บ.ไอทีแถวหน้า อัฟวาแลนด์ ร่วมซอฟต์แวร์พาร์ค-iTAPฯ

21 Jul 2010

กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--อัฟวาแลนท์

คว้ามาตรฐาน CMMI Level 5 รายแรกของบริษัทไทย โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP)

หนึ่งในบริษัทไอทีระดับแนวหน้าของไทย “อัฟวาแลนท์” เข้าร่วม ซอฟต์แวร์พาร์ค- iTAP (สวทช.)ในโครงการ SPI@ease ทำมาตรฐาน CMMI ได้ขั้นสูงสุด Level 5 เป็นเจ้าแรก เจ้าเดียวของไทย จากความสำเร็จนี้ผู้บริหารรุ่นใหม่อัฟวาแลนท์ชี้ “มาตรฐานที่ดีเยี่ยมสามารถทำให้ธุรกิจเติบโต” สร้างความเชื่อมั่นและบริการให้ลูกค้าในระยะยาว ลดเวลา ต้นทุนต่ำ ทำกำไรเพิ่ม ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพของซอฟต์แวร์ไทยให้ทัดเทียมสากล

มาตรฐาน CMMI (Capability Maturity Model Integration) เป็นแนวทางพัฒนากระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ให้มีคุณภาพ รวมถึงวิธีการวัดผลหรือประเมินกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดย สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering Institute, SEI) แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon)สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับระดับสากล บริษัทอัฟวาแลนท์ จำกัด หนึ่งในบริษัทซอฟต์แวร์ไทยที่เล็งเห็นว่า “มาตรฐาน” เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานขององค์กร และมองอนาคตว่าจำเป็นที่ต้อง “เดินต่อไป”อย่างไม่หยุดยั้งเพื่อเปิดตลาดซอฟต์แวร์คุณภาพ ทำให้ ณ วันนี้ อัฟวาแลนท์ กลายเป็นบริษัทซอฟต์แวร์รายแรก รายเดียวของไทย และมีเพียงไม่กี่ร้อยรายทั่วโลกที่สามารถคว้ามาตรฐาน CMMI Level 5 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของมาตรฐานนี้

จากประสบการณ์ด้านการเป็นที่ปรึกษาของบริษัทซอฟต์แวร์ในอเมริกา นายอัครพล บุญวรเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ อัฟวาแลนท์ เปิดเผยความเป็นมาก่อนประสบความสำเร็จในวงการซอฟต์แวร์ว่า เริ่มก่อตั้งบริษัทตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 ด้วยทีมงานเพียง 8 คนที่มุ่งมั่นในการทำธุรกิจซอฟต์แวร์ จนปัจจุบันทางบริษัทฯมีทีมงานกว่า100 คน โดยเน้นลูกค้าใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธนาคาร การเงิน ประกันภัย และโทรคมนาคม

เมื่อมีความต้องการจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องหาวิธีการต่างๆเพื่อรองรับงาน อัฟวาแลนท์จึงเริ่มสร้างองค์กรให้มีคุณภาพและสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการทำมาตรฐาน โดยเป็นบริษัทที่เริ่มทำมาตรฐาน CMMI อันดับต้นๆในวงการซอฟต์แวร์ไทย นายอัครพล บุญวรเศรษฐ์ กล่าวว่า “บริษัททำ CMMI Level 2 และ 3 ซึ่งเป็นระดับเบื้องต้นของมาตรฐานนี้พร้อมๆกันตั้งแต่ปี ค.ศ.2006 เรียกว่าเป็นที่แรกๆของไทยเลยที่ทำมาตรฐานนี้ สาเหตุที่เลือกทำมาตรฐาน CMMI เนื่องจากตรงกับธุรกิจของอัฟวาแลนท์มากที่สุด ด้วยเราเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และต้องการสร้างมาตรฐานซอฟต์แวร์ให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นกับองค์กรในระยะยาวและต่อเนื่อง อีกทั้งมองว่า อยากให้กระบวนการทำงานเป็นไปในทางเดียวกัน มีกรอบการทำงานชัดเจน และผลงานที่ได้มีคุณภาพระดับสากล”

ด้วยการมองการณ์ไกลและเริ่มต้นทำมาตรฐาน CMMI นี้ส่งผลให้ อัฟวาแลนท์ เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน สามารถมีกระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบ มีข้อกำหนดและระเบียบวิธีที่รัดกุมได้ผลงานคุณภาพเสมอต้นเสมอปลาย และยังช่วยลดการทำงานซ้ำซ้อน รวมถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นในการผลิต ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนลดลง

“เราวางแนวทางการทำงานตั้งแต่ทำ CMMI ครั้งแรกแล้วว่าต้องเดินไปให้ถึงใน Level 5 ขั้นสูงสุด เมื่อผ่านการประเมินใน Level 3 ก็พบว่าหลายโครงการเมื่อมีมาตรฐาน เวลาและข้อเสียลดลง สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ เช่น ข้อบกพร่องในการทำงานลดลงถึง 68% ดังนั้นจึงไม่รีรอที่จะสานต่อเพื่อให้ได้มาตรฐานสูงสุด”

