iTAP ปั้น“เปลี่ยนขยะให้เป็นทองฯ”ต่อเนื่องชูแนวคิด “มองเศษอย่างสร้างสรรค์”

02 Sep 2010

กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--สวทช.

iTAP สานต่อการทำงานในโครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองฯต่อเนื่องปีที่สาม ร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และทุกอุตสาหกรรม นำเศษเหลือทิ้งมาออกแบบสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ และของแต่งบ้านชิ้นงาม ช่วยเพิ่มมูลค่าให้เศษ รับกระแสลดโลกร้อน พร้อมขานรับมาตรการต่างๆของตลาด

ด้านผู้เชี่ยวชาญ iTAP แนะแนวคิดในการออกแบบ เช่น ต้องไม่ทำให้เกิดเศษวัสดุเพิ่มขึ้น , มองเศษเหล่านี้เป็นความท้าทาย คิดนอกกรอบทำให้เกิดไอเดียใหม่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้เศษเหลือทิ้งในที่สุด

แนวทางสนับสนุนการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพื่อช่วยลดรับกระแสภาวะโลกร้อนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตเตรียมตั้งรับกับความต้องการและข้อกำหนดจากลูกค้าหรือผู้บริโภคทั้งในการบริหารจัดการกับขยะด้วยการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืนนั้นเป็นการเตรียมพร้อมและสร้างความตื่นตัวกับกระแสการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างเท่าทัน โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม(iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)เล็งเห็นความสำคัญนี้จึงจัดโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์มาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในกิจกรรมนั้น คือ โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นทอง : รับกระแสโลกร้อนและสร้างคุณค่าให้วัสดุเหลือใช้ โดยการให้คำปรึกษาแนะนำของผู้เชี่ยวชาญโครงการ iTAP ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ผ่านมาโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นทองฯประสบความสำเร็จในการสนับสนุนผู้ประกอบการมาแล้วในเฟสที่ 1 – 3 (ปี 2551 – 2553)รวมบริษัทที่เข้าร่วมโครงการและประสบความสำเร็จแล้วถึงจำนวน 16 บริษัท

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รักษาการรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC)สวทช.กล่าวเปิดงานอบรมสัมมนา “การออกแบบผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้เพื่อความยั่งยืน” กิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการเปลี่ยนขยะเป็นทองฯว่า ความสำเร็จในโครงการดังกล่าวได้มีต่อเนื่องในเฟสที่ 3 (มิถุนายน 2553 - มีนาคม 2554) โดย iTAP ได้ช่วยเหลือไม่เฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้หรือเฟอร์นิเจอร์เท่านั้นแต่ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆเข้าร่วมโครงการด้วย เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ, เหล็กโครงสร้าง, อลูมิเนียม, กระจก เป็นต้นโดยเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน เพิ่มมูลค่าจากขยะให้เป็นทองและสามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างรายได้

ล่าสุดการดำเนินงานต่อเนื่องในเฟสที่ 3 นี้มีบริษัทเข้าร่วมจำนวน 9 บริษัท ได้แก่ บริษัท เฟรมเลส คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท บูรณาพากรุ๊ป จำกัด, บริษัท กอเลี่ยงเฮง จำกัด, บริษัท มารีโนอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัทโอฬาร อินดัสทรีส์ คอร์ป จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด สว่างศิลป์ อุตสาหกรรม, บริษัท พรีเมียร์ เท็กซ์ไทล์ จำกัด, บริษัท ชิ้นงาม จำกัด และ บริษัท กีโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งกำลังดำเนินงานและได้มีผลงานบางส่วนมาร่วมแสดงแล้ว ณ Crystal Design Center (CDC)

ด้านแนวทางการทำงานในปีนี้ โครงการยังได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดในการสนับสนุนโดยเน้นไปที่ความสำคัญของต้นน้ำ คือ กระบวนการผลิตที่จะทำอย่างไรให้เกิดของเสียหรือวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตให้น้อยที่สุด นับว่าเป็นโจทย์ท้าทายของ iTAP ที่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการจากต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างแท้จริง

ดร. ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน อาจารย์พิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมบรรยายพิเศษ “มองเศษให้สร้างสรรค์” กล่าวว่า เศษเป็นสิ่งที่เหลือจากกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมซึ่งมักถูกทิ้งทำลายหรือขายโดยไม่เหลือมูลค่า เช่น เศษที่เหลือจากกระบวนการผลิต สินค้ามีตำหนิ หรือสินค้าตกรุ่น ซึ่งเศษเหล่านี้มักมีปัญหาในการนำไปใช้ประโยชน์ เกิดปัญหาในการวางแผน การออกแบบ ฝีมือ เครื่องมือ และกระแสนิยม ดังนั้นการมองปัญหาและข้อจำกัดเหล่านี้ให้เป็นความท้าทายจะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์

สำหรับแนวคิดในการออกแบบคร่าวๆจากเศษเหล่านี้ อาทิ ต้องไม่ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดเศษวัสดุเพิ่มขึ้นจากเดิม นอกจากนี้ยังควรส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานระหว่างโรงงานและผู้ออกแบบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการผลิตผลงานต่อไปในอนาคต

ดร. ยุวรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเลือกใช้เศษวัสดุจากโรงงานก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึง เช่น จะใช้เศษวัสดุชนิดเดียว หรือ เศษวัสดุหลายชนิดประกอบกัน คำนึงถึงลักษณะของเศษแต่ละชนิด รวมถึงระบบการจัดเก็บ การคัดแยกเศษของโรงงาน เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาต่อว่าจะคุ้มค่าแค่ไหน

ด้านข้อควรคำนึงถึงในการออกแบบ เช่น ลักษณะเฉพาะของเศษวัสดุ ได้แก่ ขนาด รูปร่าง คุณสมบัติ ตำแหน่งของตำหนิ รวมถึงความเป็นไปได้ในการผลิตผลงานอย่างเครื่องมือซึ่งหมายถึงเครื่องจักรและเทคโนโลยีในการผลิต ฝีมือหมายถึงแรงงานและฝีมือช่าง นอกจากนี้สิ่งที่ต้องคำนึงอีกด้าน คือ หลักพื้นฐานในการออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น ขนาดที่สัมพันธ์กับขนาดสัดส่วนของมนุษย์ ความสะดวกสบายในการใช้สอย ความสวยงาม รวมถึงแนวโน้มของกระแสความนิยมในอนาคต

“การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากเศษวัสดุ มีการออกแบบแตกต่างได้หลายมิติด้วยกัน เช่น การเล่นกับเศษให้ดูเหนือความคาดหมาย , การเล่นกับความท้าทายแรงโน้มถ่วงของโลก อย่างโต๊ะเก้าอี้อาจไม่มีขาแต่ถ่วงด้วยถังหรือของที่ทดแทนกันได้ทำให้มีความแข็งแรง สวยงามและมีประโยชน์ใช้สอยนั่งได้สบายเหมือนเดิม ซึ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับไอเดียต่างๆของผู้ออกแบบ คิดนอกรอบทำให้เกิดความสร้างสรรค์ เอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุต่างๆได้ต่อไป”

ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ iTAP

ติดต่อได้ที่ โทร.02-564 -7000 ต่อ 1300

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net