iTAP หนุน “คิดนอกกรอบ สู้โลกร้อน” ต่อเนื่อง อวดโฉมผลงาน ต้นแบบ Eco Design

24 Mar 2010

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--iTAP

iTAP หนุน “คิดนอกกรอบ” ทำผลิตภัณฑ์จากของเหลือใช้ สู้โลกร้อนต่อเนื่องปีที่สอง อวดโฉมผลงานจาก 7 บริษัทในโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองฯ และอีก 9 บริษัทในโครงการโรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวฯ มุ่งนำ Eco Design สร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์สวย ใช้ประโยชน์ได้จริงจากเศษเหลือในโรงงาน พร้อมแนวคิดผลิตน้อยแต่ใช้สอยได้มาก จับโซฟา “แยกร่าง” จาก 1 เป็น 3 และคาด “ความเข้าใจ”จะช่วยเปิดตลาดใหม่ให้ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม

ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องร่วมกันแก้ไข การหาทางออกหนึ่ง ได้แก่ การใช้วัตถุดิบหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดของเสียให้เกิดน้อยที่สุด เนื่องจากการกำจัดขยะโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเป็นภาระหนักและแตกต่างจากขยะในครัวเรือน อีกทั้งยังมีปริมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นเศษชิ้นส่วนไม้ พลาสติก หนัง เหล็กหรืออลูมิเนียม ฯลฯ

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ตัวอย่างหนึ่งของความตื่นตัวในเรื่องนี้ อาทิ มีการนำกาวหรือสีที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมาใช้ในอุตสาหกรรมนี้ การใช้ไม้จากป่าปลูกทดแทนการตัดไม้ทำลายป่า ล่าสุดแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือ Eco Design ซึ่งมุ่งเน้นการลดของเสีย และเพิ่มปริมาณการนำกลับมาใช้ใหม่ กำลังได้รับความนิยม ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทยผ่านโครงการ iTAP (โครงการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย)มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 และมีกิจกรรมการอบรม สัมมนา การวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้น การเสาะหาเทคโนโลยี และการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญฯลฯแก่อุตสาหกรรมนี้มาโดยตลอด ทำให้ที่ผ่านมาได้ให้คำปรึกษาไปแล้วกว่า 140 บริษัทและมีบริษัทเข้าร่วมสัมมนากว่า 1,000 บริษัท หรือประมาณ 1,800 คน ทั้งนี้เพื่อพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถปรับตัวให้เท่าทันกับตลาดและผู้บริโภค

โดยเฉพาะในกระแสตื่นตัวการนำเรื่อง 3R ได้แก่ Reuse Reduce Recycle มาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเลือกใช้ R แรกคือ Reuse มาใช้ด้วยการนำเศษเหลือใช้ของโรงงานมาเพิ่มมูลค่าเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งในปี 2551 ได้มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 3 บริษัทต้นแบบผ่านโครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง : รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้” ล่าสุดปี 2552 ที่ผ่านมายังมีบริษัทเข้าร่วมอีก 4 บริษัท นอกจากนี้ยังได้เกิดโครงการ “Green Furniture Factory: โรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” เพื่อปรับความคิดในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการ 9 บริษัทต้นแบบ โดยมีกิจกรรม เช่น ปรับทัศนคติการผลิต การออกแบบ การตลาด ไปจนถึงการขอใบรับรอง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ iTAP ในโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นทองฯ กล่าวว่า วัสดุในโลกล้วนมาจากธรรมชาติซึ่งหากนำมาใช้เพียงอย่างเดียว คนรุ่นต่อไปอาจไม่มีทรัพยากรหลงเหลือ ทุกวันนี้อุตสาหกรรมยังมีเศษวัสดุเหลือทิ้งกว่า 30 เท่า การทำงานเพื่อผลักดันให้นำวัสดุเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์จึงต่อเนื่องเป็นปีที่สองและได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคเป็นอย่างดี

“ขณะนี้ลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจนะ เขารู้อยู่แล้วทำไมจึงแพง ทำไมถูก ทุกคนเริ่มเข้าใจ ไม่ใช่เอาเศษวัสดุเหลือใช้มาผลิตแล้วจบ แต่ต้องผ่านทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตที่ดี ผ่านความคิด การออกแบบที่สวยงามและใช้ประโยชน์ได้จริง ปัจจุบันลูกค้า(เฉพาะที่ร้าน OSISU : โอซิซุ) ก็ใช้สินค้า Eco Product เพิ่มขึ้น 5-10 % แม้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ โดยมีทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไป รีสอร์ทและสถาปนิก”

ข้อดีของการทำเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุเหลือใช้ คือ การไม่ถลุงทรัพยากรธรรมชาติเพิ่ม ลดการใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย สนับสนุนให้คนคิดนอกกรอบและร่วมกันแก้ปัญหาเศษวัสดุเหลือทิ้งด้วยการออกแบบและสร้างรายได้ยิ่งนำเศษวัสดุในอุตสาหกรรมต่างๆมาใช้ ก็จะเปิดตลาดใหม่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย นึกถึงเมืองไทย เราอาจสู้ต่างชาติ เรื่องความไฮเทค ความทันสมัยไม่ได้ ดังนั้น Eco Product น่าจะช่วยสร้างจุดขายใหม่ให้กับสินค้าไทย

สำหรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ผศ.ดร.สิงห์ กล่าวอีกว่า การทำโครงการนี้ส่วนตัวแล้วไม่ได้กังวลว่าจะมีคู่แข่ง แต่อยากให้ช่วยกันใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเพิ่มขึ้น และหากบริษัทฯใดต้องการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวสามารถติดต่อกับ iTAP ได้โดยตรง โดยขั้นแรกอาจต้อง เข้าไปตรวจก่อนว่าบริษัทฯพร้อมที่จะเข้าร่วมหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น เครื่องมือในโรงงานต้องพร้อมเพื่อไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มและความร่วมมือร่วมใจของคนทำงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ “หากจะรณรงค์การนำวัสดุเหลือใช้อย่างแรกที่ทุกคนสามารถทำได้ คือ การคัดแยก การคัดแยกจะทำให้วัสดุนั้นมีค่าทันทีเพราะเราจะรู้ว่าเศษนั้นคืออะไร มีค่าอย่างไร หากไม่คัดแยกเราไม่รู้ว่าเศษแต่ละอันมีปริมาณเท่าไร ใช้หลักคัดไว้ก่อนมันก็จะเกิดมูลค่าขึ้นมาได้” ด้าน นายภัทรพล จันทร์คำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อีกหนึ่งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ iTAP ในโครงการเฟอร์นิเจอร์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน กล่าวว่า ดำเนินโครงการนี้ต่อเนื่องมาเป็นปีที่สอง โดยในปีแรกได้อบรมให้ความรู้กับผู้ประกอบการ และปีล่าสุดนี้จึงได้แสดงผลงานทั้ง 9 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว สำหรับหลักการกรีนดีไซน์นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น การใช้วัสดุให้น้อยลง การใช้วัสดุท้องถิ่น หรือการใช้เศษวัสดุเหลือทิ้ง เป็นต้น

“หลักการออกแบบกรีนดีไซน์นั้นจะขึ้นอยู่กับไอเดียของนักออกแบบ ซึ่งต้องมองตั้งแต่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต เทคนิค และเพิ่มโจทย์ของประโยชน์ใช้สอย เพิ่มเนื้อหาความน่าสนใจ มันยากนะครับในการที่เฟอร์นิเจอร์ตัวหนึ่งนอกจากจะใช้งานได้ดี สวย นี่ก็เก่งแล้ว แต่ยังต้องมีแรงบันดาลใจในการออกแบบ ทำอย่างไรให้เฟอร์นิเจอร์หนึ่งตัว สามารถทำให้ผู้ใช้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม อันนี้ถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุด ”

ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวอีกว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ จาก บริษัท พิมพ์เพ็ญ จำกัด ถือเป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากหากมองแค่ภายนอกก็จะเห็นเพียงโซฟาเพียงหนึ่งตัว ถ้าไม่มีการอธิบายจะไม่รู้เลยว่าเป็น Eco Design ได้อย่างไร โดยบริษัทฯนี้จะทำเฟอร์นิเจอร์ซึ่งใช้วัสดุจำพวกหุ้มเบาะอย่างฟองน้ำเป็นหลัก ดังนั้นปัญหาของเฟอร์นิเจอร์พวกนี้ คือ ต้องทำโครงไม้ขึ้นมาก่อนจากนั้นจึงนำฟองน้ำมาหุ้ม โดยจะต้องนำกาวมาใช้ติดถาวรหมด เวลาเสียหายและต้องการเปลี่ยนหรือกำจัดทิ้งก็จะเป็นปัญหามากในการแยกวัสดุต่างๆเพื่อนำไปรีไซเคิล

“ ผมให้โจทย์ว่าเป็นไปได้ไหมที่จะมีโซฟาเป็นงานหุ้มเบาะที่จะสามารถแยกร่างได้ หลังจากที่หมดอายุไขไปแล้ว สามารถเพิ่มฟังก์ชั่น โดยการผลิตเพียง 1 ครั้งจะได้เฟอร์นิเจอร์ถึง 3 แบบ เนื่องจากสามารถถอดออกได้หลายแบบ เหมือนซื้อโซฟาเพียง 1 ตัวแต่สามารถได้โซฟาถึง 3 ตัว อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนหรือนำวัสดุทดแทนอื่นๆมาใช้ทดแทนได้ง่ายขึ้น”

นักออกแบบ iTAP ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ตลาดของผลิตภัณฑ์ Eco Design แม้จะไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่มากแต่ก็เชื่อว่าสามารถโตขึ้นได้เรื่อยๆ และมองว่าอุปสรรคของการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สีเขียว คือ ผู้ประกอบการไม่มั่นใจในตลาด ไม่มั่นใจว่าจะขายได้หรือไม่ คิดอย่างนี้มันเหมือนงูกินหาง ซึ่งหากผู้บริโภคไม่มีความรู้ เขาก็ไม่ซื้อและเมื่อไม่ซื้อบริษัทก็ไม่กล้าผลิต

“การแสดงผลงานครั้งนี้ ( TIFF 2010) ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภค ดังนั้นการตลาดจึงเป็นเรื่องสำคัญ คือ สินค้าดีอย่างเดียวอาจไปไม่รอด หากขาดการทำความเข้าใจว่า เมื่อใช้สินค้าเหล่านี้แล้วจะทำให้ได้ทั้งสินค้าที่มีประโยชน์ สวยงาม แข็งแรงเหมือนเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป และยังใช้แล้วมีความสุข”

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ iTAP

ติดต่อได้ที่ โทร.02-564 -7000 ต่อ 1368 และ 1381

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net