นวัตกรรมใหม่ของการตรวจรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี เพื่อการรักษาเฉพาะบุคคล

22 Feb 2011

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--โรช ไดแอกโนสติกส์

การตรวจปริมาณ Antigen หรือโปรตีนบนเปลือกหุ้มของไวรัสตับอักเสบบี (antigen HBsAg) ช่วยให้แพทย์ สามารถประเมินการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการรักษาโรคตับอักเสบบีเรื้อรังได้ดีขึ้น

การติดเชื้อไวรัสตับอีกเสบบีชนิดเรื้อรังยังมีการแพร่ระบาดในหลายภูมิภาคของทวีปเอเชีย ในการประชุมทางวิชาการประจำปีของสมาคมศึกษาโรคตับแห่งภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค - Asian Pacific Association for the Study of the Liver (APASL) ครั้งที่ 21 ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคตับแข็งและมะเร็งตับในการประชุมครั้งนี้

หนึ่งในความก้าวหน้าของการดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคตับอักเสบบีเรื้อรัง คือการคิดค้นการตรวจเชิงปริมาณของ antigen บนพื้นผิวของไวรัสตับอักเสบบีเพื่อใช้ติดตามการรักษาผู้ป่วย โดย บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (Roche Diagnostics) ได้เปิดตัวการทดลองใหม่นี้ในงานการประชุมประจำปีของสมาคมฯ การตรวจวิธีดังกล่าวร่วมกับการตรวจดีเอ็นเอของไวรัสโรคตับอักเสบบี (HBV DNA) ถือเป็นก้าวแรกของการรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีแบบเฉพาะคน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดว่าผู้ป่วยแต่ละรายมีความสามารถในการตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างได้กัน

รศ. นพ. ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ ประธานสมาคมศึกษาโรคตับแห่งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค (APASL), ประธานสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย, และผู้อำนวยการสถาบันโรคทางเดินอาหารและตับฯ กล่าวว่า “การติดเชื้อไวรัสโรคตับอักเสบบีชนิดเรื้อรัง ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายท่านไม่ได้รับการรักษา หรือเพิกเฉยต่อการรักษา ไม่ใส่ใจจนโรคเข้าระยะลุกลาม ตับถูกทำลายจนไม่สามารถรักษาให้หายได้ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในประเทศไทย มีผู้ป่วยที่ทราบว่าตนเองติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและที่ได้รับการรักษาเพียงน้อยกว่า 30% ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยทั้งหมด ผู้ป่วยที่เหลือไม่ทราบแม้กระทั่งว่าตนเองติดเชื้อ”

ปัจจุบันนี้ ประชากรโลกไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ในเอเชีย พบว่ามีผู้ป่วย 8-10% ติดเชื้อไวรัสนี้จากประชากรทั้งหมด จากจำนวนผู้ติดเชื้อชนิดเรื้อรังถึงประมาณ 5% หรือ 350 ล้านคน พบว่า 25-45% ของคนกลุ่มนี้เสียชีวิตด้วยอาการตับแข็งหรือมะเร็งตับซึ่งเป็นหนึ่งในมะเร็งที่คร่าชีวิตคนเอเชียไปมากที่สุด

การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรังจนสามารถกำจัด HBsAg ให้หมดไปจากกระแสเลือดของผู้ป่วย พบว่าสัมพันธ์กับการลดอัตราการเกิดมะเร็งตับหรือตับแข็ง และเพิ่มอายุขัยของผู้ป่วยให้ยืนยาวรวมไปถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น เนื่องมาจากร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในการกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสให้สงบได้3, 4, 5

การตรวจหา Antigen บนเปลือกหุ้มเชื้อไวรัสตับอีกเสบบีชนิดเรื้อรัง นอกจากจะเป็นวิธีการที่ง่ายและมีความน่าเชื่อถือในการประเมินประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายว่าสามารถต่อสู้กับไวรัสตับอักเสบบีได้ในระดับใดแล้ว ยังสามารถช่วยให้แพทย์ติดตามและประเมินผลการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการรักษาด้วยยา pegylated interferon (PEG-IFN) ได้อย่างชัดเจนและมีความมั่นใจมากขึ้น จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าหนึ่งในสามของผู้ป่วยตอบสนองต่อวิธีการรักษา PEG-IFN นอกเหนือจากนี้ ยังมีหลักฐานอีกว่าการใช้ค่าปริมาณของ HBsAg ร่วมกับค่าของ HBV DNA สามารถนำมาประกอบการวินิจฉัย อันให้เห็นถึงความแตกต่างของกลุ่มผู้ป่วย ระหว่างกลุ่มที่ไม่ต้องการการรักษา (เพราะเป็นกลุ่ม inactive carriers) กับกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการรักษา6

