รมว.พม.เผยเหตุอุทกภัย ซ้ำเติมปัญหาความยากจนในประเทศไทย ชี้ชุมชนแออัดยังน่าเป็นห่วง

30 Nov 2010

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--พม.

เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ย.๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ น.ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพฯ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อรวบรวมปัจจัยและกลไกที่มีผลต่อความยากจนในประเทศไทย และการกำหนดแนวทางนโยบายการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย โดยกล่าวว่า รัฐบาล ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการสร้างหลักประกันของการดำรงชีวิต รวมทั้งมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทย ซึ่งยังเป็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ ยังไม่ดีขึ้นมากนัก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

เนื่องจากในปีนี้ ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ จากเหตุอุทกภัยทั่วประเทศ ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้น มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า ๖.๕ แสนครอบครัว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของชาวนา ชาวไร่ ที่ถูกน้ำท่วมเสียหายเป็นล้านไร่ ความเสียหายเหล่านี้ จึงล้วนเป็นตัวฉุดรายได้ของประชาชน แม้รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือ เยียวยา แล้ว แต่ก็ไม่สามารถทดแทนความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ และหากมองในระยะยาว ปัญหาเรื่องความยากจนในประเทศไทย ก็ยังเป็นปัญหาติดอันดับโลก โดยเฉพาะในชุมชนแออัด ที่มีความน่าเป็นห่วงที่สุด ในเรื่องของคุณภาพชีวิต อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาทางสังคมต่างๆ ได้ง่าย ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามเร่งแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างรายได้ และพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายอิสสระ กล่าวต่อว่า การจัดสัมมนาฯ ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรภาคีเครือข่ายในประเทศไทย ในการศึกษาและอภิปรายถึงปัจจัยและกลไกที่มีผลต่อความยากจนในประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในการลดปัญหาสังคมและความยากจนในประเทศไทย ดังเช่น องค์การแอคชั่นเอด ประเทศไทย ที่นอกจากให้การช่วยเหลือให้ความสนใจมาศึกษา และพยายามผลักดัน งบประมาณมาสนับสนุน และให้ความรู้เพื่อนำไปพัฒนาชุมชน เช่น การตั้งศูนย์ฝึกอาชีพ หรือการเลี้ยงดู บุตร แล้ว ยังสนับสนุนในด้านข้อมูล ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับรัฐบาลในการนำไปดำเนินการแก้ไขต่อไป

ซึ่งการแก้ไขนี้ อาจเป็นไปในลักษณะรัฐหางบประมาณมาดำเนินการเอง หรือการแสวงหาความร่วมมือร่วมกัน ทั้งองค์กรภาคเอกชน เอ็นจีโอ และรัฐบาล ทั้งนี้ ในการสัมมนาฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาและอภิปรายกลุ่มย่อย รวมทั้งเปิดเวทีอภิปรายยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนตามบริบทของแต่ละภูมิภาค โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ชาวบ้าน ตัวแทนชุมชน ผู้นำชุมชน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความยากจน เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ตัวแทนกลุ่มผู้หญิง องค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการ มาร่วมเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นที่แต่ละภาคส่วนมีต่อความยากจนในประเทศไทย เพื่อนำมาพิจารณาหาช่องว่างในการกำหนดแนวทางการทำงานเพื่อลดความยากจนในแต่ละภูมิภาค และวางแผนการทำงานให้สอดคล้องกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมร่วมกัน ซึ่งจะเป็นข้อเสนอแนะ และแนวทางที่ดีต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป.