เปิดห้องเรียนสีเขียว...ของเด็กอนุบาล

10 Jan 2011

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--บ้านพีอาร์

เพราะอะไรน๊าใบไม้ถึงมีสีเขียว? แล้วทำไมใบไม้ถึงต้องมีขีดตรงกลาง? จากคำถามที่จุดประกายความสงสัยอยากรู้อยากเห็นของหนูน้อยห้องอนุบาล 1/2 โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ให้อยากศึกษาค้นคว้าหาคำตอบ กับสิ่งที่สงสัยเรื่องใบไม้ ซึ่งเป็นที่มาของหัวข้อการเรียนรู้แบบโครงงาน หรือ Project Approach ซึ่งเด็กๆ จะใช้เวลาในการเรียนรู้ควบคู่กับหลักสูตรตามวิชาต่างๆ เป็นระยะเวลากว่า 7 สัปดาห์ ซึ่งการเรียนแบบ Project Approach เด็กจะได้คิดและทำการสืบค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ สรุปข้อมูลพร้อมทั้งเผยแพร่ให้ครูและเพื่อนในห้องได้รับรู้ เพื่อพิจารณาข้อมูลและเรียนรู้ร่วมกัน จากนั้นก็จะนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาจัดนิทรรศการแสดงให้เห็นวิธีการคิด การเรียนรู้ และข้อมูลที่สืบค้นมาได้ อยากรู้กันแล้วละสิว่าเรื่อง “ใบไม้” จากการเรียนรู้ค้นคว้าของน้องๆจะเป็นอย่างไร ตามมาดูกันเลยค่ะ

“ใบไม้ คือ อวัยวะของต้นไม้ มีสีเขียวของคลอโรฟิลล์” น้องเอ็มโพ ด.ช.นิจ อธิบายให้เราได้รู้ถึงความหมายของใบไม้ แล้วทำไมต้นไม้ถึงต้องมีใบไม้ละ? คำถามที่เกิดขึ้นในใจของผู้เขียน และก็ได้รับคำตอบจากเสียงหวานใสของน้องออม ด.ญ.วฤณสนันตน์ ใบไม้คือส่วนที่สร้างอาหารให้กับต้นไม้ค่ะ หน้าที่ของมันคือสังเคราะห์แสง หายใจและคายน้ำ” หลายคนคงรู้ว่าใบไม้แบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือใบเลี้ยงคู่และใบเลี้ยงเดี่ยว แต่เราจะแยกออกได้อย่างไรว่าใบไหนเป็นชนิดไหน งานนี้น้องๆ ได้ร่วมทำกิจกรรมรวบรวมใบไม้ที่หาได้ และนำมาสำรวจแยกประเภทกัน ซึ่งน้องจิล ด.ญ.อภิสรา เล่าให้ฟังว่า “ต้องสำรวจใบไม้ว่ามีเส้นของใบเป็นแบบใด ลักษณะการเรียงตัว หากเรียงกันเป็นระเบียบก็เป็นใบเลี้ยงเดี่ยว หากเส้นใบเป็นแฉกเหมือนใยแมงมุมก็จะเป็นใบเลี้ยงคู่” มีคำถามมาให้ลองทายเล่นกันค่ะ รู้หรือไม่ค่ะว่าใบกล้วยเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวหรือใบเลี้ยงคู่? ตามอ่านเฉลยได้ตอนท้ายนะคะ

หลายคนอาจจะไม่เคยสังเกตว่าแท้จริงแล้วใบไม้มีหลากหลายลักษณะ ทั้งแบบรูปไข่ รูปหอก ซึ่งจากการที่นักเรียนได้ทำสมุดสะสมใบไม้ทำให้ได้เห็นว่าใบไม้มีหลากหลายลักษณะนอกเหนือไปจากรูปรีที่เราคุ้นเคย “ใบนี้เป็นใบของต้นจำปีค่ะ มีลักษณะเหมือนรูปหอก” น้องขวัญข้าว ด.ญ.ขวัญข้าว ยกตัวอย่างใบไม้ที่หาได้ในบริเวณโรงเรียน “ใบของหนูเป็นใบขนุน มีลักษณะรูปไข่กลับ” น้องณัท ด.ญ.ธันณฎา กล่าวพร้อมชูใบขนุนที่อยู่ในมือให้ได้ดูเป็นตัวอย่างประกอบ

