“บวร” สนามฝึกคนเก่ง-ดี...จากม.ศรีวิชัยถึงบ้านป่าขาด

08 Sep 2010

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล

นิสิตสถาปัตย์ฯ มทร. ลุยทะเลสาบสงขลา รื้อขยะริมเลขึ้นฝั่ง สร้างสะพานไม้เรียนรู้ระบบนิเวศ ปลุกจิตสำนึกชาวบ้าน ตระหนักถึงปัญหาทรัพยากรชายฝั่งจนสำเร็จ ด้านคนป่าขาดรับลูก ตั้งชมรม “บวร ฅน กับเล” สานต่องานในชุมชน “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ถือเป็นสัญลักษณ์เชิงพื้นที่ ที่มีความสำคัญมากในชุมชน แต่ “บวร” ที่จะกล่าวถึงในวันนี้ เป็นชื่อโครงการ “บวร เส้นทางศิลป์กับต้นกล้าชุมชนป่าขาด” ของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา (มทร.) ซึ่งชนะใจกรรมการจากโครงการกล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน กระทั่งคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ๑ ปี ๒๕๕๒ มาครอง

และผลงานของนักศึกษากลุ่มนี้ใช่เพียงแต่จะชนะใจกรรมการเท่านั้น แต่ยังชนะใจชาวบ้านในชุมชนป่าขาด อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ เพราะสร้างความตื่นตัวให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาหวงแหน เห็นคุณค่าของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมากขึ้น จนเกิดเป็นชมรม “ บวร ฅน กับเล” เพื่อสานต่อโครงการให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในพื้นที่

“บวร เส้นทางศิลป์กับต้นกล้าชุมชนป่าขาด”มีจุดเริ่มต้นมาจากน้องๆ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ได้เขียนโครงการส่งเข้าประกวดในโครงการ “กล้าใหม่…สร้างสรรค์ชุมชน” หรือ SCB Challenge Community Projects 2009 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทยในทุกระดับชั้น ให้มีเวทีแสดงความรู้ความสามารถคิดริเริ่มสร้างสรรค์และส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของชุมชน

โครงการ “บวร เส้นทางศิลป์กับต้นกล้าชุมชนป่าขาด” ผ่านเข้ารอบ ๒๐ ทีมสุดท้าย และได้ลงมือปฏิบัติในพื้นที่จริงคือ ชุมชนป่าขาด อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงาม แต่น่าเสียดายที่ด้านหลังวัดป่าขาดซึ่งอยู่ติดกับทะเลสาบ กลับกลายเป็นแหล่งรวมกองขยะจำนวนมากที่ทับถมกันเป็นเวลานานหลายปี รวมทั้งการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมและการทำเกษตรกรรมบริเวณชายฝั่ง ทำให้น้ำเน่าเสีย ป่าชายเลนถูกทำลาย สัตว์น้ำลดน้อยลง จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้น้องๆ สถาปัตย์ฯ มทร. ที่ไม่เคยคิดเข้ามาทำงานเพื่อชุมชนมาก่อน คิดหาวิธีแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนป่าขาด และด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ พวกเขาสามารถผ่านจุดยากและง่ายมาด้วยกันอย่างไม่น่าเชื่อ

