ภาพข่าว: ลอรีอัล ประเทศไทย ประกาศผล 4 นักวิจัยสตรีรุ่นใหม่ ผู้ได้รับทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 9 ประจำปี 2554

08 Sep 2011

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน

ลอรีอัล ประเทศไทย ประกาศผล 4 นักวิจัยสตรีรุ่นใหม่ผู้ได้รับทุนวิจัยเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 9 ประจำปี 2554พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมยกย่องบทบาทสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์

บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรายชื่อ 4 นักวิจัยสตรีรุ่นใหม่ของวงการวิทยาศาสตร์ไทย ผู้ได้รับทุนโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ครั้งที่ 9 ประจำปี 2554 ซึ่งนับเป็นปีที่ 13 ของโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ในระดับสากล โดยในงานพิธีมอบทุนวิจัยในปีนี้ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร. อาดา โยนาธ นักวิจัยสตรีชาวอิสราเอล เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2552 จากผลงานวิจัย “การศึกษาโครงสร้างและฟังก์ชั่นของไรโบโซม” และเจ้าของรางวัล L’Or?al-UNESCO Award For Women in Science ประจำปี 2551 เป็นประธานในงานพิธีมอบทุนวิจัยอันทรงคุณค่า ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ มิลเลนเนี่ยม

ปัจจุบัน ลอรีอัล ประเทศไทย ได้ดำเนินการมอบทุนให้กับนักวิจัยสตรีไทยที่มีผลงานวิจัยโดดเด่น ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) และสาขาวัสดุศาสตร์ (Material Science) มาแล้วถึง 35 คน

โดยปีล่าสุดนี้ คณะกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านสายงานวิทยาศาสตร์ระดับประเทศของโครงการฯ ได้ทำการคัดเลือกและมอบทุนวิจัยให้แก่ “4 นักวิจัยสตรีรุ่นใหม่” ที่มีโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เป็นเลิศ โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากคุณค่าของงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นกับสังคม กระบวนการวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของโครงการ จริยธรรมในการทำงานของนักวิจัย และการเป็นที่ยอมรับในวงการนักวิจัย

โดยนักวิจัยสตรีผู้ที่ได้รับทุนใน สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) ได้แก่ ดร. พญ. ณฐินี จินาวัฒน์ จากสำนักงานวิจัย วิชาการและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานวิจัยในหัวข้อ “การศึกษาความเกี่ยวข้องของปริมาณสารพันธุกรรม ดีเอ็นเอ (DNA) บนโครโมโซมกับโรคทางพันธุกรรมโดยใช้ Genome-wide SNP array” และ ดร. แสงจันทร์ เสนาปิน จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กับผลงานวิจัยในหัวข้อ “การศึกษาชีววิทยาโมเลกุลของกุ้งด้วยเทคนิคยีสต์ทูไฮบริด”

สาขาวัสดุศาสตร์ (Material Science) สองนักวิจัยสตรีผู้ที่ได้รับทุนวิจัยในสาขานี้ ได้แก่ ผศ. ดร. หทัยกานต์ มนัสปิยะ จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัยในหัวข้อ “การพัฒนาวัสดุรูพรุนเพื่อการดักจับโลหะหนักหรือดักจับก๊าซในบรรจุภัณฑ์เพื่อการพัฒนาคุณภาพน้ำและอาหาร และการสังเคราะห์ดินเหนียวนาโนแบบรูพรุนดัดแปรด้วยโครโมฟอร์เพื่อการเตรียมฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่มีความสามารถดูดจับก๊าซเอธิลีนและเป็นตัวตรวจวัดทางแสง” และ ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย จาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กับผลงานวิจัยในหัวข้อ“การพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บกักชนิดไขมันเพื่อใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมยา อาหารและการเกษตร”

ดร. พญ. ณฐินี จินาวัฒน์ จากสำนักงานวิจัย วิชาการและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับทุนวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เปิดเผยว่า “มีความสนใจในโรคทางพันธุกรรมเป็นพิเศษ โดยเน้นศึกษาสาเหตุของผู้ป่วยที่มีพัฒนาการและระดับสติปัญญาบกพร่อง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนถึงร้อยละ 3 ของประชากรโลก โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่มีความผิดปกติอื่นๆ ที่เข้ากับกลุ่มอาการใดๆ จึงทำให้แพทย์ไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องได้ ส่งผลให้การดูแลรักษารวมถึงการให้คำปรึกษาทางพันธุกรรมเพื่อลดโอกาสเกิดผู้ป่วยใหม่ในครอบครัวทำได้ยาก ซึ่งหากเราสามารถพัฒนางานวิจัยในด้านนี้อย่างต่อเนื่องและชัดเจนก็จะสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคซ้ำในครอบครัวผู้ป่วยได้ ซึ่งจะช่วยป้องกันการสูญเสียในระยะยาวของครอบครัวและสังคมโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญในทำงาน คือ คุณแม่ (รศ.ดร. สุพัตรา จินาวัฒน์ ศาสตราภิชาน จากภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งท่านเป็นทั้งอาจารย์และนักวิจัยที่ทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และสอนให้รู้ว่านักวิจัยที่ดีต้องหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ เพราะโลกของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”

