ตอกย้ำความสำเร็จกับผลงานชิ้นโบว์แดงล่าสุดของดุลยวัต Zephyr

04 Aug 2010

กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--Grayling

“Zephyr” หรือ “อุปกรณ์จัดเก็บและทำความสะอาดเสื้อผ้า” ผลงานอันน่าภาคภูมิใจที่ทำให้ ดุลยวัต วงศ์นาวา ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ 2010” อีกครั้งเป็นปีที่สองติดต่อกันนั้น ดุลยวัตกล่าวว่า ได้แรงบันดาลมาจากแนวคิดที่ว่า พื้นที่อยู่อาศัยของประชากรโลกจะมีขนาดเล็กลงในอีก 40 ปีข้างหน้า เนื่องจากประชากรโลกจะเข้ามาอยู่อาศัยอย่างกระจุกตัวอยู่ในชุมชนเมือง ซึ่งส่งผลถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้านเรือนที่ต้องมีการปรับรูปแบบตามสภาพแวดล้อมและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

”โจทย์ในปีนี้ กำหนดบริบทและสภาพแวดล้อมในอนาคตมาอย่างชัดเจน ทำให้มีแนวทางที่ชัดเจนในการกำหนดเป้าหมายและการคิดงานออกแบบ โดยการเริ่มสังเกตงานบ้านในชีวิตประจำวันของคน ว่างานใดใช้พื้นที่มากที่สุดก่อนครับ แล้วจึงค่อยเริ่มคิดแก้ปัญหาจากประเด็นที่ได้ จนออกมาเป็น Zephyr” ดุลยวัตกล่าวเสริม

ดุลยวัตให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เมื่อพิจารณาถึงลักษณะงานบ้านในปัจจุบันที่ต้องใช้พื้นที่มากที่สุดก็คือ งานทำความสะอาดและจัดเก็บเสื้อผ้า เนื่องจากมีการแบ่งแยกขั้นตอนการทำงานออกจากกันอย่างชัดเจนในหลายขั้นตอน ได้แก่ การซักล้าง การตากแห้ง การรีด และการจัดเก็บ ซึ่งในแต่ละขั้นตอนล้วนต้องใช้พื้นที่ในการใช้งานเฉพาะตัว ปัญหาเรื่องขนาดการใช้พื้นที่จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการทำความสะอาดเสื้อผ้ารูปแบบใหม่ที่รวมขั้นตอนการทำความสะอาดเสื้อผ้าเข้ากับพื้นที่ในการจัดเก็บเสื้อผ้า เพื่อจุดประสงค์ในการลดขนาดพื้นที่ในการใช้งาน และยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้อีกด้วย

แนวคิดที่สำคัญของการออกแบบผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ที่ประหยัดพื้นที่ใช้สอยนี้คือ การนำเสื้อผ้าที่ใส่แล้วและต้องการทำความสะอาด ใส่เข้าไปใน “อุปกรณ์จัดเก็บและทำความสะอาดเสื้อผ้า- Zephyr” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับตู้เสื้อผ้า เพียงแต่ว่าเสื้อผ้าแต่ละชิ้นจะถูกจัดเก็บในช่องที่แยกออกจากกัน จากนั้นกระบวนการทำความสะอาดจะเริ่มขึ้นเมื่อนำเสื้อผ้าที่ใช้แล้วไปใส่ไว้ภายในช่องเก็บผ้า โดยเครื่องจะสแกนอ่านวิธีทำความสะอาดสำหรับผ้าชิ้นนั้นจาก RFID ที่ฝังไว้ภายในเนื้อผ้า จากนั้นเครื่องจะเลือก

โปรแกรมการทำความสะอาดที่เหมาะสมสำหรับผ้าชนิดนั้น ซึ่งเทคโนโลยีที่ออกแบบมาสำหรับโลกอนาคตนี้คือ เทคโนโลยีการทำความสะอาดแบบไม่ใช้น้ำ (Air Wash) โดยการเป่ากระแสลมร้อน พร้อมกับปล่อยไอออนของประจุลบเข้าไปจับกับคราบสกปรกที่ติดอยู่ตามเสื้อผ้า

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าจุดเด่นของ “อุปกรณ์จัดเก็บและทำความสะอาดเสื้อผ้า Zephyr” คือ สามารถช่วยลดภาระในการทำความสะอาดเสื้อผ้าของผู้ใช้จากการลดความซับซ้อนและยุ่งยากของขั้นตอนการทำความสะอาดเสื้อผ้า อีกทั้งยังช่วยลดพื้นที่ที่ต้องใช้ในการทำความสะอาดทั้งหมดให้เหลืออยู่เพียงภายในตู้เสื้อผ้าขนาดเล็กหนึ่งตู้เท่านั้น

