เวทีวิชาการสมัชชาสุขภาพภาคใต้ “10 ปี พัฒนาวิชชา สมัชชาสุขภาพ” และสมัชชาสุขภาพ จ.สงขลา เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว โดยร่วมแลกเปลี่ยนร่างระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2553 ใน 9 วาระ พร้อมมีการหยิบยกประเด็นสาธารณะในพื้นที่ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ใน 14 จังหวัด ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชี้การปฏิรูปประเทศไทยไม่ไกลเกินจริง เพราะได้เกิดขึ้นแล้วในระดับพื้นที่จากเวทีนี้
วันนี้ (12 ต.ค.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเวทีวิชาการสมัชชาสุขภาพภาคใต้ “10 ปี พัฒนาวิชชา สมัชชาสุขภาพ” และสมัชชาสุขภาพ จ.สงขลา เพื่อรับฟังความคิดเห็นประกอบ “ร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3” ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2553 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีนายสมพร ใช้บางยาง อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะประธานสมัชชาสุขภาพภาคใต้ เป็นประธานในพิธีเปิด ท่ามกลางผู้แทนเครือข่ายสมัชชาจาก 14 จังหวัดภาคใต้กว่า 300 คนเข้าร่วม
นายสมพร ใช้บางยาง ประธานสมัชชาสุขภาพภาคใต้ กล่าวเปิดว่า เวทีครั้งนี้จะเป็นการเปิดให้คนในระดับล่างได้มีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นที่หลากหลาย เป็นวิธีคิดและกระบวนการสำคัญที่สะท้อนความต้องการอันแท้จริงเอื้อต่อการพัฒนาประเทศ และต้องยอมรับว่าในภาคใต้นั้น ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในกระบวนการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพภาคใต้สูง รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่มีความตื่นตัวและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมาโดยตลอด ซึ่งการขับเคลื่อนเหล่านี้จะเป็นตัวอย่างแรงผลักดันให้กับสังคมในวงกว้าง นับเป็นมิติที่สำคัญที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวปาฐกถา “สมัชชาสุขภาพกับการพัฒนานโยบายสาธารณะพื้นที่ภาคใต้” ว่า พี่น้องภาคใต้จะเป็นสื่อกลางในการเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคตในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้บ้านเมืองนั้นมีโอกาสที่ดีกว่า โดยสมัชชาสุขภาพนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน ซึ่งได้ดำเนินมาร่วม 10 ปี เป็นโอกาสให้คนรวมตัวกันคิดเพื่อประโยชน์สาธารณะ ที่ผ่านมาภาคใต้นั้นมีการเสนอประเด็นที่เป็นองค์รวม เช่น เรื่องวัฒนธรรม แผนพัฒนาภาคใต้ ซึ่งสิ่งที่กำลังกระทำอยู่นั้น เรียกว่าการปฏิรูปการเรียนรู้ในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง การศึกษา คุณภาพชีวิตโดยภาคประชาชนนั่นเอง ภายใต้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
“แนวคิดการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพโดยสมัชชาสุขภาพนั้น ต้องเกิดจากเจตนารมณ์และความต้องการของประชาชน สร้างนโยบายแบบมีส่วนร่วมในภาคประชาสังคม ขณะเดียวกันภาครัฐก็จะกำหนดนโยบายที่เกื้อหนุนต่อนโยบายแบบมีส่วนร่วมนั่นเอง” นพ.อำพล กล่าวต่อ
ดังนั้น กระแสการปฏิรูปประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป โดยสมัชชาสุขภาพได้ใช้เป็นเครื่องมือในระดับชาติที่เชื่อมโยงทุกฝ่ายไว้แก่กันมาแล้ว ซึ่งในส่วนของภาคใต้นั้นได้มีมติให้รัฐทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลได้ตอบรับ เมื่อปีที่ผ่านมา และสิ่งที่สมัชชาสุขภาพกำลังทำในปีนี้จะถูกนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาเช่นเดียวกัน และนำไปสู่การปฏิบัติในอนาคตหากมีมติของคณะรัฐมนตรีนั้น ซึ่งประชาชนต้องติดตามและนำไปปฏิบัติ โดยมีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ควบคู่กับภาคประชาชน
นพ.อำพล กล่าวต่อว่า สาเหตุของวิกฤติประเทศไทยที่ต้องปฏิรูปเนื่องจากมีความเป็นอวิชชา ความเป็นสังคมแนวดิ่ง วิธีคิดและจิตสำนึก ขาดเป้าหมายร่วม รวมศูนย์อำนาจ ขาดความเป็นธรรมในการจัดการ การใช้ทรัพยากร ระบบยุติธรรมไม่ทั่วถึง ระบบการศึกษาทำให้ชาติอ่อนแอ ระบบสื่อสารที่ยังไม่เป็นพลังของชาติ ระบบทุนนิยมขาดความเป็นธรรม ระบบราชการ-การเมืองด้อยคุณภาพ
“ที่ผ่านมาประเทศไทยยิ่งพัฒนาแต่ยิ่งด้อยลง มีความพิกลพิการเพราะระบบและทิศทางนั้นไม่ได้ไปด้วยกัน จึงเสนอให้สร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากเสียก่อน ทั้งในการทำงานของ อปท.กับภาคประชาชนสามารถจัดการปัญหาในพื้นที่ได้เอง ซึ่งทุกคนจะต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในวันนี้ชุมชนและท้องถิ่นสามารถปฏิรูปประเทศในระดับพื้นที่ได้ โดยเริ่มมีการจัดการความรู้ ที่อยู่อย่างกระจัดกระจายมารวมกัน สร้างเป็นนโยบายสาธารณะ โดยมีการสื่อสารกันทางสังคม และผลักดันสู่การปฏิบัติ ซึ่งเชื่อว่านโยบายแทนที่เคยเกิดจากส่วนกลางออกไปนั้น ต่อไปจะเกิดขึ้นจากภาคประชาชนเป็นผู้เสนอ” นพ.อำพลกล่าว
ทั้งนี้ ในเวทีดังกล่าวได้จัดกระบวนการเรียนรู้ทั้งแบบกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ โดยการประชุมได้แบ่งกลุ่มย่อยเพื่อเรียนรู้ระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2553 ใน 9 วาระ ได้แก่ ร่วมฝ่าวิกฤตความไม่เป็นธรรม นำสังคมสุขภาวะ, การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก, ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงระบบสุขภาพคนพิการ, การแก้ปัญหาวัยรุ่นกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม, มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน, มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ, นโยบายเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ และนโยบายสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะ ก่อนที่จะร่วมพิจารณาร่วมกันในห้องประชุมใหญ่
นอกจากนี้ยังได้นำเสนอกรณีศึกษาการพัฒนานโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพในแต่ละจังหวัดของ 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งกลุ่มจังหวัดสตูล, ยะลา, ตรัง, กระบี่ และภูเก็ต ยกปัญหาการบูรณาการพัฒนาคุณภาพเด็กเยาวชนและครอบครัว และการแก้ปัญหาน้ำหนักเกินมาตรฐาน-โรคอ้วน ขณะที่ จ.ระนอง, สุราษฎร์ธานี, พังงา และพัทลุง เสนอการอนุรักษ์พันธุ์พืช ปลา และพื้นที่ต้นน้ำ ส่วน จ.สงขลา, ชุมพร, ปัตตานี, นครศรีธรรมราช และนราธิวาส นำเสนอกรณีศึกษาท้องถิ่นกับการจัดการสุขภาพ หลักประกันกองทุน อาสาสมัครสร้างสุขชุมชน และการแก้ปัญหาที่ดินอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ก่อนที่จะมีพิธีลงนาม MOU ใน 11 ภาคีหลักสู่สงขลาพอเพียงในวันที่ 13 ตุลาคม
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net