ดร. แสงจันทร์ เสนาปิน จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ผู้ได้รับทุนวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เปิดเผยว่า “ ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากงานวิจัยในครั้งนี้จะเป็นฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาต่อยอดไปสู่กลยุทธ์ในการกำจัดหรือยับยั้งไวรัส เพื่อลดความสูญเสียจากปัญหาการเกิดโรคระบาดในกุ้ง อีกทั้งน่าจะใช้เป็นโมเดลศึกษาโรคไวรัสในสัตว์น้ำชนิดอื่นได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเลี้ยงกุ้ง และส่งผลดีต่อภาคธุรกิจการเลี้ยงสัตว์น้ำโดยรวมของประเทศต่อไป ในฐานะนักวิทยาศาสตร์อยากเห็นคนไทยเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพิงต่างชาติ ซึ่งสำหรับตนแล้วผู้ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ต้นแบบ คือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระองค์ทรงทำงานอุทิศตนเพื่อ พสกนิกรและประเทศไทย และทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่รอบรู้ ช่างสังเกต จนนำไปสู่สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หรือแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพสกนิกรของพระองค์ อย่างทรงไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย”

ผศ. ดร. หทัยกานต์ มนัสปิยะ จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ได้รับทุนวิจัยในสาขาวัสดุศาสตร์ เปิดเผยว่า “งานวิจัยที่ทำเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติในประเทศ อย่างแร่ดินเหนียวปรับโครงสร้างให้มีรูพรุน มาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสามารถนำประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมพลาสติกช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนาผลิตพลาสติกบรรจุภัณฑ์แอกทีฟ (Active Packaging) และบรรจุภัณฑ์ฉลาด (Smart Packaging) ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่มีการส่งออกผลไม้ไทยไปทั่วโลก มากกว่า 11,600 ล้านบาท ในปีนี้ ซึ่งผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยนี้จะเป็นต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยยืดอายุของการส่งออกผักผลไม้ เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ผู้ผลิตและผู้ส่งออก พ่อค้า คนกลาง และผู้บริโภคสามารถเก็บสินค้าไว้ได้นานขึ้นได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง สดใหม่ โดยส่วนตัว ตนอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมแห่งเหตุและผล มีกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มารองรับ วิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับชีวิตทุกคนหากเกิดปัญหาควรมีการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยแก้ปัญหา เพราะถ้าคิดเป็นวิทยาศาสตร์จะรู้ว่าปัญหานั้นมาจากส่วนไหน มีการแก้ไขปัญหากันที่ต้นเหตุไม่ใช่ปลายเหตุอีกต่อไป”

ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ผู้ได้รับทุนวิจัยในสาขาวัสดุศาสตร์ เปิดเผยว่า “งานวิจัยเน้นการศึกษาวิธีออกแบบการเก็บกักสารต่างๆ (encapsulation) ในรูปแบบอนุภาคนาโน เพื่อให้มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ เช่น กำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการปลดปล่อยสารที่อยู่ภายในได้ (control release) หรือเพิ่มความคงตัวของสารต่างๆ เช่น ทนต่อความร้อน ความชื้นและแสงได้ ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น ด้านยา สารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย การเก็บกักสารและออกแบบการปลดปล่อยได้ก็จะทำให้ได้อนุภาคนาโนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง นอกจากนี้การวิจัยจะเน้นการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่และเหมาะสำหรับประเทศไทย เช่น สมุนไพรไทย น้ำมันหอมระเหย โปรตีน ตัวอย่างผลงานวิจัย เช่น ครีมและแผ่นแปะพริกเพื่อใช้ในผู้ป่วยโรคข้อ นาโนอิมัลชันเพื่อไล่ยุง อนุภาคนาโนจากกากไขอ้อย ซึ่งสามารถนำไปใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตลอดจนอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ในอนาคตตนตั้งใจอยากจะเป็นนักวิจัยที่ผลิตผลงานวิจัยที่มีประโยชน์และมีการนำไปใช้ได้จริงในระดับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าอาชีพนักวิจัยและผลงานที่ทำจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิจัย รุ่นน้องๆ รวมถึงเด็กรุ่นใหม่ๆ ให้หันมาเลือกเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น รวมถึงมีความตั้งใจที่อยากจะทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น เช่น การเป็นวิทยากรบรรยายเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ เยาวชน”

