สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทยจับมือ สสส. และ CPF เดินหน้ารณรงค์คนไทยกินปลาเพื่อสุขภาพ ตั้งเป้าเพิ่มการบริโภค 20-30%

19 Oct 2010

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย

นายศักดิ์ สรรพานิช นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย (Mr.Sak Sunpanich, President of Thai Fish Culture Farmers Association) เปิดเผยว่า สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทยได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จัดทำแผนส่งเสริมการบริโภคปลา ภายใต้ชื่อโครงการ “ปลาคุณภาพ...เพื่อสุขภาพคนไทยที่แข็งแรง” เป็นการสนับสนุนนโยบายสุขอนามัย และความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety) ของภาครัฐ รวมถึงช่วยสร้างความมั่นคงยั่งยืนในอาชีพให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดของไทยโดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการบริโภคปลา โดยเฉพาะปลาน้ำจืดให้เพิ่มขึ้นอีก 20-30%

“ปลาเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูง ย่อยง่าย มีโอเมก้า3 หรือ กรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty acid) ที่ร่างกายต้องการเนื่องจากมีประโยชน์ต่อร่างกาย หัวใจ และสมอง แต่ปัจจุบันคนไทยยังบริโภคปลา 30 กิโลกรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น ในจำนวนนี้แบ่งเป็นปลาทะเล 20 กิโลกรัม และปลาน้ำจืด 10 กิโลกรัม ขณะที่ญี่ปุ่นบริโภคถึง 69 กิโลกรัมต่อคนต่อปี กลุ่มสแกนดิเนเวีย บริโภคถึง 45 กิโลกรัมต่อคนต่อปี” นายศักดิ์กล่าวและว่า

สาเหตุที่คนไทยบริโภคปลาน้ำจืดน้อย เป็นเพราะคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าโอเมก้า 3 มีเฉพาะในปลาทะเล และคิดว่าปลาน้ำจืดของไทยที่เพาะเลี้ยงกันภายในประเทศอาจปนเปื้อนสารตกค้าง แต่ในความเป็นจริงจากการทำวิจัยในประเทศไทย พบว่าปลาน้ำจืดก็มีโอเมก้า 3 สูง บางประเภทสูงกว่าปลาทะเล เช่น ปลาสวายเนื้อขาว มีโอเมก้า 3 สูงถึง 2,570 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ปลาช่อนมีโอเมก้า 3 ถึง 870 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม รวมทั้งปลาทับทิมก็มีโอเมก้า 3 อยู่เช่นกัน ขณะที่ปลาแซลมอลมีโอเมก้า 3 ประมาณ 1000-1,700 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ขณะที่ ด้านการเพาะเลี้ยงนั้น ทางกรมประมงได้มีการพัฒนาโครงการรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมาตั้งแต่ปี 2546 โดยรับรองมาตรฐานขั้นปลอดภัย (safety level) และมาตรฐานการปฏิบัติทางประมงที่ดี (GAP) ซึ่งมั่นใจได้ว่าปลาน้ำจืดไทยมีคุณภาพและปลอดภัยต่อการบริโภค

นายศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ปลาน้ำจืดส่วนใหญ่ยังมีราคาต่ำกว่าปลาทะเล ในภาวะที่น้ำมันมีราคาแพง สินค้าราคาสูง จึงได้ร่วมกันรณรงค์ให้คนไทยบริโภคปลา โดยเฉพาะปลาน้ำจืดภายในประเทศ เพื่อลดการบริโภคปลานำเข้า

ทั้งนี้ สำหรับแผนการรณรงค์ในโครงการดังกล่าว จะมีการจัดกิจกรรมโรดโชว์ให้ความรู้ทางวิชาการตามโรงพยาบาลและสถานศึกษา กิจกรรมสัมมนาวิชาการร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกิจกรรมอบรมหลักสูตรระยะสั้นร่วมกับสถาบันอาหารชั้นนำ ได้แก่ โรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิต จัดอบรม และ Work Shop เมนูปลาสุขภาพ เป็นต้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย โทร. 02-6618962, 02-6731115