จีนเน้นพัฒนา “ระบบชลประทาน”

14 Feb 2011

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ประจำกรุงปักกิ่ง

เอกสารส่วนกลางหมายเลข ๑ หมายถึงเอกสารฉบับแรกในแต่ละปีของรัฐบาลกลางจีน เป็นเรื่องที่รัฐบาลกลางให้ความสำคัญที่สุด โดยเฉพาะปัญหาเกษตรกรรม ชนบท และเกษตรกร ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๙ รัฐบาลกลางจีนได้ออกเอกสารฯเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาการปฎิรูปชนบท และการพัฒนาเกษตรกรรมต่อเนื่องกันเป็นเวลา ๕ ปี ในปีพ.ศ. ๒๕๔๗-๒๕๕๒ ได้ออกเอกสารฯนโยบาย “๓ เกษตร” (เกษตรกรรม ชนบท และเกษตรกร) ต่อเนื่องกันอีก ๖ ปี และล่าสุดเอกสารส่วนกลางหมายเลข ๑ ปีพ.ศ. ๒๕๕๔ รัฐบาลกลางจีนได้ประกาศ“แผนการพัฒนาและปฎิรูประบบชลประทาน”โดยจะเพิ่มการลงทุนด้านชลประทานประเทศอีกเท่าตัว และจะพัฒนาต่อเนื่องไปอีก 10 ปี

วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา รัฐบาลกลางได้ออกประกาศ “แผนการพัฒนาและปฎิรูประบบชลประทาน” เป็นเอกสารหลายเลข ๑ โดยได้ระบุเป้าหมายนโยบายและยุทธศาสตร์การปฎิรูปและพัฒนาระบบชลประทานประเทศที่มีประสิทธิผล เนื้อหาในเอกสารมีทั้งหมด ๘,๐๐๐ คำ ครอบคลุม ๘ ด้าน ดังนี้ ๑. กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์ชลประทานในสภาวการณ์ใหม่ ๒. หลักการและแนวความคิดในการปฎิรูปและพัฒนาระบบชลประทาน ๓. โครงการก่อสร้างระบบชลประทานเพื่อการเกษตรในพื้นที่ขาดแคลน ๔. การเร่งรัดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานระบบชลประทานอย่างทั่วถึง ๕. ตั้งกลไกการลงทุนด้านชลประทานที่พัฒนาอย่างมั่นคง ๖. ดำเนินมาตรการจัดการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างเข้มงวด ๗. สร้างสรรค์การพัฒนาระบบและกลไกทำงานด้านชลประทานอย่างต่อเนื่อง ๘. เพิ่มความเข้มแข็งในกิจการด้านชลประทานเป็นภารกิจหลัก

สำนักข่าวซินหัวได้วิเคราะห์จุดเด่นของนโยบายครั้งนี้ โดยสามารถสรุปความสำคัญได้ ๕ ข้อดังนี้ ๑.รัฐบาลกลางได้ยกระดับแผนการพัฒนาระบบชลประทานประเทศให้เป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติ เนื่องจากน้ำและระบบชลประทานเกี่ยวพันกับเกษตรกรรมและธัญญหารชาติอย่างแนบชิด ๒.การเพิ่มงบประมาณลงทุนในกิจการชลประทานชาติ โดยได้ทุ่มงบประมาณ ๔ ล้านล้านหยวน ต่อไปในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า เพิ่มจากงบประมาณปี ๒๕๕๓ จำนวน ๒ ล้านล้านหยวนขึ้นอีกเท่าตัว โดยส่วนหนึ่งอาศัยการจัดเก็บจากรายได้ในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินร้อยละ ๑๐ ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วในปัจจุบันรายได้ส่วนนี้ของประเทศจีนมีทั้งหมด ๗ หมื่นล้านหยวน ๓.สร้างระบบป้องกันภัยแล้งและน้ำท่วมที่มีประสิทธิภาพ ภายในปี ๒๕๖๓ ซึ่งจากสถิติปี ๒๕๕๓ ทั้งประเทศมีแม่น้ำ ๔๓๗ สายที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ก่อความเสียหายแก่ประชาชนจำนวน ๒.๑ ร้อยล้านคน และปัญหาภัยแล้งส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้และมองโกเลียในซึ่งคิดเป็นพื้นที่ร้อยละ ๙๐ ของทั้งประเทศ ๔.เพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินการจัดการดูแลทรัพยากร โดยได้ระบุขีดจำกัด ๓ เส้น คือ 1. กำหนดควบคุมการบุกเบิกใช้ทรัพยากรน้ำ 2.กำหนดควบคุมประสิทธิภาพการใช้น้ำ 3.กำหนดควบคุมมลพิษทางน้ำ โดยให้รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละที่เป็นผู้รับผิดชอบ และ๕.ปฎิรูประบบคำนวณราคาน้ำ เพื่อส่งเสริมการประหยัดและลดภาระผู้มีรายได้น้อย โดยปรับราคาตามประเภทกิจการและความจำเป็น