สคร.เผยมติคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs

28 Jun 2010

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--สคร.

เห็นชอบให้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง และโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ดำเนินการโครงการด้วยวิธี PPPs

นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูป แบบ PPPs โดยมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2553 ว่า คณะกรรมการ PPPs ได้พิจารณาเกี่ยวกับ

  • โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง
  • โครงการทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

เนื่องจากการเปิดโอกาสให้เอกชนมาร่วมลงทุนกับรัฐบาล จะเป็นการลดภาระให้กับรัฐในการที่จะต้องจัดสรรเงินมาลงทุนในโครงการฯ ไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณหรือเงินกู้ อีกทั้งเอกชนยังมีประสบการณ์และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยอันเป็นประโยชน์ต่อรัฐและถ่ายทอดความรู้มาสู่บุคลากรของรัฐ

โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงซึ่งมีอยู่ 4 เส้นทาง มูลค่ากว่า 7 แสนล้านบาทนั้น สคร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอกรอบแนวทางเบื้องต้นในการร่วมลงทุนกับเอกชนให้คณะกรรมการพิจารณา 4แนวทาง คือ 1.ให้รัฐบาลลงทุนทั้งหมด 2. เอกชนลงทุนเฉพาะขบวนรถและรับผิดชอบงานระบบรถไฟฟ้าและศูนย์ซ่อมบำรุง 3. เอกชนหรือบริษัทลูกลงทุน 50% 4. เอกชนหรือบริษัทลูกลงทุน 30% โดยมีรูปแบบการจัดเก็บ และการแบ่งรายได้หรือจ่ายค่าตอบแทนให้เอกชน ดังนี้ 1.Net Cost Concession 2.Gross Cost Concession 3.Modified Gross Concession ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อจัดเตรียมรายละเอียดในการจัดทำ Market Sounding เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของภาคเอกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติว่า มีความสนใจในเส้นทางไหนและในรูปแบบการลงทุนเช่นไร ทั้งนี้การจัดทำ Market Sounding จะเปิดกว้างสำหรับทุกความคิดเห็น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดแนวทางและรูปแบบการลงทุนเพิ่มเติมและหลากหลาย นอกเหนือจากกรอบแนวทางเบื้องต้นได้ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการดังกล่าว และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการภายในเดือนกันยายน 2553

สำหรับโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทางด่วนยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางรวม 16.7 กิโลเมตร ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการด้วยวิธี PPPs เช่นกัน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 9,564 ล้านบาท เพื่อให้โครงการฯ มีความเป็นไปได้ในการลงทุนด้านการเงิน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติในหลักการให้ดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดในพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ ศ 2535 และให้กระทรวงคมนาคมรับข้อสังเกตในการหาแนวทางการลงทุนในรูปแบบ PPPs ที่ดีที่สุดต่อไป

อนึ่ง ในส่วนของความคืบหน้าการดำเนินการจัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทยนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีมติการประชุมว่า การจัดตั้งและระดมทุนผ่านกองทุนฯ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สามารถทำได้เนื่องจากไม่ขัดกับ พรบ. จัดตั้งของทั้ง 2 หน่วยงาน อีกทั้งไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ ศ 2535 อย่างไรก็ตาม ความเห็นดังกล่าวเป็นความเห็นเฉพาะกรณีของ กฟผ. และ กทพ. เท่านั้น ซึ่งการพิจารณาจะอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงของแต่ละโครงการและข้อมูลที่ สคร. ได้จัดส่งให้ ดังนั้น หากมีรัฐวิสาหกิจใด ที่สนใจจะจัดตั้งและระดมทุนผ่านกองทุนฯ ก็จะต้องมีการพิจารณาเป็นรายๆ ไป

สคร.เชื่อมั่นว่า การลงทุนโครงการภาครัฐในรูปแบบ PPPs จะก่อให้เกิดการพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อประโยชน์อย่างสูงต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแน่นอน

ส่วนส่งสริมความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์ 02-298-5880-9 ต่อ 6748