ไม่ว่าสุดท้ายผลการพิจารณาจะออกมาเช่นไร Zephyr จะได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 8 ชิ้นงานรอบสุดท้ายหรือไม่ แต่ ณ ตอนนี้ การที่ผลงานของดุลยวัต ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบ 1 ใน 25 ผลงานของโลกถึง 2 ปีติดกัน ก็ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ และเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆให้กับตัวเอง ทำให้เขารู้สึกมั่นใจในการที่จะสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรมใหม่ๆต่อไปในอนาคต

“รู้สึกโชคดีมากครับ และที่โชคดียิ่งกว่าคือได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 25 ผลงาน ของรอบ 25 คนสุดท้ายด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เข้ารอบ 8 คนสุดท้ายเหมือนปีก่อน แต่การได้รับคัดเลือก 2 ปีติดกันก็ทำให้รู้สึกมั่นใจในไอเดียของตัวเองมากขึ้น ต้องขอบคุณการแข่งขัน อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ ที่มอบประสบการณ์ และช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ และยังเป็นการฝึกลับสมองไปในตัวด้วย เนื่องจากช่วงเวลาการจัดประกวดทุกปี จะตรงกับช่วงปิดภาคการศึกษา ถือเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และการแข่งขันนี้ยังมอบโอกาสดี ๆ ให้อีกมากมาย เช่นโอกาสที่จะได้ไปฝึกงานที่ศูนย์การออกแบบระดับโลกของอีเลคโทรลักซ์ ถ้าเป็นผู้ชนะเลิศในระดับโลก และในแง่ที่ผลงานของเราจะได้รับการเผยแพร่ในระดับนานาชาติอีกด้วย” ดุลยวัต กล่าวเสริม

นอกเหนือจากผลงานของดุลยวัตที่สามารถไปสร้างชื่อในเวทีการประกวดระดับโลกแล้ว ยังมีอีก 2 ผลงานฝีมือเด็กไทยที่น่าสนใจ จากการประกวดในระดับประเทศ “อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ 2010” นั่นคือ “Quarter – ตู้เย็นอัจฉริยะ” ผลงานการออกแบบของ น.ส.ขวัญจิตร์ ชยาภัม นิสิตชั้นปีที่ 4 จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นน้องลูกพระเกี้ยวที่ขอเจริญรอยตามรุ่นพี่ รองชนะเลิศอันดับที่ 1 และ “Surge – เครื่องทำความสะอาดเสื้อผ้าแบบครบวงจร” ผลงานจากฝีมือของ นายเฉลิมพล ธีรกุลวาณิช นักศึกษาชั้นปีที่ 5 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รองชนะเลิศอันดับที่ 2

ทั้งนี้บริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ได้มอบประกาศนียบัตร รวมทั้งเงินรางวัลให้กับเด็กไทยทั้งสามที่ชนะเลิศอันดับที่ 1-3 ในระดับประเทศเป็นจำนวน 50,000 บาท 25,000 บาท และ 15,000 บาท ตามลำดับ

“ขวัญจิตร์ กับผลงาน Quarter – ตู้เย็นอัจฉริยะ”

“Quarter – ตู้เย็นอัจฉริยะ” รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในระดับประเทศ ผลงานการออกแบบของขวัญจิตร์ ชยาภัม นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขวัญจิตร์เผยถึงสาเหตุที่ตัดสินใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดโครงการ“อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ” ในปีนี้ว่า เกิดจากการที่ได้มีโอกาสเข้าไปดูผลงานของผู้เข้าร่วมประกวดในปีที่ผ่านๆมา ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เห็นว่าเป็นเวทีที่ดีมากที่มอบโอกาสให้แก่นิสิตนักศึกษาในการเสนอแนวคิดและจินตนาการใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน อีกทั้งยังเป็นการเปิดประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการคิดงานออกแบบผลงานและนวัตกรรมเพื่อโลกอนาคตอีกด้วย ทำให้ตนเกิดความรู้สึกอยากเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวเพื่อพัฒนาและพิสูจน์ความสามารถของตนเอง