นอกจากนี้เด็กๆ ยังได้ดูภาพใบพิเศษต่างๆที่สามารถเปลี่ยนรูปได้ เช่น ใบตำลึงที่เปลี่ยนจากใบเป็นมือเกาะ ใบเหงือกปลาหมอที่เปลี่ยนจากขอบใบและหูใบเป็นหนาม ต้นกระบองเพชรเปลี่ยนจากใบเป็นหนามทั้งต้น ใบต้นกาบหอยแครงและต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงเปลี่ยนใบเป็นที่ดักแมลง เป็นต้น น้องปลื้ม ด.ช.ธนิสร เล่าให้ฟังว่า “ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะมีหม้อยาวๆ ออกมา พอแมลงบินเข้าไปฝาก็จะปิดลงมา” ซึ่งน้องๆยังได้นำวัสดุที่หาได้ทั่วไปมาจำลองเป็นต้นไม้ที่มีใบพิเศษเหล่านี้

เพื่อเป็นการเรียนรู้ถึงหน้าที่ของใบไม้ เด็กได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างง่าย เพื่อหาคำตอบว่าใบไม้หายใจอย่างไร ทำไมใบไม้ถึงต้องสังเคราะห์แสง การคายน้ำของใบไม้ ซึ่งการทดลองครั้งนี้ทำให้เด็กได้รู้ว่าต้นไม้ต้องการคาร์บอนไดออกไซด์ แสงแดด และน้ำเพื่อการเจริญเติบโต โดยมีใบเป็นส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่สร้างอาหารให้ ซึ่งนอกเหนือจากการทดลองเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว เด็กๆยังได้มีโอกาสออกไปทัศนศึกษานอกสถานที่ซึ่งนอกได้ไปที่พิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมี ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ เป็นวิทยากรในการพาชมสถานที่ เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงประโยชน์ของป่าไม้ที่ให้อาหาร ที่อยู่อาศัย ให้ยารักษาโรค อีกทั้งถ้ามีต้นไม้มาก ก็จะช่วยดึงเมฆบนท้องฟ้าลงมาทำให้ฝนตก ในการไปทัศนศึกษาครั้งนี้น้องๆได้เห็นต้นไม้มากมายหลายชนิด เช่นต้นเฟิร์นซึ่งเป็นต้นไม้โบราณ

เด็กๆยังได้มีโอกาสนำใบไม้ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติทางสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมาปรุงเป็นอาหาร เครื่องดื่ม อาทิ ทำน้ำใบเตยซึ่งได้วิธีทำมาจาก internet ซึ่งต่างช่วยกันนำใบเตยมาล้างและหั่นกันอย่างขมีขมัน บ้างก็ช่วยกันนำลงหม้อต้ม บ้างก็ช่วยกันเติมน้ำตาล เป็นกิจกรรมที่ได้ร่วมกันทำอย่างสนุกสนาน นอกจากประโยชน์ของใบเตยที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้แล้วนั้น น้องๆยังได้เรียนรู้ว่ายังมีใบไม้อื่นๆที่มีประโยชน์อีกมากมาย น้องจิมมี่ ด.ช.ชวนินทร์ เล่าว่า “ใบฟ้าทะลายโจรใช้แก้หวัดและแก้ไอได้” และน้องออม ด.ญ.วฤณสนันตน์ ซึ่งบอกกับเราว่า “ใบตอง สามารถเอามาใส่อาหาร ห่อขนม” สิ่งทั้งหลายมีประโยชน์ก็ย่อมมีโทษด้วย ดังเช่นใบไม้บางชนิดที่เป็นพืชอันตราย เช่น ใบตำแยที่โดนแล้วจะคัน ใบชวนชมที่มีพิษ ถ้ารับประทานเข้าไปอาจทำให้เสียชีวิตได้

เมื่อถึงสัปดาห์สุดท้ายของการเรียนรู้ เด็กๆต่างก็ช่วยกันจัดห้องนิทรรศการโดยมีความคิดที่จะนำเอาใบไม้มาสร้างเป็นบ้าน ซึ่งเด็กๆ ต่างก็ช่วยกันนำใบไม้มาร้อยเรียงเย็บติดกันเพื่อมุงหลังคา จากนั้นก็ทำมาต่อเติมกับแคร่ไม้ไผ่ ตกแต่งด้วยใบประดับของต้นเฟื่องฟ้า สานปลาตะเพียนจากใบลานมาแขวน ซึ่งทำให้เราได้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจและความคิดสร้างสรรค์ที่บ้างครั้งเราผู้ใหญ่เองก็นึกไม่ถึง จินตนาการของเด็กบางครั้งก็ไปไกลเหมือนดังใบไม้ที่ถูกลมพัด ถึงเวลาเฉลยแล้วค่ะ ใบกล้วยเป็นใบเลี้ยงเดี่ยวค่ะ ทายกันถูกบ้างมั้ยเอ่ย.....

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-292-9737 บ้านพีอาร์