กรรมการผู้จัดการอัฟวาแลนท์ กล่าวอีกว่า “แม้จะวางเป้าหมายไปให้ถึง Level 5 แต่ขณะที่ทำมาตรฐาน CMMI เบื้องต้นนั้นยังคงเจออุปสรรค เช่น ความใหม่ของ CMMI ที่ขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในบ้านเรา จึงต้องทำความเข้าใจกับคนในองค์กรว่าทำไมต้องมีมาตรฐานนี้ บางครั้งเกิดความขัดแย้งในองค์กร แต่ในที่สุดก็ผ่านมาได้ด้วยความมุ่งมั่นของทีมงานทุกคน”

นางสุกัญญา รัตนเสน ผู้จัดการ Quality Service และหัวหน้าทีมทำงาน CMMI ของบริษัทอัฟวาแลนท์ฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เดิมบริษัททำมาตรฐาน CMMI ด้วยงบประมาณของบริษัทเองทั้งหมด เช่น จ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศเข้ามาช่วยงาน และสามารถผ่านการสอบ CMMI level 3 ได้ภายในระยะเวลา 1ปีกว่าหลังจากนั้นจึงเริ่มทำ Level 4 และ 5 โดยเข้าร่วมกับโครงการ SPI@ease ซึ่งช่วงปีแรกเกิดปัญหาเรื่องความสามารถในการให้การปรึกษาของ consult ทำให้ต้องเสียเวลาในการเตรียมข้อมูลและต้องทำ Model ใหม่หลายต่อหลายครั้ง กว่าจะรู้ว่าเดินมาผิดทาง และจำเป็นต้องเปลี่ยนที่ปรึกษา”

หัวหน้าทีมทำงาน CMMI กล่าวว่า จากโอกาสที่ได้ไปฟังการสัมมนาเกี่ยวกับโครงการ SPI@ease ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) และโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ในสังกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สวทช.) จึงเกิดความสนใจเนื่องจากตรงกับงานที่กำลังทำและได้เข้าร่วมโครงการนี้ “โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยยกระดับซอฟต์แวร์ไทยให้ได้มาตรฐานและสร้างความน่าเชื่อถือจากผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งโครงการนี้ยังได้ให้ทุนสนับสนุน รวมถึงกำลังใจในการทำงาน จากข้อผิดพลาดตลอดปีกว่า แม้เสียเวลาแต่ก็ทำให้ได้ประสบการณ์เพิ่มมากขึ้น เกิดการเรียนรู้ว่าควรทำอย่างไรใน Level 5 เช่น ต้องจัดเตรียมข้อมูลซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากในการทำงาน ต้องมีความรู้ด้านสถิติ และการเตรียมข้อมูลที่มีคุณภาพเหล่านี้จะช่วยตอบโจทย์สำหรับการทำ CMMI Level 5 ได้อย่างตรงจุด และมองกว่าการทำงานลักษณะนี้ต้องใช้ความตั้งใจจริง ไม่ย่อท้อ ผู้บริหารต้องมีความมุ่งมั่นถึงจะนำทีมประสบความสำเร็จ”

จากความสำเร็จในการทำมาตรฐาน CMMI ผ่าน Level 5 ยังทำให้ อัฟวาแลนท์ มีกระบวนการผลิตที่ชัดเจนและมีมาตรฐานส่งผลให้สามารถนำส่วนที่ดีในกระบวนการมาใช้งานซ้ำได้ และสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขในส่วนที่ไม่ดี ทำให้กระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ได้กระบวนการผลิตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร สามารถผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพด้วยต้นทุนต่ำ

กรรมการผู้จัดการอัฟวาแลนท์ ยังวางอนาคตการทำงานว่า แม้จะผ่านมาตรฐานCMMIระดับสูงสุด แต่บริษัทยังคงมุ่งมั่นทำมาตรฐานซอฟต์แวร์ต่อเนื่อง และจากการทำงานที่ผ่านมาทำให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีผลประกอบที่การเติบโต โดย CMMI ยังเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการอัฟวาแลนท์ ยังมองอนาคตตลาดซอฟต์แวร์ว่า แม้ว่าซอฟต์แวร์จากบริษัทคนไทยมีคุณภาพระดับสากล แต่บางครั้งลูกค้าส่วนใหญ่ยังติดแบรนด์ เช่น ลูกค้าในอเมริกามักนิยมซอฟต์แวร์จากอินเดียมากกว่า หรือหากต้องการซอฟต์แวร์ราคาถูกต้องมาจากเวียดนาม เป็นต้น ทั้งๆที่ซอฟต์แวร์ไทยมีศักยภาพและประสิทธิภาพไม่แพ้ประเทศอื่น ๆ ในระดับสากล ซึ่งทางอัฟวาแลนท์ เองก็ได้ใช้มาตรฐานนี้มาพัฒนาซอฟแวร์ที่เป็นลิขสิทธิ์ของทางบริษัท เช่น ระบบลูกค้าสัมพันธ์ CRM ระบบงานประกัน และระบบอนุมัติสินเชื่อ เป็นต้น

ดังนั้นหากภาครัฐจะให้การสนับสนุนบริษัทซอฟต์แวร์ไทย อาจต้องเริ่มที่การส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ของไทยมากขึ้น พร้อมทั้งให้ความรู้ว่า “มาตรฐานซอฟต์แวร์” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะ การันตีได้ว่าซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ช่วยให้ธุรกิจของคุณเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP โทร.02-270-1350-4 ต่อ 114,115

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net