ผลงานของขวัญจิตร์ “Quarter – ตู้เย็นอัจฉริยะ” เป็นผลงานการออกแบบนวัตกรรมตู้เย็นแบบประหยัดพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนเพดาน โดยสามารถปรับขนาดความจุของตู้เย็นได้ตามจำนวนผู้ใช้งาน และอาหารจะถูกจัดเก็บโดยโปรแกรมอัจฉริยะที่สามารถจำแนกอาหารได้ และในขณะเดียวกันตู้เย็นแบบโค้งนี้ยังเป็นโคมไฟติดเพดานที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้แก่ห้อง และยังใช้พลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย

ขวัญจิตร์ มองว่า ในโลกอนาคต ไม่ว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่คงไม่เปลี่ยนแปลงนักคือ การบริโภคอาหารที่ยังต้องการวัตถุดิบที่สดใหม่เสมอ ดังนั้น หนึ่งในเครื่องครัวที่สำคัญคือตู้เย็น ตู้เย็นเดิมนั้นมีรูปแบบเป็นกล่องต่างๆ มากมายหลายขนาด กินพื้นที่มากในการใช้งาน จึงต้องการเปลี่ยนตู้เย็นให้ใช้พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ คือ พื้นที่บริเวณเหนือศรีษะ และสามารถปรับขนาดความจุของตู้ได้ตามจำนวนผู้ใช้งานได้ เมื่อไม่ได้ใช้งาน ก็จะเปลี่ยนตัวเองเป็นโคมไฟติดเพดานช่วยสร้างบรรยากาศให้แก่ห้อง และยังสามารถสะสมพลังงานแสงอาทิตย์ในขณะที่ไม่ได้ใช้งานอีกด้วย

”ควอเตอร์ แปลว่า หนึ่งส่วนสี่ หมายถึง ตู้เย็นหนึ่งส่วนเหมาะสำหรับคน 1-2 คน เพราะฉะนั้นสามารถต่อเพิ่มให้ครบสี่ส่วนได้หากมีผู้ใช้มากขึ้น โดยมีหน่วย เซนเตอร์ เป็นส่วนกลาง ลำเลียงอาหารเข้า-ออก และสะสมพลังงานแสงอาทิตย์ การทำงานของแต่ละหน่วยจะแบ่งส่วนของอาหารแต่ละประเภท คือ ช่องอุณหภูมิปรกติ ช่องแข็ง และช่องเก็บน้ำ โดยอาหารจะถูกจัดเก็บโดยโปรแกรมอัจฉริยะสามารถจำแนกอาหารได้ มีจอ LCD แบบโค้งที่สามารถใช้งานง่าย แสดงตำแหน่งอาหาร จำนวนของอาหาร และยังสามารถแจ้งเตือนวันหมดอายุได้อีกด้วย และเมื่อไม่ใช้งานจะกลายเป็นโคมไฟ LED ที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้ห้องได้สวยงามอีกด้วย” ขวัญจิตร์กล่าว

“เฉลิมพล กับผลงาน Surge – เครื่องทำความสะอาดเสื้อผ้าแบบครบวงจร”

“Surge – เครื่องทำความสะอาดเสื้อผ้าแบบครบวงจร” รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ในระดับประเทศ ออกแบบโดย นายเฉลิมพล ธีรกุลวาณิช นักศึกษาชั้นปีที่ 5 จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เขาได้ส่งผลงานเข้าแข่งขัน เฉลิมพลเผยความรู้สึกว่า “ตอนแรกก็รู้สึกประหลาดใจ ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริงรึไม่ แต่พอทราบว่าเราได้รับเลือกจริงๆ ก็รู้สึกดีใจมากๆ ที่กรรมการเห็นชอบกับผลงานของเรา การแข่งขัน“อีเลคโทรลักซ์ ดีไซน์ แล็บ 2010” เป็นการแข่งขันที่เปิดช่องให้ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาทำการออกแบบอย่างครบถ้วน ได้แสดงจินตนาการของตนเอง แสดงความสามารถและความเป็นตัวของเราได้อย่างเต็มที่ เพราะที่นี่เป็นเวทีที่ให้อิสระมากๆ ตัวโจทย์ก็มีความน่าสนใจและท้าทาย ทำให้รู้สึกสนุกเวลาที่ต้องทำการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนที่จะมาออกแบบ หาข้อมูลจาก กลุ่มบุคคลที่น่าจะเป็นผู้ใช้งาน เพื่อหาปัญหา เพื่อทำการพัฒนาในการออกแบบอย่างตรงจุด ซึ่งทำให้เกิดการนำสิ่งที่ได้ฝึกฝนมาใช้โดยที่ไม่รู้ตัว”