นายทศพล ชูทอง หรือ “แม๊ก” นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร. เล่าให้ฟังว่า คณะทำงานใช้เวลาว่างจากการเรียนศุกร์-เสาร์และอาทิตย์เพื่อลงพื้นที่ เริ่มจากการประสานงานกับผู้นำชุมชน ผู้อำนวยการ เจ้าอาวาสวัดป่าขาด กำนันผู้ใหญ่บ้าน จนครบทั้ง วัด บ้าน และโรงเรียน ภารกิจที่พวกเขา ๒๓ ชีวิตจะต้องทำให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๒ สัปดาห์ในชุมชนป่าขาดคือ การเก็บขยะที่ถูกทิ้งทับถมอยู่ในทะสาบสงขลาบริเวณตำบลป่าขาดขึ้นมาทั้งหมด จากนั้นจึงแบ่งหน้าที่กันออกเป็น ๔ ภารกิจหลักคือ ๑. กลุ่มเพาะต้นกล้า ทำหน้าที่จัดหาต้นกล้าและปลูกลงในพื้นที่ชายฝั่งให้มากที่สุด รวมถึงการทำบ้านให้ปลาเข้ามาวางไข่เป็นแหล่งอนุบาลลูกปลา โดยหวังว่าทรัพยากรชายฝั่งจะกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ๒.กลุ่มเส้นทางศิลป์ เป็นการใช้ทักษะความรู้ด้านศิลปะมาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการทิ้งขยะลงในถัง นำถังน้ำมันเก่าๆ มาเพ้นท์ทำลวดลายให้สวยงาม วาดภาพธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเพื่อปลูกจิตสำนึกให้เด็กๆ ในโรงเรียนวัดป่าขาดหันมาช่วยกันดูแลชุมชนของตนเอง ๓.กลุ่มต้นกล้ามัคคุเทศ ทำหน้าที่พาน้องๆ ระดับประถมศึกษาของโรงเรียนวัดป่าขาดลงพื้นที่สืบค้นประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่ม ๔.กลุ่มเส้นทางสีขาว เป็นกิจกรรมที่สามารถร่วมแรงร่วมใจระหว่างคนนอกอย่างนักศึกษาสถาปัตย์ฯ กับคนในชุมชนป่าขาด เพื่อร่วมกันสร้างสะพานไม้ลัดเลาะไปตามชายฝั่งทะเลสาบสงขลาครอบคลุมทั้ง ๕ หมู่บ้านในตำบลป่าขาด หวังให้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติของเด็กๆ และคนในชุมชน ทั้ง ๔ กิจกรรมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งจาก วัด คนในชุมชน และโรงเรียนวัด ทั้งการเป็นผู้ให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใกล้สูญหายให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ทั้งร่วมแรง ร่วมใจกันรณรงค์เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม การทำบ้านปลา และการสร้างสะพานที่มีชาวบ้านร่วมกันทอดผ้าป่าหาไม้มาช่วยกันทำสะพาน นับว่าโครงการ “บวร เส้นทางศิลป์กับต้นกล้าชุมชนป่าขาด” เป็นโครงการที่เข้ามาสร้างความร่วมไม้ร่วมมือ จุดไฟรักและหวงแหนในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในใจของคนชุมชนป่าขาดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้อย่างแท้จริง

หลังเสร็จสิ้นโครงกสนฯ ชาวบ้านได้ร่วมกันถอดบทเรียนที่ผ่านมา พบว่าในระยะเวลา ๑๒ สัปดาห์ กลับสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีงามไว้ให้ชุมชนมากมาย ทั้งมัคคุเทศก์น้อยจากโรงเรียนวัดป่าขาดที่สามารถเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุมชน แนะนำจุดเด่นของทรัพยากรในชุมชนให้ผู้มาเยี่ยมเยือนได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่ ได้ป่าชายเลนและบ้านปลาซึ่งรองรับการกลับมาของสัตว์น้ำนานาชนิด รวมถึงสะพานไม้ศึกษาระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเลสาบสงขลาของตำบลป่าขาด สิ่งเหล่านี้เป็นรูปธรรมที่แฝงไว้ด้วยนามธรรมในเรื่อง “จิต” ที่มี “สำนึก” เกิดขึ้นแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจากโครงการ “บวร เส้นทางศิลป์กับต้นกล้าชุมชนป่าขาด” คือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ชุมชนป่าขาดเริ่มตระหนักรู้ในคุณค่าของตัวเองและท้องถิ่น หลังจากที่นิสิตคณะสถาปัตย์ฯ ถอนตัวเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจจึงเกิดชมรม “บวร” ฅนกับเล ขึ้น โดยมี นายพิเชษฐ์ สินธ์สาย หรือ “อู๊ด” หนุ่มใหญ่แห่งตำบลป่าขาดเป็นแกนนำ

“ในอนาคต ต้องการเห็นชาวบ้านย้ายเครื่องดักจับปลาออกจากชายฝั่ง เมื่อให้มีพื้นที่มากพอที่จะปลูกต้นโกงกางและบ้านปลาที่จะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็กได้มากขึ้น ถึงวันนี้คนในชุมชนเริ่มเข้าใจในเจตนารมณ์ของคนที่มองเข้ามาในชุมชนมากขึ้น ชาวบ้านก็น่าจะหันมาสำรวจตัวเองมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนป่าขาดของเรา มันมากกว่าความสำเร็จของโครงการฯ ของน้องๆ” อู๊ด กล่าว

นอกจากชุมชนป่าขาดแล้ว “โครงการบวร เส้นทางศิลป์กับต้นกล้าชุมชนป่าขาด” ยังสร้างประสบการณ์ชิ้นใหญ่ให้กับนิสิตหลายคน แม็ค บอกว่า “เมื่อก่อนเห็นโฆษณารณรงค์ให้คนรักษ์บ้านเกิดกลับไปถิ่นฐานของตัวเอง ผมนึกไม่ออก มองไม่เห็นภาพ แต่เมื่อได้มาสัมผัสกับงานชุมชนจริงๆ ผมเข้าใจคำว่ารักษ์บ้านเกิดมากขึ้น คือไม่ใช่แค่เราตั้งใจเรียนจบออกมามีงานทำเท่านั้น แต่เราต้องหันมามองชุมชน ซึ่งเราไม่มีไม่ได้ เพราะมนุษย์ต้องอยู่ภายใต้ระบบพึ่งพาอาศัยกัน สิ่งที่ผมได้เรียนรู้อีกอย่างหนึ่งคือ ชีวิตเราหนึ่งชีวิตสามารถทำประโยชน์ให้กับคนอีกหลายชีวิตได้ และดีกว่าการทำประโยชน์ให้ตัวเราเองเพียงคนเดียว เวลาผมลงไปทำงานกับชุมชน สิ่งที่ผมรับรู้คือชาวบ้านให้เกียรติพวกเรา แม้จะเป็นเพียงนักศึกษา แต่เขาคาดหวังและเคารพในความคิดของเรา ตรงนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเราเองมีคุณค่าสำหรับคนอื่นมากขึ้น” ด้านนายณัฐกร อาจแกล้ว หรือ “ปอนด์” เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเองว่า “เมื่อก่อนคิดว่าเมื่อเรียนจบแล้วต้องเป็นสถาปนิก ทำงานในเมืองใหญ่ๆ แต่เมื่อได้เข้ามาทำงานในชุมชน ความรู้สึกผมเปลี่ยนไป ผมเริ่มคิดว่านอกจากการทำงานส่วนตัวแล้ว เราน่าจะสามารถทำให้คนอื่นได้ด้วย เอาวิชาความรู้ที่ได้รับหันกลับมามองชุมชนของตัวเอง”

นายไชยนันท์ เทพฉิม หรือ “ไชย” บอกว่า วันนี้โครงการของผมและเพื่อนๆ เสร็จลงแล้ว แต่เป็นเพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลืออีก ๕๐ เปอร์เซ็นต์คนในชุมชนต้องดูแลกันเอง อยู่ที่ชุมชนแล้วว่าพวกเขาจะสามารถต่อยอดไปได้มากน้อยเพียงใด สำหรับผมแล้วจะห่วงก็เพียงเรื่องขยะเท่านั้น เพราะเกรงว่าต่อไปจะต้องนั่งนับหนึ่งใหม่ถ้าคนในชุมชนละเลยอีกครั้ง

โครงการกล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน อาจเป็นเพียงเข็มทิศให้คนหนุ่มสาวกลุ่มเล็กๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้นอกห้องเรียน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนก็ไม่เกินความคาดเดา และยังมีความสำเร็จเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทุกๆ ปีที่ ฤดูกาลของ “กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน” มาเยือน

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net