สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยจัดบรรยาย “ร่วมพลังเอาชนะมะเร็งเต้านม”

15 Jul 2010

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--คอร์ แอนด์ พีค

สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม พร้อมเชิญชวนประชาชนและผู้สนใจทั่วไปเข้าฟังการบรรยายพิเศษภาคประชาชน ในหัวข้อ “ร่วมพลังเอาชนะมะเร็งเต้านม” ในวันพุธที่ 18 สิงหาคม 2553 เวลา 17.00 - 19.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก

ศ.(คลินิก) พลตรี นพ.สุรพงษ์ สุภาภรณ์ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการทำงานของสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาว่า สมาคมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมแนวใหม่ กับแพทย์ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ อาทิ จังหวัดเชียงราย, พิษณุโลก, นครสวรรค์ ,อุดรธานี, อุบลราชธานี,นครราชสีมา, สุราษฏร์ธานี และหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม สามารถเข้าถึงการรักษาอย่างมีมาตรฐานที่ดีมากขึ้นอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ทั้งนี้ จากอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งที่พบในประเทศไทย มะเร็งเต้านมจัดเป็นมะเร็งที่พบมากในผู้หญิงไทย และมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยสูงมากขึ้นทุกปีโดยพบมากในผู้หญิงช่วงอายุ 40 ปี ขึ้นไป

มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่สามารถจัดการรักษาได้ในทุกระยะของการดำเนินโรค และสามารถรักษาให้หายขาดได้ประมาณ 80-90 เปอรเซ็นต์ หากตรวจพบและทำการรักษาตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มเป็น ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้เช่นเดียวกับคนปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ สำหรับประเทศทางซีกโลกตะวันตก ถึงแม้จะมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าประเทศไทย แต่กลับพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสูงกว่าประเทศไทย ถึง 6-7 เท่า โดยพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมประมาณ 200 คนในประชากร 1 แสนคน สำหรับประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการให้ความรู้และดำเนินการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เพื่อให้หญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป หันมาให้ความใส่ใจดูแลสุขภาพและเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี

ทางสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ได้ตระหนักและจัดกิจกรรมประจำปีในการให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็งเต้านมแก่ผู้ป่วยและผู้สนใจทุกท่านเป็นประจำทุกปี โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งเต้านมจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยในปี 2553 นี้ สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ขอเชิญชวนประชาชนและผู้สนใจทั่วไปเข้าฟังการบรรยายพิเศษภาคประชาชนในหัวข้อ “ร่วมพลังเอาชนะมะเร็งเต้านม” ในวันพุธที่ 18 สิงหาคม 2553 เวลา 17.00 - 19.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น (พร้อมรับของที่ระลึกจำนวนจำกัด 400 ท่านแรก) สำรองที่นั่งได้ที่ คุณธัชนันท์ เลาะเซ็ม (เลขานุการ สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย)โดยส่ง SMS ชื่อและนามสกุล หรือโทรศัพท์มาที่เบอร์ 08-5243-3500 หรืออีเมล์ [email protected]

การบรรยายในครั้งนี้จะเป็นการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย และวิทยากรพิเศษพร้อมรับฟังเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริงของผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมและผู้ใกล้ชิด โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะมีการบรรยายในหลากหลายหัวข้อ อาทิ หัวข้อ “ศัลยแพทย์” เรื่อง เสริมและสร้าง เพื่อการเริ่มต้นของผู้ป่วย ,หัวข้อ “นักโภชนาการ” เรื่อง ฟื้นฟูสุขภาพให้กลับมาดีด้วยสุขวิธีการรับประทาน , หัวข้อ “มัณฑนาการ”

เรื่อง พักฟื้นร่างกาย ...ฟื้นฟูจิตใจ...ด้วยสิ่งแวดล้อมใหม่ในบ้านหลังเก่า และหัวข้อเกี่ยวกับ “ประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วย” เรื่อง แบ่งปันกำลังใจเพื่อวันใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะได้รับหนังสือคู่มือ “ รู้ทันมะเร็งเต้านม” ซึ่งเขียนโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ จำนวนท่านละ 1 เล่ม เพื่อให้เข้าใจถึงการดูแลตนเองเกี่ยวกับโรคเต้านมและมะเร็งเต้านม ได้อย่างถูกต้องมากขึ้น

การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน จะมีการรักษาทั้งหมด 5 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด, การฉายแสง,การให้ยาเคมีบำบัด ,การให้ยาต้านฮอร์โมนและการรักษาที่เป้าหมายของการเกิดมะเร็ง (targeted therapy) โดยสำหรับวิธีที่ 1 คือการผ่าตัดเต้านมและผ่าตัดเต้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ จะมี 2 แบบในปัจจุบัน คือการผ่าตัดแบบตัดเต้านมออกทั้งหมด ซึ่งถ้าทำในผู้ป่วยที่อายุยังไม่มาก อาจมีผลกระทบด้านจิตใจได้ และการผ่าตัดแบบตัดเต้านมและเสริมเต้านมทันที ทำโดยการย้ายเนื้อด้านหลังมาทดแทนส่วนที่ตัดออกไป แต่ในกรณีที่ไม่สามารถย้ายเนื้อด้านหลังได้ ก็ให้ใช้เนื้อบริเวณหน้าท้องหรือในบางรายที่เนื้อบริเวณหลังหรือท้องไม่เพียงพอ อาจต้องใช้ซิลิโคนเสริมเข้าไป ทั้งนี้ ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ว่าจะเลือกเนื้อบริเวณไหนมาเสริมบริเวณส่วนที่ตัดออกไป

