อุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ปี 2553 ยอดแตะ 20,000 ล้าน คาดปี 2554

31 Jan 2011

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์

อุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ปี 2553 ยอดแตะ 20,000 ล้าน คาดปี 2554 โตต่อเนื่องจากมาตรการลดหย่อนภาษีและนโยบายรัฐ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ แนะ ถึงเวลาต้องมี พรบ.ส่งเสริมการอ่าน

สมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย แถลงข่าว “อุตสาหกรรมสำนักพิมพ์และการอ่านในสังคมไทย” เผยอัตราเติบโตของอุตสาหกรรมสำนักพิมพ์โดยรวมคิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000-21,000 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะโตต่อเนื่องเนื่องจาก ครม.มีมติเห็นชอบเรื่องภาษี และแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ

นางริสรวล อร่ามเจริญ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยภาพรวมตลาดธุรกิจหนังสือในปี 2553 พร้อมทั้งคาดการณ์ทิศทางธุรกิจหนังสือและแนวโน้มการเติบโตในปี 2554 ว่า สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้สำรวจและวิเคราะห์อุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ในปี 2553 พบว่า มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 20,000-21,000 ล้านบาท หรือมีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 5-7.5 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 ซึ่งมีมูลค่าตลาด 19,200 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น รวมถึงได้รับแรงกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐที่ได้กำหนดนโยบายให้ปี 2552-2561 เป็น “ทศวรรษแห่งการอ่านแห่งชาติ” และได้จัดสรรงบประมาณมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ “ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง” เพื่อจัดซื้อหนังสือและสื่อการเรียนการสอนเข้าห้องสมุดตามนโยบาย 3 ดี คือ หนังสือดี ห้องสมุดดี และบรรณารักษ์ดี รวมทั้งสนับสนุนการศึกษานอกระบบ

นางริสรวลยังได้กล่าวถึงรายละเอียดในการเติบโตของอุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ว่า กลุ่มสำนักพิมพ์ที่เป็นผู้นำการตลาดซึ่งมีจำนวนเพียง 8 ราย มีการขยายตัวของรายได้สูงสุดคือ 17.44% ในขณะที่กลุ่มสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก (320 ราย) มีอัตราการขยายตัวลดลง 20.88% และเป็นการขยายตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 ดังนั้น ทางสมาคมฯ อาจกำหนดนโยบายให้การสนับสนุนกลุ่มสำนักพิมพ์ขนาดเล็กในด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากและง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสความอยู่รอดของผู้ประกอบการในกลุ่มสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก โดยเฉพาะในด้านของแหล่งเงินทุน ซึ่งต้องนำเสนอให้ภาครัฐกำหนดนโยบายสนับสนุนให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในธุรกิจกลุ่มสำนักพิมพ์ เพื่อเสริมสภาพคล่อง และเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาช่องทางในการกระจายสินค้า

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการครอบครองตลาดเฉลี่ยต่อรายเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มสำนักพิมพ์ ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากจำนวนผู้ประกอบการมีมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการทั้งหลายจึงต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มยอดขายและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของตน

ด้านภาพรวมธุรกิจหนังสือในปี 2554 นางริสรวลกล่าวว่า “สมาคมฯ คาดว่าปีนี้ อัตราเติบโตของธุรกิจหนังสือจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 โดยประมาณการว่ามีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 21,000-22,000 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลตื่นตัวในการดำเนินการส่งเสริมการอ่านมากขึ้น มีนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการอ่านอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนด “ทศวรรษการอ่านแห่งชาติ” การกำหนดให้การส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ การกำหนดเป้าหมายว่าในปี 2555 จะเพิ่มค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือของคนไทยเป็นเท่าตัวจากค่าเฉลี่ยในปี 2552 ไปจนถึงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการทางภาษีที่เกี่ยวกับการลดหย่อนค่าใช้จ่ายจากการบริจาคหนังสือเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการอ่าน อันมีสาระสำคัญดังนี้

1. บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อบริจาคให้แก่สถานศึกษาของราชการและเอกชน สามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิ (กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) และหรือเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาฯ แล้วต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อสาธารณกุศลหรือเพื่อสาธารณประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา (กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล)

2. นิติบุคคลสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือและสื่อเพื่อส่งเสริมการอ่านให้ห้องสมุดขององค์กรตนเองในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในคำนวณภาษีได้ 2 เท่า ของที่จ่ายจริงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท และสามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อหนังสือและสื่อเพื่อบริจาคให้แก่ห้องสมุดของเอกชนที่ไม่เก็บค่าใช้จ่ายมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้

