พม.จับมือภาครัฐ-เอกชน เปิดเวทีเสวนา ถกแนวทางแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทย

29 Nov 2010

กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--พม.

เมื่อวันที่ ๒๙ พ.ย.๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพฯ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อรวบรวมปัจจัยและกลไกที่มีผลต่อความยากจนในประเทศไทย และการกำหนดแนวทางนโยบายการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย โดยกล่าวว่า รัฐบาล ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการสร้างหลักประกันของการดำรงชีวิต

รวมทั้งมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศไทย ซึ่งยังเป็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การจัดสัมมนาฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรภาคีเครือข่ายในประเทศไทย ในการศึกษาและอภิปรายถึงปัจจัยและกลไกที่มีผลต่อความยากจนในประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของภาครัฐในการลดปัญหาสังคมและความยากจนในประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม และมีพันธกิจหลักในการสร้างโอกาสให้ผู้ที่ประสบปัญหาทางสังคม สามารถเข้าถึงบริการด้านสวัสดิการสังคม และให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายได้รับการคุ้มครอง ปกป้อง และพัฒนา ตลอดจนมีหลักประกันในการดำรงชีวิต ยังได้ร่วมกับองค์การแอคชั่นเอด ประเทศไทย จัดทำโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชนคนจนเมืองขึ้น

โดยเริ่มที่ชุมชนแออัดบางบัว ในการส่งเสริมการศึกษาเด็กก่อน วัยเรียน เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำมาหากินของผู้ปกครอง ถือเป็นการขจัดความยากจนและความอยุติธรรม รวมทั้งผลักดันให้คนจนและคนที่ถูกกีดกันในสังคมมีสิทธิที่จะร่วมตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบต่อตัวเอง สอดคล้องกับแนวยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน

นายอิสสระ กล่าวต่อว่า การสัมมนาฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วยการนำเสนอผลการศึกษาและอภิปรายกลุ่มย่อย รวมทั้งเปิดเวทีอภิปรายยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนตามบริบทของแต่ละภูมิภาค โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องจาก ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ชาวบ้าน ตัวแทนชุมชน ผู้นำชุมชน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความยากจน เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่น ตัวแทนกลุ่มผู้หญิง องค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการ มาร่วมเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นที่แต่ละภาคส่วนมีต่อความยากจนในประเทศไทย เพื่อนำมาพิจารณาหาช่องว่างในการกำหนดแนวทางการทำงานเพื่อลดความยากจนในแต่ละภูมิภาค และวางแผนการทำงานให้สอดคล้องกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมร่วมกัน ซึ่งจะเป็นข้อเสนอแนะ และแนวทางที่ดีต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป.