ผู้แทนประเทศไทย คว้า 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง จากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก

25 Jul 2011

กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--สสวท.

รายงานข่าวด่วน ไทยคว้าอันดับ 5 ของโลก ได้ 3 ทอง 2 เงิน 1 ทองแดง จากคณิตศาสตร์โอลิมปิก กลับถึงไทยวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 54 เที่ยวบิน TG 925 เวลา 13.40 น.

นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ผู้แทนประเทศไทย คว้า 3 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง จากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก เมื่อวันที่ 12-24 กรกฎาคม 2554 ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประกอบด้วย

เหรียญทอง

นายนิปุณ ปิติมานะอารี โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน

กรุงเทพมหานคร (อันดับที่ 6)

นายธนาตย์ คุรุธัช โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

กรุงเทพมหานคร (อันดับที่ 25)

นายวิจิต ยังจิตร โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

จ.นครปฐม (อันดับที่ 25)

เหรียญเงิน

นายนิพิฐ เจริญงาม โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

กรุงเทพมหานคร (อันดับที่ 66)

นายภควุฒิ จิรดิลก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

กรุงเทพมหานคร (อันดับที่ 83)

เหรียญทองแดง

นายธีรวัจน์ พุทธิศักดิ์แสง โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน

กรุงเทพมหานคร (อันดับที่ 186)

การแข่งขันครั้งนี้คะแนนรวมของประเทศไทยได้ 160 คะแนน จัดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดย ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันรวมทั้งหมด 101 ประเทศ และมีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 564 คน

ทั้งนี้คณะผู้แทนประเทศไทยวิชาดังกล่าวจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม 2554 เที่ยวบิน TG 925 เวลา 13.40 น. โดย สสวท. จะจัดพิธีรับ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ชั้น 2 ด้านในประตูที่ 1 ตรงซุ้มการบินไทย

โครงการโอลิมปิกวิชาการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กไทย

นายนิปุณ ปิติมานะอารี (ดิสนีย์) ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยก่อนนี้ได้คว้าเหรียญเงิน คณิตศาสตร์โอลิมปิก พ.ศ. 2552 ในการแข่งขันที่เยอรมัน และเหรียญทองคณิตศาสตร์โอลิมปิก พ.ศ. 2553 แข่งขัน ณ ประเทศคาซัคสถาน

โครงการโอลิมปิกวิชาการช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กไทยโดยเฉพาะเด็กที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์อยู่มาก โดยเฉพาะในแง่ของการสร้างแรงบันดาลใจ ตัวผมเองเคยเข้าร่วมโครงการอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์ของ สสวท. เมื่อ ป. 3 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น ที่เป็นแรงกระตุ้นให้ผมมาถึงทุกวันนี้ และโครงการโอลิมปิกวิชาการก็ได้ช่วยต่อยอด จัดการอบรมเสริมศักยภาพให้เด็กไทยได้เก่งขึ้น รวมทั้งตัวผมด้วย

อนาคตจะรับทุนโอลิมปิกวิชาการไปศึกษาต่อด้านคณิตศาสตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และอยากทำงานที่ได้ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา

การตั้งใจเรียนเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ ..จะตั้งใจเรียนได้นั้น ต้องเริ่มจากใจรักก่อนนายธนาตย์ คุรุธัช (ม็อด) ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยเมื่อปี 2552 ได้เหรียญเงินคณิตศาสตร์โอลิมปิกจากเยอรมันปีที่แล้วไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกที่คาซัคสถาน ได้เหรียญเงิน แม้ว่าโครงการนี้อาจไม่สามารถเปิดโอกาสให้เยาวชนทุกคนได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขัน แต่โครงการนี้ได้ช่วยพัฒนาเด็กไทยจำนวนมากที่มีศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมวิชาการในค่ายโอลิมปิก และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนผู้มีความสนใจและมีใจรักวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

