ปี 2553 โอกาสทองกุ้งไทย เหตุคู่แข่งประสบปัญหาโรคระบาด

17 Feb 2010

กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--สมาคมกุ้งไทย

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศผู้ผลิตกุ้งของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย ประสบปัญหาโรคไวรัสกล้ามเนื้อขุ่น- Infectious Myonecrosis (IMN) ระบาดอย่างหนัก เป็นเหตุให้ผลผลิตกุ้งของอินโดนีเซียลดลงถึง 40% ขณะที่ประเทศจีน ก็ประสบภาวะอากาศหนาวจัด ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงกุ้งได้ ส่งผลให้ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2553 นี้ผลผลิตกุ้งในจีนไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคถึงกับต้องนำเข้ากุ้งเสียเอง โดยมีคำสั่งซื้อกุ้งจากประเทศไทยเกือบ 1,000 ตันต่อเดือน ส่วนสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดผู้นำเข้าหลักของกุ้งไทย ก็ยังคงคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องและเพิ่มปริมาณขึ้น หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯคลี่คลาย

จากปัจจัยทั้งหมดดังกล่าว ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ในปี 2553 นี้ระดับราคากุ้งอาจมีการขยับขึ้น และจะเป็นโอกาสทองของกุ้งไทยที่ประเทศไทยควรต้องคว้าไว้ โดยเร่งเปิดตลาดใหม่ๆ ขณะเดียวกัน ก็ต้องป้องกันไม่ให้โรค IMN เข้าสู่ประเทศไทยด้วยมาตรการที่เข้มงวด เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเองก็ประสบภาวะอากาศแปรปรวน กระทบต่อปริมาณผลผลิตกุ้งบ้างเช่นกัน

นายกสมาคมกุ้งไทยกล่าวอีกว่า น่ายินดีที่กรมประมงได้เตรียมมาตรการรับมือกับปัญหาโรค IMN โดยเตรียมออกประกาศให้ผู้ประกอบการที่จะนำเข้ากุ้งและสินค้ากุ้งจากต่างประเทศต้องตรวจสอบแหล่งผลิตของสินค้าก่อนนำเข้า และต้องแนบใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ (Animal Health Certificate) ที่ระบุว่าปราศจากโรค IMN ตนจึงค่อนข้างสบายใจว่าประเทศไทยจะสามารถป้องกันโรค IMN จากอินโดนีเซียได้

ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกกุ้งไทย ในปี 2552 อยู่ที่ 390,395 ตัน หรือ เพิ่มขึ้น 8.77% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่าส่งออก 93,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.94% เช่นกัน โดยสามารถแยกเป็นการส่งออกกุ้งไปยังประเทศญี่ปุ่น 70,701 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 51 ถึง 11.93% ขณะที่ตัวเลขการส่งออกกุ้งไทยไปยังสหรัฐอเมริกา ทำได้ถึง 187,635 ตัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 51 ประมาณ 3.68%