TCELS ร่วมกับ มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ฯชวนร่วมกิจกรรมเนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก

14 Sep 2011

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--TCELS

เผยทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทะลุ 26 ล้านคนแล้ว มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์ฯ ร่วมกับ TCELS เชิญชวนร่วมกิจกรรมเนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก 18 ก.ย. ณ วัดปทุมวนาราม รับการบรรยายวิธีการป้องกันโรคอัลไซเมอร์จากผุ้เชี่ยวชาญ ด้าน “ศ.พญ.นันทิกา” แนะบุตรหลานควรสังเกตพ่อแม่ระวังอย่าให้เป็นโรคซึมเศร้าเพราะจะพัฒนาเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ง่าย

มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก ในวันที่ 18 กันยายน 2554 ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักและให้ความรู้เกียวกับโรคสมองเสื่อมและผู้สูงอายุ ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมด้านความกตัญญูต่อบุพการี โดยจะมีการบรรยายเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ และชวนออกกำลังสมองป้องกันโรคอัลไซเมอร์ รวมทั้งมีการทำบุญตักบาตรและร่วมรับประทานอาหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงนันทิกา ทวิชาชาติ กรรมการเลขานุการมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โดยทั่วไปเมื่ออายุมากขึ้นจะปรากฎสัญญาณความชรา ได้แก่ ผมหงอก ผิวหนังเหี่ยวย่น ผมร่วงและยังมีโรคสมองเสื่อมซึ่งเกิดจากเซลล์สมองเสื่อมหรือตายที่ชาวบ้านเรียกว่าสมองฝ่อ เป็นโรคของผู้สูงอายุ ทำให้สูญเสียความทรงจำ หากไม่ดูแลรักษาจะพัฒนาไปสู่โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเข้าขั้นรุนแรง พบได้ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยสมองเสื่อมทั้งหมด ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าคนอายุ 65 ปีขึ้นไป ป่วยด้วยความจำถดถอยรุนแรง 10 ล้านกว่าคน และกลายเป็นโรคอัลไชเมอร์ ร้อยละ 10-15 ต่อปี โดยจะพบผู้ป่วยรายใหม่สูงขึ้นเป็น 2 เท่าในทุกๆ 5 ปี ในผู้ที่อายุ 65 และ 90 ปี ล่าสุดคาดว่าทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 26 ล้านคน

ส่วนในคนไทยผลสำรวจจาก ข้อมูลที่ได้ในการคัดกรองผู้สูงอายุ ของงานคัดกรองความจำ กรุงเทพมหานครฯ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไปจำนวน 2,685 ราย พบว่า กลุ่มตัวอย่างดังกล่าว เป็นโรคสมองเสื่อม ถึงร้อยละ 31.2 และมีอาการบกพร่องทางพุทธิปัญญาในระดับน้อย ที่สามารถพัฒนากลายไปเป็นโรคสมองเสื่อมได้ถึง ร้อยละ 34 และร้อยละ 34.8 เป็นกลุ่มปกติ ยกตัวอย่างง่ายคือ ถ้าผู้สูงอายุเดินมา 10 คน ประมาณ 6 คน น่าจะมีความบกพร่องทางด้านความจำ โดยใน 3 คน เป็นโรคสมองเสื่อมแล้ว เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากคาดว่าในอนาคตซึ่งจะมีผู้สูงอายุอายุยืนยาวมากขึ้น โรคนี้ก็อาจเพิ่มจนก่อให้เกิดปัญหาด้านการดูแลรักษาก็เป็นได้ โดยเฉพาะหากยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ที่ดีพอ อาจเข้าใจว่าเป็นการหลงลืมตามวัย และเมื่อปล่อยให้เป็นอัลไซเมอร์แล้ว ก็ยากต่อการดูแลรักษา ซึ่งโดยเฉลี่ยผู้ป่วยจะเสียชีวิตอยู่ในช่วงประมาณ 8-10 ปี หลังการวินิจฉัย

ศ.พญ.นันทิกา แนะนำถึงวิธีป้องกันโรคอัลไซเมอร์ว่า ต้องดูแลผู้สูงอายุไม่ให้เกิดอาการซึมเศร้า เพราะจะสามารถพัฒนาไปสู่โรคอัลไซเมอร์ได้ และควรรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า อันได้แก่ ปลาทะเล หรืออาหารทะเลที่องค์ประกอบของดีเอชเอ ก็สามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ถึง 4 เท่า นอกจากนี้ควรเน้นออกกำลังกาย ออกกำลังสมอง มีกิจกรรมทางสังคม ผ่อนคลายลดเครียด ดูแลรักษาปัญหาโรคทางกายที่เป็นปัจจัยเสียง เช่น โรคเบาหวาน ไขมันสูง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และควรเข้ารับการคัดกรองเป็นระยะ ๆ ?

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-6445499 TCELS