ร่วมต้อนรับ นักวิทยาศาสตร์สตรีไทยคนแรก กลับจากขั้วโลกใต้ สู่ไทย พร้อมทั้งเผยประสบการณ์การสำรวจทวีปแอนตาร์กติก

01 Apr 2010

กรุงเทพฯ--1 เม.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย และ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้สนับสนุน จัดงานแถลงข่าวต้อนรับการกลับสู่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการของ ผศ. ดร. สุชนา ชวนิชย์ นักวิทยาศาสตร์สตรีไทยคนแรก จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับคัดเลือกจากสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น (NIPR: National Institute of Polar Research Japan) ให้ร่วมเดินทางไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติกกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกญี่ปุ่น คณะที่ 51 (JARE-51: Japanese Antarctic Research Expedition) ณ สถานีวิจัยโชว์วะ (Syowa Station) ของประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ผศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ ยังเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์สตรีดีเด่นที่ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ประจำปี 2551 ด้วย โดยงานแถลงข่าวดังกล่าวได้จัดขึ้น ณ ห้องแปซิฟิค บอลรูม โรงแรม แพน แปซิฟิค

มร. ฌอง ฟรองซัวส์ คูเว่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้สนับสนุนการเดินทางในครั้งนี้ เปิดเผยว่า “ลอรีอัล ยินดีเป็นอย่างมาก ที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการเดินทางครั้งนี้ของ ผศ.ดร. สุชนา ด้วยหลายเหตุผลด้วยกัน 1) การที่ได้มีนักวิจัยสตรีไทยคนแรกร่วมเดินทางไปทำงานวิจัยที่แอนตาร์กติกด้วยนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างมากสำหรับประเทศไทย 2) การเดินทางครั้งนี้ได้กระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งนับเป็นหนึ่งในเจตนารมย์ของโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ และ 3) การเดินทางครั้งนี้ยังทำให้คนไทยหันมามองเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ลอรีอัลทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก เราได้มุ่งมั่นลดการใช้พลังงานและน้ำ ลดปริมาณการปล่อยของเสียและก๊าซออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลาสติก นอกจากนั้นเรายังมุ่งมั่นที่จะหาและเลือกใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาวิธีการทำงานวิจัยให้เป็น Green Chemistry คือ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หรือเลือกใช้กระดาษที่มาจากโครงการปลูกป่าทดแทน สำหรับที่ประเทศไทยนั้น เราได้ให้คลังสินค้าของเราหันมาใช้แสงจากธรรมชาติมากขึ้น ทำให้เราสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ถึงร้อยละ 50 ต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตร รวมทั้งผลักดันให้แบรนด์ของเรานำเสนอผลิตภัณฑ์หรือจัดกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ พัฒนาผลิตภัณฑ์ปกป้องผิวจากแสงแดดของ ลา โรช-โพเซย์ (La Roche Posay) ให้มีตัวกรองแสงที่เป็นสารเคมี (chemical filters) น้อยลง โดยงดใช้น้ำหอมและสารกันเสีย หรือกระเป๋าผ้าของคีลส์ (Kiehl’s) ที่ผลิตจากขวดพลาสติก เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของลอรีอัล ทั่วโลก”

ศ.ดร. สุพจน์ หารหนองบัว คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ในฐานะต้นสังกัด เรามีความยินดีกับการเดินทางกลับมาของ ผศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ ผู้เป็นตัวแทนประเทศไทยในการร่วมศึกษากับทีมนักวิจัยระดับนานาประเทศ ตลอดระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ที่ผ่านมา ผศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถและความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการปฏิบัติงานวิจัยโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างหนัก และการนำประสบการณ์พิเศษที่ได้รับมาเผยแพร่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศ รวมถึงช่วยสร้างความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลกมากยิ่งขึ้น โดยเป้าหมายของคณะวิทยาศาสตร์ คือ การร่วมพัฒนาและสนับสนุนบุคคลากรในสายงานวิทยาศาสตร์ของไทยให้มีโอกาสก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานค้นคว้าวิจัยระดับนานาชาติ และนำประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับมาต่อประยุกต์ใช้กับงานวิจัยที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ผศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ นักวิทยาศาสตร์สตรีไทยคนแรกที่ได้เดินทางไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติก เปิดเผยถึงความรู้สึกจากการเดินทางไปสำรวจตลอดระยะเวลา 4 เดือนทีผ่านมาว่า “รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมากที่ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตร่วมกับคณะทีมสำรวจระดับนานาชาติในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกภาคฤดูร้อน (summer training) ณ ประเทศญี่ปุ่นก่อนการเดินทาง หรือแม้กระทั่ง การเดินทางร่วมกับคณะสำรวจฯ ด้วยเรือตัดน้ำแข็ง AGB Shirase II เพื่อเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการ ณ สถานีวิจัยโชว์วะ ของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะการสำรวจครั้งที่ 51 นี้ นับเป็นการปฏิบัติงานที่ค่อนข้างยากลำบากมากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างมากจากพายุหิมะ (blizzard) หลายครั้งพัดผ่านตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงช่วงฤดูร้อนที่คณะสำรวจฯ ได้เดินทางเข้ามาถึง ส่งผลให้การปฏิบัติงานหลายอย่างต้องล่าช้าหรือหยุดชะงัก ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานทั้งหมดที่กำหนด ซึ่งพายุหิมะที่เกิดขึ้นในระดับที่รุนแรงที่สุดของช่วงฤดูร้อนของปีนี้ มีความเร็วลมสูงกว่า 35 เมตรต่อวินาที ทัศนวิสัยต่ำกว่า 50 เมตร ซึ่งนับว่ารุนแรงกว่าช่วงฤดูร้อนปกติเป็นอย่างมาก หากเปรียบเทียบการเดินทางผ่านทะเลน้ำแข็งในฤดูร้อนปี 2003/2004 ซึ่งมีความหนาของผิวทะเลน้ำแข็งไม่ถึงเมตร หรือฤดูร้อนปีต่อมาจนถึงปี 2008/2009 ที่มีความหนาปกติ กระทั่งฤดูร้อนปี 2009/2010 ครั้งนี้ ที่หนาถึง 4.5 เมตร ซึ่งหนากว่าทะเลน้ำแข็งปกติที่หนาประมาณ 1-3 เมตร และมีความแปรปรวนของสภาพอากาศสูง ดังนั้น การตรวจติดตามและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศระยะยาว ทั้งที่เปลี่ยนแปลงในสภาพที่หนาวหรือร้อนขึ้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการตอบคำถามที่เราให้ความสนใจในปัจจุบัน (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change) ทั้งนี้ รวมถึงการศึกษาผลกระทบอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกับสิ่งมีชีวิต จึงเป็นสิ่งสำคัญและเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม คณะสำรวจฯ ก็ได้มีโอกาสบันทึกปรากฎการณ์ดีๆ ที่หาดูได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นแสงจากดวงจันทร์ที่สุกสกาวเต็มดวงในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ซึ่งโดยปกติแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องสว่างตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงฤดูร้อนทำให้มองเห็นดวงจันทร์ยามค่ำคืนได้ยาก แตกต่างจากฤดูหนาวที่ดวงจันทร์สามารถปรากฎให้เห็นเป็นสง่าอยู่เหนือศีรษะ นอกจากนั้น ยังสังเกตเห็นแสงออโรร่า (Aurora) หลายครั้ง เมื่ออยู่บนเรือขณะเดินทางกลับ แสง ออโรร่าเกิดจากการที่อนุภาคที่มีประจุวิ่งเข้ามากระทบกับอนุภาคต่างๆ บนชั้นบรรยากาศ เช่น ออกซิเจน ทำให้เกิดเป็นสีสันต่างๆ ซึ่งไม่ได้ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งนัก

นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสร่วมเดินทางออกนอกสถานีวิจัยโชว์วะเข้าสู่บริเวณชายฝั่งทวีปแอนตาร์กติกร่วมกับคณะสำรวจชุดต่างๆ หลายครั้ง โดยได้ออกสำรวจร่วมกับชุดสำรวจชีววิทยาและสมุทรศาสตร์ เพื่อเก็บตัวอย่างสัตว์ทะเลจากใต้ทะเลน้ำแข็ง (sea ice) เก็บตัวอย่างชั้นน้ำแข็ง (ice core) และเก็บตะกอนดินจากทะเลสาบต่างๆ หลายแห่ง เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และนำไปสกัดหาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีชีวภาพ การออกสำรวจร่วมกับชุดสำรวจธรณีวิทยา เพื่อสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน (แผ่นดินไหว) และอุปกรณ์ตรวจวัดการเคลื่อนตัวของแผ่นน้ำแข็ง จากการศึกษาที่ผ่านมายังพบว่าแผ่นน้ำแข็งบริเวณชายฝั่งดังกล่าวมีการเคลื่อนตัวประมาณ 5 เมตรต่อปี ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการเคลื่อนตัวโดยเฉลี่ยของเปลือกโลกบริเวณทวีปแอนตาร์กติกที่มีค่าประมาณ 1 เซนติเมตรต่อปี

สำหรับงานสำรวจอีกงานหนึ่งที่สำคัญ ได้แก่ การสำรวจอุกกาบาต ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศแนวหน้าที่มีการสำรวจและค้นพบหินอุกกาบาตบนทวีปแอนตาร์กติกเป็นจำนวนสูงสุดของโลก และในปีนี้ได้สำรวจพบอุกกาบาตจำนวนทั้งสิ้น 635 ชิ้น ซึ่งชิ้นที่ใหญ่ที่สุดมีน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม อุกกาบาตเป็นชิ้นส่วนของหินแร่จากอวกาศที่ตกลงสู่พื้นโลก อุกกาบาตเหล่านี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ ได้ทราบถึงการกำเนิดและความเป็นมาของระบบสุริยะ รวมถึงโลกของเราต่อไป

ทั้งนี้ ประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้จากการเดินทางไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติกในครั้งนี้ อยากจะนำมาถ่ายทอดให้คนไทยรวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ไทยได้เข้าใจถึงธรรมชาติและความสำคัญของทวีปแอนตาร์กติกที่มีต่อโลกและมนุษยชาติ นอกจากนั้น ตัวอย่างหรือสิ่งต่างๆ ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้จะนำไปวิเคราะห์เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมต่อไป” ผศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ กล่าวสรุปท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด

คุณพรรวี สุรมูล และคุณกมลรัตน์ ปลอดภัย

บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์

โทรศัพท์ 02 627-3501 ต่อ 110 หรือ 109

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คุณเร ประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 02-218-5013

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net