สำหรับ “Surge – เครื่องทำความสะอาดเสื้อผ้าแบบครบวงจร” เฉลิมพลมีแนวคิดในการออกแบบเครื่องทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ใช้คลื่นความถี่และประจุไฟฟ้าเพื่อที่จะซัก อบ และรีดเสื้อผ้าในขณะเดียวกันภายในเครื่องทำความสะอาดเพียงเครื่องเดียว โดยแค่นำเครื่องไปแขวนหรือตั้งไว้ในตู้เสื้อผ้า และนำเสื่อผ้าที่ใส่แล้วกลับไปในที่ๆ เคยหยิบมา จากนั้นเครื่องก็จะทำความสะอาดตามขั้นตอน และยังสามารถเก็บข้อมูลรายละเอียดของเสื้อผ้าที่อยู่ในตู้ไว้เป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อช่วยในการแต่งตัวอีกด้วย นอกจากนั้นระบบการควบคุมยังเชื่อมต่อกับแผงควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมภายในบ้าน เพื่อควบคุมการทำงานต่างๆ ที่ได้ทำการเชื่อมต่อข้อมูลไว้ ได้จากแผงควบคุมเพียงชิ้นเดียว

เฉลิมพล ออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ภายใต้แนวคิดที่ว่า ในปี 2050 วิธีที่คนจะทำความสะอาดเสื้อผ้านั้น คงจะเปลี่ยนจากการที่ใช้น้ำ สารเคมี และความร้อน ไปเป็นอย่างอื่น เช่น การใช้คลื่นความถี่ และประจุ เพื่อที่จะซักและรีดเสื้อผ้าไปพร้อมกันเลย โดยตัวประจุและคลื่นความถี่นั้นจะพุ่งเข้าไปชนและสั่นสะเทือน สิ่งสกปรกต่างๆ บนเส้นใยผ้าให้แยกตัว และสลายออกไป

“จากเดิมที่ต้องมีเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า เตารีด และโต๊ะรองรีด สิ่งต่างๆเหล่านี้จะถูกจับรวมเข้าเป็นชิ้นเดียว ที่มีขนาดเล็ก ในการใช้งานเพียงนำเครื่องดังกล่าวไปแขวนหรือวางไว้ในตู้เสื้อผ้า จากนั้นจึงปล่อยให้เครื่องทำงานไป ช่วยให้มีเวลาว่างมากขึ้นที่ในการพักผ่อน ไม่ต้องเสียเวลาเพื่อที่จะทำการซักอบ รีด แขวนและพับ กลับเข้าตู้อีกต่อไป” เฉลิมพลกล่าว

นอกจากนั้น เครื่องนี้ยังมีจุดเด่นตรงที่ สามารถนับและเชื่อมต่อกับเสื้อผ้าในตู้ ผ่านทางป้ายที่ติดอยู่กับเสื้อ แล้วส่งต่อข้อมูลไปยังศูนย์ข้อมูลเพื่อที่จะสามารถบอกได้ว่า เสื้อผ้าชิ้นใดสะอาดแล้ว ใส่ครั้งล่าสุดเมื่อไร เป็นเนื้อผ้าแบบไหน และยังสามารถให้คำแนะนำในการแต่งตัวให้เหมาะกับสถานที่และงานที่จะไป เสมือนเป็นสไตล์ลิสต์ส่วนตัว อีกทั้งตัวแผงควบคุม ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ชิ้นต่างๆในบ้านได้ ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมการทำงานต่างๆของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้ทำการเชื่อมต่อข้อมูลไว้ได้จากแผงควบคุมเพียงชิ้นเดียว

ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างผลงานจากการกลั่นกรองความคิดและการสร้างสรรค์ผลงานอันน่าภาคภูมิใจ จากฝีมือของเยาวชนไทยล้วนๆ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ความสามารถของเยาวชนไทยนั้น ไม่ด้อยไปกว่าชาติใดแม้แต่ในเวทีระดับโลก หากพวกเขาได้รับโอกาสและการสนับสนุนในการพัฒนาศักยภาพอย่างเต็มที่ เฉกเช่นเดียวกับที่อีเลคโทรลักซ์ ได้มอบโอกาสและประสบการณ์ให้ ซึ่งหาไม่ได้ในห้องเรียน

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net