มร. ฌอง ฟรองซัวส์ คูเว่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงโครงการ ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ในปีที่ 9 ว่า “ลอรีอัล ประเทศไทย ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 และได้มอบทุนให้กับนักวิจัยสตรีไทยไปแล้ว 35 คน ซึ่งในระดับสากล โครงการทุนวิจัยลอรีอัล-ยูเนสโก “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 โดยมีนักวิจัยสตรีที่ได้รับการเชิดชูเกียรติแล้ว 1,086 คน ใน 103 ประเทศ 5 ทวีปทั่วโลก เรามีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการยกย่องบทบาทของสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ให้โลกได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้ ถือว่ามีความพิเศษมากเพราะเราได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. อาดา โยนาธ นักวิจัยสตรีชาวอิสราเอล ผู้ได้รับรางวัล L’Or?al-UNESCO Award For Women in Science ประจำปี 2551 จากผลงานวิจัย “การศึกษาโครงสร้างและฟังก์ชั่นของไรโบโซม (For Studies of The Structure and Function of The Ribosome)” ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกจนได้รับรางวัลโนเบลอันทรงเกียรติ สาขาเคมี ในปี 2552 มาเป็นประธานในพิธีมอบทุนวิจัยให้กับนักวิจัยสตรีของไทยทั้งสี่ท่านในปีนี้ และในปีนี้เอง ยังมีความพิเศษเพราะเป็นปีแห่งการยกย่องบทบาทสตรีในวงการวิทยาศาสตร์ในวาระครบรอบ 100 ปี การได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ของมาดาม มารี กูรี นักวิจัยหญิงชาวโปแลนด์ นอกจากนี้องค์การยูเนสโกยังได้ประกาศให้ปีนี้เป็น “ปีเคมีสากล” (The International Year of Chemistry) อีกด้วย”

“ลอรีอัล เป็นบริษัทความงามอันดับหนึ่งของโลก ที่ก่อตั้งขึ้นโดย มร. ยูชีน ชูแลร์ ซึ่งเป็นนักเคมีเช่นเดียวกัน มร. ชูแลร์ เป็นผู้ที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในการค้นคว้าและวิจัย โดยเชื่อว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกุญแจดอกสำคัญไปสู่คุณภาพชีวิตที่สมดุล สมบูรณ์ และงดงามยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นจุดกำเนิดแห่งวิทยาการทางด้านความงาม ที่ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ความงามที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทำให้ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งศตวรรษที่ก่อตั้ง ลอรีอัลจึงให้ความสำคัญกับการค้นคว้าและวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง โดย ลอรีอัลได้ทุ่มงบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อสนับสนุนการศึกษาและทดลองของนักวิจัยกว่า 3,400 คนจาก 60 เชื้อชาติ ที่ทำงานที่ศูนย์วิจัยและศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ของลอรีอัล 18 แห่งทั่วโลก เราหวังว่านักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนจากโครงการของเราจะมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น และเชื่อว่าเรื่องราวของพวกเธอจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยคนอื่นๆ รวมถึงเยาวชนไทยให้หันมาสนใจงานวิทยาศาสตร์มากขึ้น” มร. ฌอง ฟรองซัวส์ คูเว่ กล่าวทิ้งท้าย

โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ในปี 2545 ด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในการมอบทุนวิจัยทุนละ 200,000 บาท จำนวน 4 ทุน สำหรับสาขาวัสดุศาสตร์ (Material Science) จำนวน 2 ทุน และสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Science) จำนวน 2 ทุน สำหรับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปีเป็นประจำทุกปี

สี่นักวิจัยสตรีรุ่นใหม่ผู้ได้รับทุน โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ครั้งที่ 9 ประจำปี 2554 (จากซ้ายไปขวา) สาขาวัสดุศาสตร์ ได้แก่ ผศ. ดร. หทัยกานต์ มนัสปิยะ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่ ดร. พญ. ณฐินี จินาวัฒน์ จากสำนักงานวิจัย วิชาการและนวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร. แสงจันทร์ เสนาปิน จากหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศเทคโนโลยีชีวภาพกุ้ง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

คุณพรรวี สุรมูล

บริษัท ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์

โทรศัพท์ 02 627-3501 ต่อ 110

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net