บีโอไอหนุนผู้ประกอบการไทยลุยลงทุนด้านไบโอเทค หวังให้กลุ่มเกษตร อาหาร การแพทย์ สิ่งแวดล้อม นำไปต่อยอดธุรกิจ

12 Apr 2010

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--บีโอไอ

บีโอไอจัดสัมมนาส่งเสริมการลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ โดยระดมกูรูด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพมาให้ความรู้ผู้ประกอบการในกลุ่มเกษตร อาหาร การแพทย์ สิ่งแวดล้อม นำองค์ความรู้ไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจ พร้อมนำผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมลงทุนมาชี้ช่องทางความสำเร็จ

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ จะจัดสัมมนาเรื่อง “การส่งเสริมการลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ” ในวันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2553 นี้ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายให้นักลงทุนและผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร การแพทย์ และสิ่งแวดล้อม นำความรู้ไปประยุกต์ใช้และต่อยอดให้ธุรกิจสามารถเติบโตและแข่งขันในเชิงพาณิชย์ได้อย่างยั่งยืน

“งานครั้งนี้จะมีคำตอบให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ที่กำลังมองหาลู่ทางประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาต่อยอดให้กับธุรกิจเดิมของตน โดยผู้ร่วมงานจะรับทราบข้อมูลการส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐ และฟังการถ่ายทอดกลยุทธ์จากผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ ที่จะเป็นการเข้าถึงแหล่งข้อมูลโดยตรง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจและก้าวสู่ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพได้อย่างมืออาชีพ” เลขาบีโอไอกล่าว

ทั้งนี้ภายในงานจะมีการสัมมนา เรื่องสถานภาพและมาตรการส่งเสริมการลงทุน กับก้าวต่อไปของบีโอไอโดย นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุนของบีโอไอ และการเสวนาเรื่อง ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพคลื่นลูกที่สี่ของประเทศไทยและเคล็ดลับความสำเร็จโดยนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการบีโอไอ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และนายกำจร พลางกูร รองผู้อำนวยการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีพื้นที่หน้างานเพื่อให้ความรู้แก่

ผู้ประกอบการรวมทั้งรายละเอียดสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานสัมมนาประมาณ 300 คน สำหรับกิจการเทคโนโลยีชีวภาพนั้น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีมติเปิดให้การส่งเสริมประเภท 7.30 มาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2552 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศเรื่อง ประเภท ขนาด เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ของแต่ละประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยกิจการเทคโนโลยีชีวภาพได้แก้ไขปรับปรุงจากเดิม เป็นประเภท 7.19 กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งครอบคลุมถึงกิจการ 6 ประเภท อาทิ การวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธ์พืช ยาวัคซีน โปรตีนเพื่อการบำบัด การเกษตร อาหารและสิ่งแวดล้อม เซลล์พืช และเซลล์สัตว์ในการผลิคสารชีวโมเลกุล กิจการผลิตวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่ใช้ในการทดลอง และกิจการบริการตรวจวิเคราะห์หรือสังเคราะห์สารชีวภาพ

ปัจจุบัน มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมประเภทกิจการเทคโนโลยีชีวภาพจากบีโอไอแล้ว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 ถึงเดือนมีนาคม 2553 จำนวน 9 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 298.7 ล้านบาท อาทิ บริษัท โรงงานเภสัชกรรม เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด ได้รับการส่งเสริมผลิตวัคซีนและน้ำยาทดสอบที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นรายแรกที่ได้รับการส่งเสริมในประเภทกิจการนี้ ทางบริษัท ฯ ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราชผลิตวัคซีนไรฝุ่น โดยส่งบุคลากรไปเรียนรู้วิธีการผลิตและนำผลการวิจัยมาผลิตเป็นวัคซีนเพื่อการค้า และบริษัทไมโครอินโนเวต จำกัด ได้รับการส่งเสริมวิจัยพัฒนาและผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์จากเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งจะมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ มีคุณสมบัติช่วยควบคุมโรคหรือยับยั้งเชื้อก่อโรคในสัตว์ได้

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โทรศัพท์ 02 -537-8111 ต่อ 1099 , 5587 หรือ ที่ website : www.boi.go.th