนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านสามารถรวมตัวกันบริหารจัดการกิจกรรมชุมชนได้ด้วยตัวเอง ชุมชนพึ่งพาตนเองและสวัสดิการชุมชนได้มากขึ้น รวมถึงมีการรวมตัวกันดูแลทรัพยากรและมีการจัดสรรได้อย่างเหมาะสม ฝ่ายองค์กรภาคธุรกิจและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ก็เปลี่ยนบทบาทจากการสนับสนุนเงินทุนเพียงอย่างเดียว เป็นการสนับสนุนในเชิงทักษะ ความรู้ ที่เกี่ยวเนื่องกับความเชี่ยวชาญขององค์กรธุรกิจนั้นๆ จนเกิดเป็นการทำงานร่วมกันของชาวบ้านและทุกภาคส่วนในสังคม

นางสาวสุรนุช ธงศิลา กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทย กล่าวถึงผลสำเร็จของโครงการนี้ว่า “การดำเนินโครงการกองทุนฟื้นฟูผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์ ได้สร้างมิติใหม่ของการทำงานทางสังคม ในแง่ที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน องค์กรภาคธุรกิจ และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ไม่ได้อยู่ในลักษณะของผู้ให้และผู้รับที่มีความสัมพันธ์กันเพียงเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณ แต่เป็นการ ‘ร่วมหัวจมท้าย’ ซึ่งมีการคิด การปรึกษาหารือ การลงพื้นที่ติดตามงาน อันนำไปสู่การกำหนดแผนงานฟื้นฟูผู้ประสบภัยที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการ จนสามารถฟื้นคืนชีวิต อาชีพ และการมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์กลับคืนมา และเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม” ถึงตอนนี้ แม้ฝันร้ายของชาวฝั่งอันดามันจะยังติดตาพวกเขาอยู่ แต่พวกเขาก็มีกำลังใจและกำลังปัญญากลับมาใช้ชีวิตตามวิถีชาวประมงได้อย่างเข้มแข็ง ด้วยความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย แต่ความช่วยเหลือสู่ผู้ประสบภัยนั้น คงไม่สามารถขจัดปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ได้ หากไม่ได้เกิดจากความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง รวมถึงสนับสนุนให้คนในชุมชนสามารถดูแล และพัฒนาชุมชนของตนเองได้อย่างยั่งยืน

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net