นางริสรวลได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลของมาตรการทางภาษีว่า “จะส่งผลทางบวกต่อแหล่งเรียนรู้หรือห้องสมุดที่จะมีหนังสือมากขึ้น แม้จะมีข้อคิดเห็นในความห่วงใยว่า การส่งเสริมนโยบายบริจาคจะทำให้มีหนังสือที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบห้องสมุด ซึ่งเป็นการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าองค์กรธุรกิจภาคเอกชนจำนวนมากได้เข้าไปมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม และจำนวนไม่น้อยที่ส่งเสริมการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เช่น การบริจาคเงินเพื่อจัดสร้างห้องสมุด บริจาคหนังสือ และสื่อการเรียนการสอนอันเป็นการช่วยให้โรงเรียนหรือแหล่งเรียนรู้ที่ขาดศักยภาพมีความสามารถสูงขึ้นในการให้บริการต่อชุมชน แน่นอน ก็อาจมีบุคคลบางกลุ่มหรือบางองค์กรที่อาศัยนโยบายบริจาคเพื่อประโยชน์ส่วนตน ในเรื่องประโยชน์ของมาตรการทางภาษีจึงควรมองที่วัตถุประสงค์และเป้าหมายรวม และผู้รับต้องสร้างหลักการหรือหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบหนังสือบริจาคที่ได้รับบริจาค โดยให้ข้อมูลหนังสือที่ต้องการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และเมื่อชุมชนได้ประโยชน์สามารถพัฒนาตนเองจากการอ่านหนังสือในห้องสมุด ก็จะมาอ่านมากขึ้นใช้ห้องสมุดบ่อยขึ้น”

จากการที่เทคโนโลยี e-Book ได้สร้างกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบันประกอบกับราคา e-Reader ที่มีแนวโน้มว่าจะถูกลงเรื่อยๆ ส่งผลให้ แนวโน้มอนาคตของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) ในประเทศไทย ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จากการสอบถามของผู้เข้าชมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม - 31 ตุลาคม 2553 จำนวน 1,316 ราย ดังนี้ พบว่าผู้เข้าชมงานจำนวนเพียง 40 ราย หรือร้อยละ 3.0 จากผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ที่ชอบอ่านหนังสือจากอินเทอร์เน็ต หรือ e-Book และผู้เข้าชมงานจำนวนถึง 1,071 ราย หรือร้อยละ 81.4 จากผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ที่ยังไม่มี e-Reader

“แม้จะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ทัศนคติของผู้อ่านไทยจะให้ความสนใจ e-Book มากขึ้นเพียงใด ผู้ผลิตเนื้อหา สำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหนังสือและอุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ โดยต้องหาทางออกให้กับประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ มาตรฐานการผลิต ไปจนถึงการกำหนดราคาที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงหนังสือที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น และเป็นการเพิ่มจำนวนผู้อ่านหนังสือให้มากขึ้นในอนาคต” นางริสรวล กล่าวเสริม

“การผลักดันให้ “การอ่านเป็นวัฒนธรรมของชาติไทย” จะประสบผลสำเร็จได้จริงนั้น ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนและต่อเนื่อง และถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องมี พรบ. ส่งเสริมการอ่าน โดยให้มีหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ พร้อมบุคลากรและงบประมาณ เพื่อให้การส่งเสริมการอ่านเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อีกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมกันสร้างเครือข่ายส่งเสริมการอ่านให้มากขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างทัศนคติการเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการอ่านให้เกิดขึ้น และสามารถพัฒนาอย่างเป็นระบบต่อไป”

“ทั้งนี้ ปัจจัยที่ไม่อาจละเลยได้ คือ ปัจจัยด้านคุณภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมหนังสือ ที่ควรมีการอบรมและพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงในการเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมหนังสือ และรวมถึงควรให้มีการอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีผลในการช่วยส่งเสริมชุมชนและสังคมในระดับท้องที่ ให้มีความเข้าใจและทราบถึงความสำคัญของการอ่าน ตลอดจนอบรมวิธีการ และแนวคิดในการสนับสนุนให้ชุมชนของตนมีการดำเนินกิจกรรมด้านการอ่านอย่างต่อเนื่อง” นางริสรวลกล่าวสรุป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณมรุต ทวีเพ็ชร / คุณศุภมาศ พูลสวัสดิ์ บริษัท ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด อีเมล์: [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net