อีกกรณีหนึ่ง คือการผ่าตัดเต้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หากเป็นสมัยก่อนการผ่าตัดจะต้องเลาะท่อ น้ำเหลืองที่รักแร้ออกให้หมด ซึ่งข้อเสียคือ มักเกิดอาการแขนบวมและผู้ป่วยห้ามเจาะเลือดวัดความดัน ห้ามฉีดยา ห้ามยกของหนักหรือโดนของมีคม และมีข้อควรระวังอีกหลายอย่าง ซึ่งวิธีปัจจุบันจะทำโดยการฉีดสารบางชนิด เช่น ฉีดสีหรือสารกัมมันตภาพรังสีเข้าสู่ร่างกายและสังเกตว่าสารนั้นวิ่งไปบริเวณใด และเลาะเอาตำแหน่งดังกล่าวมาตรวจดูว่ามีมะเร็งหรือไม่

วิธีที่ 2 คือ การฉายแสง ส่วนใหญ่มักจะให้การรักษาด้วยวิธีนี้ ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนหลังจากการผ่าตัด ใช้วิธีนี้ในกรณี ดังนี้ คือ 1. ก้อนใหญ่กว่า 5 เซ็นติเมตร หรือมีแผลติดกระดูกซี่โครง 2.มีมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง 4 ต่อมขึ้นไป 3. มีการผ่าก้อนมะเร็งได้ไม่หมด และ4. ใช้ร่วมกับการผ่าตัดแบบเก็บเต้านม วิธีที่ 3คือการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจะไม่ใช้กับผู้ป่วยทุกราย โดยการให้ยาเคมีบำบัด จะเริ่มให้ประมาณ 1 เดือนหลังผ่าตัด ให้ทุก 3 สัปดาห์ และให้อีกประมาณ 4-8 รอบการรักษา วิธีที่ 4 คือการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมน โดยส่วนใหญ่จะให้รับประทานยาเป็นเวลานานติดต่อกันประมาณ 5 ปี โดยเลือกให้ในผู้ป่วยที่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสโตเจนเป็นบวก และวิธีที่ 5 การรักษาที่เป้าหมายของการเกิดมะเร็ง (targeted therapy) ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยที่มีตัวรับของ Her 2 ในปริมาณมาก โดยยานี้จะปิดกั้นตัวรับชนิดนี้ แต่ยามีราคาค่อนข้างสูง การเลือกใช้ยานี้จึงขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

สำหรับวิธีการฟื้นฟูจิตใจให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมนั้น เมื่อผู้ป่วยกลับมารักษาตัวที่บ้าน ควรดูแลบ้านให้โปร่งและโล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวกเพราะในช่วงที่ให้ยาเคมีบำบัด จะมีการติดเชื้อได้ง่าย ภายในห้องนอนควรโปร่งไม่อับชื้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ควรนำสัตว์เลี้ยง เช่นสุนัข หรือแมว ไว้ในบ้าน หากมีสวนหรือสวนดอกไม้ ให้ระวังเรื่องเกสรดอกไม้บางชนิด อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ได้ง่าย และหากผู้ป่วยเพิ่งได้รับการผ่าตัดใหม่ ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการไหล่ ติด ควรจัดบริเวณบ้านให้มีพื้นที่ออกกำลังกาย ให้ผู้ป่วยสามารถออกกำลังแขนได้ ในส่วนของที่นอนควรจัดที่นอนให้นุ่มเพื่อรองรับบริเวณตรงแผลที่ผ่าตัดไม่ให้กระทบกระเทือนนอกจากนี้ภายในบ้านควรจัดวางของให้เป็นระเบียบ เพื่อป้องกันการหกล้มของผู้ป่วย

ในส่วนของการรับประทานอาหารของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จำเป็นต้องทานอาหารให้ครบหลัก 5 หมู่ และไม่ควรงดอาหารประเภทโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ การรับประทานผักผลไม้จะต้องล้างให้สะอาด และบริโภคสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วน เพราะสารอาหารเหล่านี้จะช่วยให้เซลล์ที่ดีเพิ่มจำนวนมากขึ้น หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดในการรักษามาแล้ว สำหรับผู้ป่วยที่อาการอยู่ในช่วงปลายของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการเบื่ออาหาร ดังนั้นผู้ดูแล ควรทำอาหารให้มีสีสันและมีรสชาติน่ารับประทาน เพื่อดึงดูดใจผู้ป่วยให้รับประทานให้ได้มากที่สุด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มกรุณาติดต่อ

คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ (โป้ง)

ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด

โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8202

โทรสาร 0-2861-0675 อีเมล์ [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net