เด็กวิทย์ฯ โชว์กึ๋น! ประดิษฐ์เครื่องส่งกระแสไฟฟ้าแบบไร้สาย สำนักพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช.

29 Jun 2010

กรุงเทพฯ--29 มิ.ย.--สวทช.

เด็กวิทย์ฯกว่า 30 ชีวิต ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่โครงการระยะยาวของโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือโครงการ JSTP โชว์นวัตกรรมการวิจัยคึกคัก เด็กม.2 โชว์กึ๋น ทำเครื่องส่งกระแสไฟฟ้าผ่านอากาศถึงเครื่องรับแบบไม่ต้องใช้สายไฟ รับ-ส่งได้ไกล 1.3 เมตร เล็งพัฒนาใช้กับแบตเตอร์รี่มือถือในอนาคต

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) โดยโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน(Junior Science Talent Project : JSTP) ได้จัดงานนำเสนอผลงานวิจัยของเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่โครงการระยาวประจำปี 2553 โดยปีนี้มีผู้ที่ได้รับคัดเลือกทั้งสิ้น 30 คน เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 13 คน และนักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวน 14 คน โดยตัวอย่างผลงานวิจัยเด่น อาทิ เรื่อง “การส่งกระแสไฟฟ้าผ่านคลื่นวิทยุแบบเทสล่า” ของ ด.ช. อิงฤทธิ์ รัตนวงศ์นรา มัธยมศึกษาชั้นปีที่2 จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า

ด.ช. อิงฤทธิ์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้ เพื่อหาแนวทางในการส่งกระแสไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ผ่านทางอากาศได้อย่างอิสระ โดยที่ไม่ต้องใช้สายไฟ เนื่องจากทุกวันนี้แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยให้เราพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค เครื่องเล่น MP3 ให้มีขนาดเล็กกะทัดรัดพกพาสะดวกแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของพลังงานที่จะต้องพกพาสายไฟไปด้วย หรือหากอยู่นั่งอยู่ห่างจากปลั๊กไฟก็จะไม่สะดวกต่อการใช้งาน อีกทั้งแม้ว่าขณะนี้จะมีการนำแบตเตอรี่มาใช้ในการส่งกระแสไฟฟ้าแทนสายไฟ แต่แบตเตอร์รี่ก็ให้พลังงานได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

“ในงานวิจัยนี้ได้นำแนวคิดระบบการส่งกระแสไฟฟ้าผ่านคลื่นวิทยุแบบเทสล่ามาประยุกต์ใช้ ด้วยการประดิษฐ์เครื่องกำเนิดคลื่นวิทยุ ซึ่งผลิตความถี่ในย่านความถี่คลื่นวิทยุ และทำให้มีศักย์ไฟฟ้าสูงออกทางเสาอากาศ ซึ่งเครื่องส่งนี้จะทำการเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้อยู่ในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อส่งผ่านอากาศไปยังเสาอากาศของเครื่องรับ เมื่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าวิ่งเข้าสู่ขดลวดตัวรับที่มีการปรับความถี่ให้สอดคล้องกับความถี่ของของเครื่องส่งแล้ว พลังงานที่ได้จากขดลวดจะถูกแปลงกลับให้เป็นพลังงานไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่งก่อนจะถูกส่งต่อเข้ากับอุปกรณ์ที่จะนำไปใช้งาน โดยผลการทดลองขณะนี้เสาอากาศของเครื่องรับ สามารถรับกระแสไฟฟ้าจากเครื่องส่งได้ 30% ส่วนระยะทางไกลสุดระหว่างเครื่องส่งและเครื่องรับคือ 1.30 เมตร

สำหรับการต่อยอดจากนี้ จะวิจัยพัฒนาให้มีการส่งพลังงานให้สมบูรณ์มากขึ้น สูญเสียพลังงานต่ำลง และมีระยะทางการส่งที่ไกลมากขึ้น เพื่อให้นำไปประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น หลอดไฟ หลอดนีออน มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่มือถือ ฯลฯ ได้ โดยจะติดตั้งเครื่องรับพลังงานไฟฟ้าไว้ในอุปกรณ์ ทำให้เกิดการชาร์ตไฟอัตโนมัติ นอกจากนี้อาจจะนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไร้สาย ด้วยการส่งประจุไฟฟ้าไปยังแบตเตอรี่พร้อมกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็จะทำให้โน้ตบุ๊คได้รับพลังงานไฟฟ้าทันทีโดยที่ไม่ต้องเสียบปลั๊ก การทำงานผ่านโน้ตบุ๊คก็จะง่าย สะดวก และใช้งานต่อเนื่องได้ตลอดทั้งวัน

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือโครงการ JSTP เป็นโครงการที่เฟ้นหาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาหรืออุดมศึกษา โดยเด็กและเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกจะได้ฝึกทำวิจัย ภายใต้การดูแลของนักวิจัยพี่เลี้ยง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสาขานั้น รวมทั้ง จัดกิจกรรมให้ความรู้เพิ่มเติม เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนั้น คณะกรรมการจะคัดเลือกเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง เพื่อเข้าสู่โครงการระยะยาว ซึ่งจะได้รับทุนสนับสนุนจนถึงปริญญาเอก และส่งเสริมการเข้าสู่วิชาชีพวิจัย ทั้งนี้ โครงการ JSTP จะเปิดรับสมัครทุกปีในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th/jstp และ www.jstp.org หรือ โทร 0 2564 8000

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-5647000 ต่อ 1489

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net