“ปัจจุบัน มีวิธีการตรวจสองชนิดที่เกื้อหนุนกันในการติดตามโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง เมื่อใช้วิธีการทั้งสองร่วมกันจะช่วยให้เราสามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยกำลังตอบสนองต่อวิธีการรักษาได้ดีหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อที่จะปรับให้การรักษาที่เหมาะสมเฉพาะตัว” ศาสตราจารย์นายแพทย์เฮนรี่ ชาน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคไวรัสตับอักเสบ Cheng Man Suen และผู้อำนวยการของศูนย์เพื่อสุขภาพของตับแห่งมหาวิทยาลัยของฮ่องกงกล่าว “การตรวจนี้เป็นความก้าวหน้าอย่างแท้จริงในการดูแลรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง เพราะว่ามันสามารถทำให้แพทย์รู้ภาวะการตอบสนองต่อการรักษาได้เร็วกว่าวิธีการตรวจในอดีต ซึ่งน่าจะช่วยให้การลุกลามของโรคลดลง”

คุณพิเชษฐพงษ์ ศรีสุวรรณกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Roche Diagnostics Thailand Ltd) กล่าวเพิ่มเติมถึงนวัตกรรมใหม่ในการดูแลรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีว่า "ในแต่ละปี มีประชากรทั่วโลกนับล้านคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โรช (Roche) มีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการจัดการปัญหาด้านการวินิจฉัยและตรวจโรค นับตั้งแต่ขั้นตอนของการวินิจฉัยโรคขั้นต้น จนถึงวิธีการรักษา และการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือไปกว่านี้ เรายังภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่อำนวยความสะดวกสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเหล่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของ โรช (Roche) ในการผสานพลังระหว่างการรักษาและการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยทุกคน"

ข้อมูลอ้างอิง 1) World Health Organization, Hepatitis Factsheet, Retrieved January 28, 2011 from http://www.who.int/mediacentre/ factsheets/fs204/en/index.html 2) World Health Organization, Hepatitis, Retrieved November 12, 2010 from http://www.who.int/topics/hepatitis/en/ 3) Marcellin P et al. Virological and biochemical response in patients with HBeAg-negative chronic hepatitis B treated with peginterferon alfa-2a (40KD) with or without lamivudine: results of 4-year follow-up. Presented at: 43rd Annual Meeting of the European Association for the Study of the Liver (EASL); April 23-27, 2008; Milan, Italy. 4) Fattovich G et al. Delayed clearance of serum HBsAg in compensated cirrhosis B: relation to interferon alpha therapy and disease prognosis. Am J Gastroenterol. 1998;93(6):896-900. 5) Perrillo RP. Therapy of hepatitis B—viral suppression or eradication? Hepatology. 2006;43(2 suppl 1):S182-S193. 6) Brunetto et al., Hepatitis B Surface Antigen Serum Levels Help to Distinguish Active From Inactive Hepatitis B Virus Genotype D Carriers. Gastroenterology 2010;139:483–490.

เกี่ยวกับ Roche

มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองบาเซล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โรช (Roche) เป็นผู้นำทางการวิจัยที่มุ่งเน้นในการดูแลรักษาสุขภาพโดยมีการผสมผสานจุดแข็งทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ยา และด้านการวินิจฉัยเข้าด้วยกัน โรช (Roche) เป็น บริษัท Biotech ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมาพร้อมกับยาที่มีความหลากหลายในเรื่องของการรักษาเนื้องอก, โรคที่เกี่ยวกับไวรัส, การอักเสบ, การเผาผลาญอาหารและ CNS อีกทั้ง Roche ยังเป็นผู้นำของโลกในการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัยโรคมะเร็งจากเนื้อเยื่อ และเป็นผู้บุกเบิกในการจัดการโรคเบาหวาน กลยุทธ์การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลของ Roche มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระจายยาและเครื่องมือวินิจฉัยให้เข้าถึงทุกความต้องการเพื่อปรับปรุงสุขภาพ คุณภาพชีวิตและความอยู่รอดของผู้ป่วย ในปี 2010 Roche มีพนักงานทั่วโลกกว่า 80,000 คน และจัดสรรงบประมาณลงทุนมากกว่า 9,000 ล้านฟรังก์สวิสส์เพื่อการวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะ โดยมียอดรายได้จากการขายของกลุ่มบริษัทเป็นจำนวนเงินกลุ่ม 49,100 ล้านฟรังก์สวิสส์ สำหรับบริษัท Genentech ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นบริษัทในกลุ่ม Roche ที่ทาง Roche ถือหุ้นทั้งหมด อีกทั้งบริษัทยังถือหุ้นใหญ่ในบริษัท Chugai Pharmaceutical ประเทศญี่ปุ่น สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม : www.roche.co.th

เครื่องหมายการค้าทั้งหมดที่ใช้หรือกล่าวถึงในเอกสารข่าวชุดนี้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ไอริณ ขันธะชวนะ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บ. โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) โทร.0 2 791 2200 www.roche.com

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net