ธนาตย์ได้เข้าร่วมโครงการโอลิมปิกวิชาการ ผ่านทางมูลนิธิ สอวน. ตั้งแต่ชั้น ม. 1 ในวิชาคณิตศาสตร์ และเข้าค่ายเรื่อยมาจนกระทั่งได้เป็นผู้แทนประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะได้รับคัดเลือกให้ไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกให้ได้เป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผมมีความมานะมุ่งมั่นจนมาถึงเส้นชัย อย่างไรก็ตามสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยที่ทำให้มีวันนี้ได้คือแรงบันดาลใจและกำลังใจจากคุณพ่อคุณแม่ “การตั้งใจเรียนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ แต่การที่เราจะตั้งใจเรียนได้นั้น ต้องเริ่มจากใจรัก เราจะต้องรักในการเรียน มองหาเสน่ห์ของวิชานั้น ๆ หากรู้สึกเหนื่อยหรือเครียด อาจจะพักผ่อน ฟังเพลง เล่นกีฬาเพื่อลดความเครียด หากเรียนไม่เข้าใจ เราจะต้องกล้าถามอาจารย์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ หรือหากเครียด ไม่เข้าใจจริง ๆ ก็กลับไปอ่านเรื่องนั้นมากๆจนเข้าใจ” ...ผมรับทุนโอลิมปิกวิชาการไปเรียนต่อคณิตศาสตร์ที่ต่างประเทศ ตั้งใจจะกลับมาเป็นอาจารย์ และทำงานวิจัย เพื่อช่วยพัฒนาชาติไทยครับ

การค้นหาตนเองให้พบจะทำให้เรามีเป้าหมายและไม่เครียด

นายวิจิต ยังจิตร (วิว) เป็นผู้แทนประเทศไทยคณิตศาสตร์โอลิมปิกสองปีซ้อน โดยปีที่แล้วได้เหรียญเงินจากการแข่งขันที่คาซัคสถาน เล่าว่า ชอบวิชาคณิตศาสตร์มาตั้งแต่ชั้นประถม เมื่อขึ้นมัธยมเห็นเพื่อน ๆ สมัครเข้าโครงการโอลิมปิกวิชาการของทูลนิธิ สอวน. จึงเห็นว่าน่าสนใจ เพราะเราสนใจด้านนี้อยู่แล้ว และอยากรู้ว่าตนเองมีความสามารถถึงระดับใด จึงเข้าร่วมโครงการ พอได้เรียนรู้จากอาจารย์ที่มาให้การอบรมในค่าย จึงได้รู้ว่าคณิตศาสตร์ยังมีอีกหลายสิ่งที่น่าสนใจ

ก่อนอื่นเราต้องค้นหาตัวเองให้เจอก่อนว่าชอบ ถนัด หรือเหมาะกับการเรียนด้านใด และหาแรงบันดาลใจให้เจอ จะทำให้เรามีเป้าหมาย และไม่เครียด อยากให้คุณครูสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่สอนให้จำอย่างเดียวโดยไม่ทราบที่มา ควรสอนโดยยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ และอาจมีมุกต่างๆ สอดแทรก และให้เด็กฝึกคิกด้วยตัวเอง

สนามแข่งขันโอลิมปิกวิชาการเป็นเวทีให้เด็กรักวิทย์ คณิตได้ประเมินศักยภาพและพัฒนาตนเอง

นายนิพิฐ เจริญงาม (เชน) เป็นเวทีโอลิมปิกวิชาการครั้งแรกที่ได้ลงแข่งขัน กล่าวว่า โครงการนี้ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในแง่ของการช่วยห้มีสนามแข่งขันทางวิชาการ ทำให้เด็กที่สนใจวิทยาศาสตร์มีเวทีทดสอบและประเมินตนเองจากผลการสอบได้ ทำให้รู้ว่าตนเองนั้นอยู่ในระดับใด และมีความรู้อะไรที่ควรรู้อีก ทั้งยังเป็นโอกาสให้นักเรียนที่สนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ ได้เข้าค่ายสะสมความรู้นอกเหนือจากในห้องเรียน สำหรับนักเรียนที่รับทุนโอลิมปิกฯ ในอนาคตก็จะกลับมาช่วยพัฒนากรเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ได้ เช่น เขียนตำรา และนำและปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับสากล

อยากให้คุณครูสอนวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องใกล้ตัว โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ ปรากฏการณ์จริง หรือภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้วิทยาศาสตร์อธิบายได้ มีโจทย์ปัญหาท้าทายให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา พานักเรียนไปศึกษานอกสถานที่ เช่น พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้เห็นแง่มุมที่กว้างขึ้นของวิทยาศาสตร์

ความรักความอบอุ่นในครอบครัว ผลักดันสู่การพัฒนาศักยภาพระดับสูงและถ่ายทอดสู่เพื่อน

นายภควุฒิ จิรดิลก (โปร) ผู้แทนประเทศไทยคณิตศาสตร์โอลิมปิก 3 ปีซ้อน ก่อนหน้านี้เคยได้เหรียญเงิน คณิตศาสตร์โอลิมปิก พ.ศ. 2552 จากการแข่งขันที่เยอรมัน เหรียญเงินคณิตศาสตร์โอลิมปิก พ.ศ. 2553 แข่งขัน ณ ประเทศคาซัคสถาน

โปรชอบคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก และพยายามพัฒนาตนเองมาเรื่อย ๆ เมื่อรู้ว่ามีโครงการโอลิมปิกจึงพยายามฝึกฝนตนเอง และก่อนหน้านี้เคยเข้าค่ายคณิตศาสตร์ของโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ฯ ของ สสวท. และได้พบกับรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร้๗ จึงเกิดแรงกระตุ้นให้ต้องการพัฒนาไปในทิศทางนี้บ้าง

โปรเติบโตมาในครอบครัวที่พร้อมจะรับฟังและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน โดยเล่าว่า “ทุกครั้งที่เครียดกับสภาพสังคมที่แข่งขันสูงเกินไป จะมีใครอีก ? นอกจากครอบครัวที่จะช่วยปลอบโยนหัวใจที่เจ็บช้ำของเราได้ พ่อแม่ของผมรับฟังปัญหาที่ไม่จำกัดได้เสมอ และท่านก็จะให้คำแนะนำที่ดีอยู่เสมอ พี่ๆ ของผมทั้งสามคนก็คอยสนับสนุนทั้งเบื้องหน้าบ้างเบื้องหลังบ้าง ครอบครัวผมจึงมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จอย่างมาก รักพ่อแม่สุดหัวใจครับ

นอกเหนือจากเวลาที่ทุ่มเทไปกับการพัฒนาตนเองอยู่เสมอแล้ว หนุ่มน้อยคนนี้ยังได้ช่วยติวหรืออธิบายเนื้อหาบทเรียนให้เพื่อนๆ ด้วยด้วยความรู้สึกดี โดยกล่าวว่า “การที่เราลำบากเพียงเล็กน้อย เพื่อช่วยเหลือเพื่อนที่มีปัญหาทางการเรียนซึ่งเขามองว่าเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่มากของเขา ทำให้เพื่อนรู้สึกมีความสุขและสบายใจ การที่เพื่อนรู้สึกขอบคุณที่เราช่วยเหลือ ช่วยถ่ายทอดความรู้ และเราพยายามที่จะถ่ายทอดความรู้เต็มที่ ทำให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปัน ทำให้เกิดความอบอุ่นใจครับ”

ส่วนนายธีรวัจน์ พุทธิศักดิ์แสง นั้นเมื่อเรียนชั้นประถมศึกษา เคยได้เหรียญทองจากโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์ สสวท. ปี 2548 หลังจากนั้น ได้เหรียญทองจากการแข่งขันคณิตศาสตร์ มูลนิธิ สอวน. ปี 2549 และได้คะแนนสูงสุดจากการแข่งขันคณิตศาสตร์ มูลนิธิสอวน. ที่โรงเรียนเตรียมทหาร จังหวัดนครนายก และเล่นกีฬาเป็นงานอดิเรก ความสามารถพิเศษคือการคำนวณทางคณิตศาสตร์

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net